แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาตั้งแต่รับใบแต่งทนายความที่มีการปลอมลายมือชื่อของจำเลยทั้งสาม มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความแทนจำเลยทั้งสาม จนกระทั่งมีคำพิพากษาตามยอม ย่อมเป็นการหลงผิดไป กระบวนพิจารณาและคำพิพากษาตามยอมของศาลชั้นต้นย่อมเป็นการไม่ชอบ จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาไม่ชอบด้วยกฎหมาย มิได้ปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 138 ที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม และเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนและคำพิพากษาตามยอมไม่มีผลผูกพันจำเลยทั้งสาม อันเป็นเรื่องการพิจารณาที่ผิดระเบียบ กรณีเช่นนี้ เมื่อความปรากฏต่อศาลฎีกา และศาลฎีกาเห็นสมควร ย่อมมีอำนาจสั่งให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสียได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคหนึ่ง เมื่อวินิจฉัยมาดังกล่าวจึงไม่จำต้องวินิจฉัยอีกว่า จำเลยทั้งสามยื่นคำร้องภายในกำหนดเวลาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 27 วรรคสอง ของประมวลกฎหมายดังกล่าวหรือไม่ เพราะไม่ทำให้อำนาจของศาลที่จะสั่งตามมาตรา 27 วรรคหนึ่ง เปลี่ยนแปลง
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามสัญญาจ้างทำของ จำเลยที่ 2 รับผิดในฐานะผู้รับชำระหนี้แทน จำเลยที่ 3 ถึงที่ 14 รับผิดในฐานะผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ต่อมาโจทก์และจำเลยทั้งสิบสี่ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยมีข้อตกลงว่า จำเลยทั้งสิบสี่ตกลงและยินยอมร่วมกันชำระหนี้จำนวน 470,000 บาท ให้แก่โจทก์ โดยผ่อนชำระเป็นงวด งวดละ 30,000 บาท ทุกวันที่ 14 ของเดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2551 เป็นต้นไป และจะชำระให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 14 กันยายน 2552 ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมวันที่ 16 กันยายน 2551
วันที่ 13 มิถุนายน 2555 จำเลยที่ 4 ที่ 11 และที่ 13 ยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งเกี่ยวกับข้อผิดระเบียบ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 4 ที่ 11 และที่ 13 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 4 ที่ 11 และที่ 13 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2551 ต่อมาเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2555 จำเลยที่ 4 ที่ 11 และที่ 13 ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้น อ้างว่าใบแต่งทนายความที่มีลายมือชื่อจำเลยที่ 4 ที่ 11 และที่ 13 ในช่องผู้แต่งทนายความแต่งให้ว่าที่ร้อยตรีจักรวรรต เป็นทนายความนั้น เป็นลายมือชื่อปลอม โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันปลอมแปลงใบแต่งทนายความขึ้นทั้งฉบับ เพื่อให้หลงเชื่อว่า จำเลยที่ 4 ที่ 11 และที่ 13 ได้แต่งให้ว่าที่ร้อยตรีจักรวรรตนำไปยื่นต่อศาลชั้นต้น เพื่อทำสัญญาประนีประนอมยอมความแทนจำเลยที่ 4 ที่ 11 และที่ 13 และศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ต่อมาจำเลยที่ 4 ที่ 11 และที่ 13 ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 1 ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่อศาลแขวงพระนครเหนือในความผิดฐานร่วมกันปลอมและใช้เอกสารปลอม เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2555 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพศาลแขวงพระนครเหนือลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง รวม 3 กระทง คงปรับจำเลยที่ 1 จำนวน 9,000 บาท และจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 3 เดือน คดีสำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่สุด ส่วนจำเลยที่ 2 อุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ รายละเอียดปรากฏตามสำเนาคำพิพากษาศาลแขวงพระนครเหนือ สำเนาใบสำคัญเพื่อแสดงว่าคดีถึงที่สุดและสำเนาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 มีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกาว่า การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องของจำเลยที่ 4 ที่ 11 และที่ 13 ที่ขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบของศาลชั้นต้นชอบหรือไม่ เห็นว่า ตามคำร้องของจำเลยที่ 4 ที่ 11 และที่ 13 เป็นกรณีที่อ้างว่า การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นไม่ถูกต้อง ไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นการผิดระเบียบ เนื่องจากจำเลยที่ 4 ที่ 11 และที่ 13 ไม่เคยแต่งตั้งว่าที่ร้อยตรีจักรวรรต ให้เป็นทนายความดำเนินคดีนี้ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันปลอมลายมือชื่อจำเลยที่ 4 ที่ 11 และที่ 13 ลงในใบแต่งทนายความนำไปยื่นต่อศาลชั้นต้น เพื่ออาศัยอำนาจตามใบแต่งทนายความมาทำสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีนี้ ดังนี้ หากข้อเท็จจริงเป็นดังคำร้องของจำเลยที่ 4 ที่ 11 และที่ 13 เท่ากับจำเลยที่ 4 ที่ 11 และที่ 13 ไม่ทราบและไม่ได้ตกลงประนีประนอมยอมความกับโจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ที่ว่าที่ร้อยตรีจักรวรรตลงนามในสัญญาดังกล่าวโดยไม่ได้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 4 ที่ 11 และที่ 13 ว่าที่ร้อยตรีจักรวรรตย่อมไม่มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาแทนจำเลยที่ 4 ที่ 11 และที่ 13 ได้ ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาตั้งแต่ว่าที่ร้อยตรีจักรวรรต ยื่นใบแต่งทนายความที่มีการปลอมลายมือชื่อของจำเลยที่ 4 ที่ 11 และที่ 13 ต่อศาลชั้นต้น จนกระทั่งมีคำพิพากษาตามยอม และการบังคับตามคำพิพากษาตามยอมในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 4 ที่ 11 และที่ 13 ย่อมเป็นการหลงผิดไป กระบวนพิจารณาและคำพิพากษาตามยอมของศาลชั้นต้นในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 4 ที่ 11 และที่ 13 ย่อมเห็นได้โดยชัดแจ้งว่าเป็นการไม่ชอบ หากจำเลยที่ 4 ที่ 11 และที่ 13 ต้องผูกพันที่จะถูกบังคับตามคำพิพากษาตามยอมคดีนี้ โดยไม่อาจจะร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดหลงผิดระเบียบนั้นเสียได้ ย่อมเห็นได้ว่า จำเลยที่ 4 ที่ 11 และที่ 13 ได้รับความเสียหายและไม่ได้รับความยุติธรรม นอกจากนี้ ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ได้แสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาให้จำเลยที่ 4 ที่ 11 และที่ 13 รับผิดในฐานะผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ 1 เป็นหนี้ค่ารมยากำจัดศัตรูพืช สินค้าอุปโภคต่าง ๆ เพื่อส่งไปจำหน่ายต่างประเทศเป็นต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 470,549.60 บาท จำเลยที่ 4 ที่ 11 และที่ 13 ยังชำระค่าหุ้นไม่ครบได้ชำระค่าหุ้นเพียง 75 เปอร์เซ็นต์ โจทก์อาศัยสิทธิฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 4 ที่ 11 และที่ 13 ที่ยังชำระเงินค่าหุ้นไม่ครบ ซึ่งเมื่อคำนวณตามสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นเอกสารท้ายฟ้องแล้ว จำเลยที่ 4 ค้างชำระค่าหุ้น 100,000 บาท จำเลยที่ 11 ค้างชำระค่าหุ้น 25,000 บาท และจำเลยที่ 13 ค้างชำระค่าหุ้นเพียง 12,500 บาท แต่โจทก์กลับขอให้จำเลยที่ 4 ที่ 11 และที่ 13 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 จำนวน 470,549.60 บาท และสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมก็ให้จำเลยที่ 4 ที่ 11 และที่ 13 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 เป็นเงินถึง 470,000 บาท สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวจึงขัดกับคำบรรยายฟ้องที่โจทก์อาศัยสิทธิฟ้องจำเลยที่ 4 ที่ 11 และที่ 13 ให้รับผิดในฐานะผู้ถือหุ้นที่ยังชำระค่าหุ้นไม่ครบยังขาดอีก 25 เปอร์เซ็นต์ และขัดกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1096 ที่บัญญัติว่า อันว่าบริษัทจำกัดนั้น คือ บริษัทประเภทซึ่งตั้งขึ้นด้วยแบ่งทุนเป็นหุ้นมีมูลค่าเท่า ๆ กัน โดยมีผู้ถือหุ้นต่างรับผิดจำกัดเพียงไม่เกินจำนวนเงินที่ตนยังส่งใช้ไม่ครบมูลค่าของหุ้นที่ตนถือ ทั้งเมื่อพิจารณาประกอบกับข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏตามสำเนาคำพิพากษาศาลแขวงพระนครเหนือ สำเนาใบสำคัญเพื่อแสดงว่าคดีถึงที่สุดสำหรับโจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ไม่อุทธรณ์ สำเนาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ที่ขอให้รอการลงโทษจำเลยที่ 2 ซึ่งโจทก์ไม่ยื่นคำคัดค้านคำร้อง และไม่ยื่นคำแก้อุทธรณ์หรือคำแก้ฎีกาว่า ข้อเท็จจริงไม่เป็นไปตามเอกสารท้ายคำร้องดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยข้อเท็จจริง อันนำไปสู่การวินิจฉัยข้อกฎหมายดังกล่าวเสียเองโดยไม่ต้องย้อนสำนวน และเห็นว่า ข้อเท็จจริงเป็นไปตามคำร้องของจำเลยที่ 4 ที่ 11 และที่ 13 การที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาตั้งแต่รับใบแต่งทนายความที่มีการปลอมลายมือชื่อของจำเลยที่ 4 ที่ 11 และที่ 13 มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความแทนจำเลยที่ 4 ที่ 11 และที่ 13 จนกระทั่งมีคำพิพากษาตามยอม ย่อมเป็นการหลงผิดไป กระบวนพิจารณาและคำพิพากษาตามยอมของศาลชั้นต้นย่อมเป็นการไม่ชอบ จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาไม่ชอบด้วยกฎหมาย มิได้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 ที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม และเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนและคำพิพากษาตามยอมไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 4 ที่ 11 และที่ 13 อันเป็นเรื่องการพิจารณาที่ผิดระเบียบ กรณีเช่นนี้ เมื่อความปรากฏต่อศาลฎีกา และศาลฎีกาเห็นสมควร ย่อมมีอำนาจสั่งให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสียได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคหนึ่ง เมื่อวินิจฉัยมาดังกล่าวจึงไม่จำต้องวินิจฉัยอีกว่า จำเลยที่ 4 ที่ 11 และที่ 13 ยื่นคำร้องภายในกำหนดเวลาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 27 วรรคสอง ของประมวลกฎหมายดังกล่าวหรือไม่ เพราะไม่ทำให้อำนาจของศาลที่จะสั่งตามมาตรา 27 วรรคหนึ่ง เปลี่ยนแปลง
พิพากษากลับว่า ให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นตั้งแต่รับใบแต่งทนายความของจำเลยที่ 4 ที่ 11 และที่ 13 เป็นต้นไป กับให้เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความเฉพาะระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 14 และคำพิพากษาตามยอมในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 14 และการบังคับคดีในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 14 ทั้งหมด ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ในส่วนที่ถูกเพิกถอน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 14 ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่