คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9526/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การอนุมัติให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางภายในจังหวัดอุบลราชธานีเพิ่มจำนวนรถและจำนวนเที่ยวการเดินรถ เป็นการพิจารณากำหนด (ปรับปรุง) เงื่อนไขการเดินรถตามที่นายทะเบียนจังหวัดอุบลราชธานีเสนอโดยได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการควบคุมการขนส่งประจำจังหวัดอุบลราชธานี อันเข้าลักษณะเป็นการออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง ตาม พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 31 (1) และ (11) หาใช่การพิจารณากำหนดเส้นทาง จำนวนผู้ประกอบการขนส่งและจำนวนรถสำหรับการขนส่งประจำทางตาม มาตรา 20 (1) อันจะต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางอีกชั้นหนึ่ง การอนุมัติให้จำเลยที่ 1 เพิ่มจำนวนรถและจำนวนเที่ยวการเดินรถ จึงมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 21 ตุลาคม 2547 ซึ่งเป็นวันที่นายทะเบียนกำหนด (ปรับปรุง) เงื่อนไขการเดินรถดังกล่าว เมื่อจำนวนรถและจำนวนเที่ยวการเดินรถดังกล่าวไม่เกินกว่าจำนวนที่โจทก์กล่าวอ้างตามฟ้องว่าเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ถือได้ว่าจำเลยทั้งสี่หยุดการกระทำที่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ตั้งแต่วันที่ 21 ตุลาคม 2547 และเมื่อไม่มีประเด็นพิพาทเกี่ยวกับจำนวนเงินค่าเสียหายและค่าฤชาธรรมเนียมซึ่งจำเลยที่ 4 นำมาวางชำระจนถึงวันที่ 21 ตุลาคม 2547 ว่าไม่ครบถ้วนตามสัญญาแล้ว โจทก์ย่อมไม่สามารถบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยทั้งสี่ได้อีก

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลฎีกาพิพากษาห้ามจำเลยทั้งสี่จัดให้จำเลยที่ 1 เดินรถโดยสารในเส้นทางหมวด 4 สาย 1460 ระหว่างอำเภอเมืองอุบลราชธานีถึงมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เกินจำนวนเที่ยวและเกินจำนวนคันตามที่ระบุไว้ในตารางการเดินรถที่ได้รับอนุญาต กับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์วันละ 500 บาท นับแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2544 จนกว่าจะหยุดทำละเมิด และให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 6,000 บาท หลังจากนั้นโจทก์ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 9901 ตำบลวารินชำราบ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี กับที่ดินโฉนดเลขที่ 93429 และ 93430 ตำบลขามใหญ่ อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี ของจำเลยที่ 4 เพื่อบังคับชำระหนี้ค่าเสียหายดังกล่าว
จำเลยที่ 1 และที่ 4 ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการบังคับคดี หมายบังคับคดีตลอดจนการยึดที่ดินของจำเลยที่ 4 ทั้งสามแปลงดังกล่าว
โจทก์ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีลงวันที่ 10 สิงหาคม 2555 และการยึดทรัพย์ที่ดินของจำเลยที่ 4 ตลอดจนการบังคับคดีที่ได้กระทำไปจากการดำเนินการของเจ้าพนักงานบังคับคดีดังกล่าว ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์ฟ้องกล่าวอ้างว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งได้รับอนุญาตให้ประกอบการขนส่งระหว่างอำเภอเมืองอุบลราชธานีถึงมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มีสิทธิเดินรถวันละ 8 ถึง 12 คัน หรือ 24 ถึง 36 เที่ยว แต่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 กรรมการของจำเลยที่ 1 จัดให้จำเลยที่ 1 นำรถโดยสารรับส่งผู้โดยสารเกินกว่าจำนวนเที่ยวและจำนวนรถ ทำให้โจทก์ซึ่งได้รับอนุญาตให้ประกอบการขนส่งประจำทางหมวด 1 สาย 1 บ้านธาตุ อำเภอวารินชำราบ ถึงสามแยกทางเข้าหมู่บ้านหนองแก อำเภอเมืองอุบลราชธานี ที่มีเส้นทางทับซ้อนกันบางส่วนต้องขาดรายได้ไม่ต่ำกว่าวันละ 5,000 บาท ขอให้มีคำสั่งห้ามมิให้จำเลยทั้งสี่จัดให้จำเลยที่ 1 เดินรถในเส้นทางสายหมวด 4 สาย 1460 ระหว่างอำเภอเมืองอุบลราชธานีถึงมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เกินกว่าจำนวนเที่ยวและเกินกว่าจำนวนคันที่ได้รับอนุญาต และให้ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์วันละ 5,000 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจะหยุดทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธความรับผิด ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาห้ามมิให้จำเลยทั้งสี่จัดให้จำเลยที่ 1 เดินรถโดยสารในเส้นทางสายหมวด 4 สาย 1460 ระหว่างอำเภอเมืองอุบลราชธานีถึงมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เกินจำนวนเที่ยวและเกินจำนวนคันตามที่ระบุไว้ในตารางการเดินรถที่ได้รับอนุญาต กับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์วันละ 200 บาท ตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2544 จนกว่าจะหยุดทำละเมิด ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ศาลฎีกาพิพากษากลับให้บังคับคดีตามศาลชั้นต้น แต่ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์วันละ 500 บาท นับแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2544 จนกว่าจะหยุดทำละเมิด ต่อมาวันที่ 21 ตุลาคม 2547 จำเลยที่ 1 ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกประจำจังหวัดอุบลราชธานี ให้เพิ่มจำนวนรถจาก 12 คัน เป็น 33 คัน และเพิ่มเที่ยวการเดินรถจาก 36 ถึง 42 เที่ยว เป็น 120 ถึง 142 เที่ยวต่อวัน และนายทะเบียนประจำจังหวัดอุบลราชธานีได้กำหนด (ปรับปรุง) เงื่อนไขเกี่ยวกับจำนวนรถและเที่ยวการเดินรถตามมติดังกล่าว ตามรายงานการประชุม และสำเนาใบอนุญาต ครั้นวันที่ 12 กรกฎาคม 2555 และวันที่ 22 ตุลาคม 2555 จำเลยที่ 4 นำเงินค่าเสียหายที่ต้องชำระตามคำพิพากษาศาลฎีกาพร้อมค่าฤชาธรรมเนียมรวม 561,505 บาท ไปวางชำระต่อศาลชั้นต้น วันที่ 10 สิงหาคม 2555 โจทก์ขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดี และนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 9901 ตำบลวารินชำราบ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี กับที่ดินโฉนดเลขที่ 93429 และ 93430 ตำบลขามใหญ่ อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี ของจำเลยที่ 4 เพื่อบังคับเอาชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลฎีกา จำเลยที่ 1 และที่ 4 จึงร้องขอให้เพิกถอนการบังคับคดีอ้างว่า จำเลยทั้งสี่หยุดทำละเมิดตั้งแต่วันที่คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกประจำจังหวัดอุบลราชธานีลงมติอนุมัติให้เพิ่มจำนวนรถกับจำนวนเที่ยวการเดินรถ และได้ชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาครบถ้วนแล้ว แต่โจทก์คัดค้านว่ามติคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกประจำจังหวัดอุบลราชธานี ยังไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย จำเลยทั้งสี่ยังคงทำละเมิดอยู่จนปัจจุบัน คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสี่ยังกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ในข้อนี้ โจทก์มิได้ปฏิเสธโต้เถียงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจำนวนเงินที่จำเลยทั้งสี่นำไปวางชำระต่อศาลชั้นต้นว่าไม่ครบถ้วนหรือไม่ถูกต้อง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังเป็นยุติว่าจำเลยทั้งสี่นำเงินไปวางชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาจนถึงวันที่ 