แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การให้สัตยาบันแก่โมฆียะกรรมโดยปริยายตาม ม.142 นั้น ผู้ให้สัตยาบันได้ต้องเป็นบุคคลตามที่กฎหมายระบุไว้ใน ม.137 และ 139 เท่านั้น การที่เจ้าหนี้ไปเรียกทวงลูกหนี้ให้ชำระตามโมฆียะกรรม ลูกหนี้มิได้แสดงแย้งสงวนสิทธิแต่ประการใด ภายหลังลูหนี้ไปทวงหลักประกันคืนและพูดว่าถ้าไม่ได้คืนจะเอาเงินที่ไหนมาใช้ให้ดังนี้ ถือได้ว่าลูกหนี้ได้ให้สัตยาบันแก่โมฆียะกรรมนั้นแล้วโดยปริยายตาม ม.142(2)
ย่อยาว
คดีนี้ได้ความว่า ขณะเมื่อจำเลยยังเป็นผู้เยาว์อยู่ จำเลยได้ไปทำสัญญากู้เงินโจทก์ไป ๖๔๐ บาท เมื่อจำเลยบรรลุนิติภาวะแล้ว ได้ไปบวชเป็นพระภิกษุระวางบวชโจทก์ได้ไปหาจำเลยขอให้จำเลยทำสัญญากู้เปลี่ยนใหม่ จำเลยตอบว่าเป็นพระไม่สามารถจะทำได้ จะให้ดีไปหาท่านเจ้าอาวาสหรือไปหาบิดาจำเลย
ศาลชั้นต้นเห็นว่า เวลาที่โจทก์ไปขอให้จำเลยทำหนังสือใหม่ จำเลยหาได้แสดงแย้งสงวนสิทธิโดยชัดแจ้งถือว่าเป็นสัตยาบันตาม ม.๑๔๒ (๒) จำเลยจะบอกล้างในภายหลังหาได้ไม่ พิพากษาให้จำเลยใช้เงินตามฟ้องโจทก์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่าผู้ที่จะให้สัตยาบันแก่โมฆียะกรรมได้คือบุคคลทีระบุไว้ใน ม. ๑๓๗ และ ๑๓๙ เท่านั้น แต่คดีนี้โจทก์กลับเป็นผู้ทวงให้ชำระหนี้ ไม่ใช่จำเลยเป็นผู้ทวงให้ชำระหนี้ จึงไม่เข้าอยู่ใน ม.๑๔๒ (๒)
ศาลฎีกาเห็นพ้องกับศาลอุทธรณ์ในข้อที่ว่า บุคคลตาม ม.๑๓๗ และ ๑๓๙ จำเลยเป็นผู้ให้สัตยาบันโดยปริยายได้ แลเห็นว่าหนี้รายนี้เป็นคุณแก่โจทก์ หรืออีกนัยหนึ่งโจทก์เป็นเจ้าหนี้ ส่วนจำเลยเป็นลูกหนี้ก็เป็นการถูกแล้วที่เจ้าหนี้คือโจทก์จะไปทวงลูกหนี้คือจำเลย แลปรากฎว่าเมื่อจำเลยสึกมาแล้วยังได้มาขอหน้าโฉนดซึ่งวางเป็นประกันไว้จากโจทก์ ๆ ยังได้ทวงเงินจากจำเลย ๆตอบว่า ถ้าไม่ได้โฉนดไปจะเอาเงินที่ไหนมาใช้ให้ ตามข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า ได้มีการเรียกทวงให้ชำระหนี้ตามโมฆียะกรรมนั้นแล้ว จำเลยมิได้แสดงแย้งสงวนสิทธิแต่ประการใด ถือได้ว่าจำเลยได้ให้สัตยาบันโดยปริยายตาม ม.๑๔๒ (๒) จึงพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น