คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9528/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 14 ให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้ในคดีล้มละลายได้ ก็ต่อเมื่อ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 และข้อกำหนดคดีล้มละลาย มิได้บัญญัติหรือกำหนดไว้โดยเฉพาะและนำมาใช้โดยอนุโลมตามสภาพลักษณะของคดีล้มละลายที่ให้พิจารณาเป็นการด่วน
การทราบนัดหรือกระบวนพิจารณาของแต่ละนัด พ.ร.บ. จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 15 บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้วจึงไม่นำ ป.วิ.พ. มาตรา 140 (3) มาใช้บังคับ
ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 15 บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับมาตรา 90/11 แห่ง พ.ร.บ. ล้มละลาย พุทธศักราช 2483 ให้ศาลล้มละลายดำเนินการนั่งพิจารณาคดีติดต่อกันไปโดยไม่เลื่อนคดีจนกว่าจะเสร็จการพิจารณา เว้นแต่เหตุจำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงเสียได้และเมื่อเสร็จการพิจารณาคดีให้ศาลล้มละลายรีบทำคำพิพากษาหรือคำสั่งโดยเร็ว ในกรณีที่คู่ความไม่มาศาลในนัดใดไม่ว่าจะได้รับอนุญาตจากศาลหรือไม่ให้ถือว่าคู่ความนั้นได้ทราบกระบวนพิจารณาของศาลในนัดนั้นแล้ว” ดังนั้น ในวันนัดสืบพยานโจทก์ซึ่งศาลล้มละลายสั่งงดสืบพยานจำเลยและนัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษา แม้ฝ่ายจำเลยไม่มาศาลก็ต้องถือว่าจำเลยได้ทราบคำสั่งศาลล้มละลายดังกล่าวแล้ว ศาลล้มละลายกลางจึงอ่านคำสั่งหรือคำพิพากษาไปได้โดยไม่จำต้องแจ้งวันนัดให้จำเลยทราบอีก
คำสั่งศาลล้มละลายที่ให้งดสืบพยานจำเลยเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 (2) ประกอบด้วย พ.ร.บ. จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 14 จำเลยชอบที่จะอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวได้ภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันที่ศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดี ในคดีนี้จำเลยมิได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวหรือคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด แต่จำเลยมากล่าวอ้างเหตุดังกล่าวในคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่และให้สืบพยานจำเลยจึงเป็นการล่วงเลยขั้นตอนแล้ว กรณีจึงถือว่าเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล้มละลายจึงต้องห้ามมิให้จำเลยอุทธรณ์และฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และ 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย พ.ร.บ. จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 14

ย่อยาว

จำเลยยื่นคำร้อง ขอให้พิจารณาคดีใหม่และสืบพยานจำเลย
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งว่า กรณีไม่มีเหตุตามกฎหมายที่จะยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ ให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้วมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ในวันนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 2 พฤษภาคม 2543 ศาลล้มละลายกลางสั่งงดสืบพยานจำเลยและให้นัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษาในวันที่ 12 พฤษภาคม 2543 เวลา 13 นาฬิกา โดยไม่มีการแจ้งให้จำเลยทราบวันนัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษาเป็นการไม่ชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 140 (3) หรือไม่นั้น เห็นว่า มาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 บัญญัติว่า “นอกจากที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. นี้ กระบวนพิจารณาในศาลล้มละลายให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย และข้อกำหนดตามมาตรา 19 ในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติและข้อกำหนดดังกล่าว ให้นำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาใช้บังคับโดยอนุโลม” เช่นนี้การที่จะนำ ป.วิ.พ. มาใช้ในคดีล้มละลายได้ ก็ต่อเมื่อ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 และข้อกำหนดคดีล้มละลาย มิได้บัญญัติหรือกำหนดไว้โดยเฉพาะและนำมาใช้โดยอนุโลมตามสภาพลักษณะของคดีล้มละลายที่ให้พิจารณาเป็นการด่วน เกี่ยวกับการทราบนัดหรือกระบวนพิจารณาของแต่ละนัด พ.ร.บ. จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 15 บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว จึงไม่นำ ป.วิ.พ. มาใช้บังคับ และตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 15 บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับมาตรา 90/11 แห่ง พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ให้ศาลล้มละลายดำเนินการนั่งพิจารณาคดีติดต่อกันไปโดยไม่เลื่อนคดีจนกว่าจะเสร็จการพิจารณา เว้นแต่มีเหตุจำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงเสียได้และเมื่อเสร็จการพิจารณาคดี ให้ศาลล้มละลายรีบทำคำพิพากษาหรือคำสั่งโดยเร็ว
ในกรณีที่คู่ความไม่มาศาลนัดใดไม่ว่าจะได้รับอนุญาตจากศาลหรือไม่ ให้ถือว่าคู่ความนั้นได้ทราบกระบวนพิจารณาของศาลในนัดนั้นแล้ว” ดังนั้น ในวันนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 2 พฤษภาคม 2543 ซึ่งศาลล้มละลายกลางสั่งงดสืบพยานจำเลยและนัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษาในวันที่ 12 พฤษภาคม 2543 เวลา 13 นาฬิกา แม้ฝ่ายจำเลยไม่มาศาลก็ต้องถือว่าจำเลยได้ทราบคำสั่งศาลล้มละลายกลางดังกล่าวแล้ว ดังนี้ ในวันนัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษา ศาลล้มละลายกลางจึงอ่านคำสั่งหรือคำพิพากษาไปได้โดยไม่จำต้องแจ้งวันนัดให้จำเลยทราบอีก
ที่จำเลยฎีกาเกี่ยวกับคำสั่งศาลล้มละลายกลางที่ให้งดสืบพยาน คำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 (2) ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 14 จำเลยชอบที่จะอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวได้ภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันที่ศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีในคดีนี้จำเลยมิได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวหรือคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแต่จำเลยมากล่าวอ้างเหตุดังกล่าวในคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่และให้สืบพยานจำเลยจึงเป็นการล่วงเลยขั้นตอนแล้ว กรณีจึงถือว่าเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล้มละลายกลาง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์และฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และ 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย พ.ร.บ. จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 14
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share