21 ตุลาคม 2547 โดยถูกต้องครบถ้วน คงมีปัญหาโต้เถียงกันเพียงว่า มติคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกประจำจังหวัดอุบลราชธานี ที่อนุมัติให้เพิ่มจำนวนรถและเที่ยวการเดินรถแก่จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2547 มีผลใช้บังคับได้ทันทีหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 16 บัญญัติให้มีคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง และมาตรา 19 ได้กำหนดอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการดังกล่าวไว้ ส่วนมาตรา 17 ก็บัญญัติให้มีคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกประจำจังหวัดทุกจังหวัดยกเว้นกรุงเทพมหานคร และกำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการดังกล่าวไว้ในมาตรา 20 สำหรับการออกใบอนุญาตขนส่งนั้น มาตรา 30 กำหนดให้นายทะเบียนกลางเป็นผู้ออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งในกรุงเทพมหานคร การขนส่งระหว่างจังหวัด การขนส่งระหว่างประเทศ และกำหนดให้นายทะเบียนประจำจังหวัดเป็นผู้ออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งในจังหวัดของตน เว้นแต่การออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง จะต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ เมื่อปรากฏว่าการอนุมัติให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางภายในจังหวัดอุบลราชธานีเพิ่มจำนวนรถและจำนวนเที่ยวการเดินรถ เป็นการพิจารณากำหนด (ปรับปรุง) เงื่อนไขการเดินรถตามที่นายทะเบียนจังหวัดอุบลราชธานีเสนอ โดยได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการควบคุมการขนส่งประจำจังหวัดอุบลราชธานี อันเข้าลักษณะเป็นการออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางตามมาตรา 31 (1) และ (11) หาใช่การพิจารณากำหนดเส้นทาง จำนวนผู้ประกอบการขนส่งและจำนวนรถสำหรับการขนส่งประจำทางตามมาตรา 20 (1) อันจะต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางอีกชั้นหนึ่งแต่อย่างใด ดังนั้น การอนุมัติให้จำเลยที่ 1 เพิ่มจำนวนรถและจำนวนเที่ยวการเดินรถจึงมีผลใช้บังคับได้นับตั้งแต่วันที่ 21 ตุลาคม 2547 ซึ่งเป็นวันที่นายทะเบียนกำหนด (ปรับปรุง) เงื่อนไขการเดินรถดังกล่าว เมื่อจำนวนรถและจำนวนเที่ยวการเดินรถดังกล่าวไม่เกินกว่าจำนวนที่โจทก์กล่าวอ้างตามฟ้องว่าเป็นการละเมิดต่อโจทก์ กรณีถือได้ว่าจำเลยทั้งสี่หยุดการกระทำที่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ตั้งแต่วันที่ 21 ตุลาคม 2547 และเมื่อไม่มีประเด็นพิพาทเกี่ยวกับจำนวนเงินค่าเสียหายและค่าฤชาธรรมเนียมซึ่งจำเลยที่ 4 นำมาวางชำระจนถึงวันที่ 21 ตุลาคม 2547 ว่าไม่ครบถ้วนตามคำพิพากษาศาลฎีกาแล้ว โจทก์ย่อมไม่อาจบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยทั้งสี่ได้อีก ข้อที่โจทก์อ้างในฎีกาเกี่ยวกับความไม่ชอบในการลงมติอนุมัติให้เพิ่มจำนวนรถและจำนวนเที่ยวการเดินรถที่พิพาทของคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกประจำจังหวัดอุบลราชธานี และการออกใบอนุญาตของนายทะเบียนจังหวัดอุบลราชธานีนั้น เห็นว่า เป็นเพียงข้อกล่าวอ้างจากการคาดการณ์ของโจทก์ โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าวจากทางพิจารณา ทั้งไม่ปรากฏว่ามีการเพิกถอนใบอนุญาตที่ออกตามมติดังกล่าว ย่อมไม่มีเหตุผลที่จะรับฟัง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนให้เพิกถอนการบังคับคดีจึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share