คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1940/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยร่วมที่ 2 เข้ามาในคดีเพราะจำเลยขอให้หมายเรียกเข้ามา แต่มูลความแห่งคดีมิใช่เป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ จำเลยและจำเลยร่วมที่ 1 ให้การว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ แต่จำเลยร่วมที่ 2 ไม่ได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้ศาลจะอ้างเอาอายุความเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193 (193/29 ที่แก้ไขใหม่)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2525 นายชูศักดิ์ได้ขับรถโดยสารของจำเลยร่วมที่ 2 ในทางการที่จ้าง และนายชูศักดิ์ขับรถด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงโดยขับด้วยความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดเพื่อแซงรถบรรทุกเล็กเป็นเวลาเดียวกับที่นายสมบัติลูกจ้างจำเลยและจำเลยร่วมที่ 1 ได้ขับรถโดยสารของจำเลยร่วมที่ 1 สวนทางมาด้วยความประมาทเลินเล่อ โดยขับเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด เพื่อแซงรถบรรทุกแล้วหักหลบเข้าทางของตนไม่ทัน เป็นเหตุให้รถทั้งสองคันเฉี่ยวชนกันอย่างแรงและทำให้บุตรโจทก์ทั้งสามถึงแก่ความตาย ก่อนฟ้องคดีนี้บิดาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายทั้งสามได้ฟ้องจำเลยร่วมทั้งสองแต่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องเพราะเหตุเกี่ยวกับอำนาจฟ้องเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2528 ต่อมาโจทก์ทั้งสามทราบว่านอกจากจำเลยร่วมทั้งสองแล้วยังมีจำเลยนี้ต้องร่วมรับผิดด้วย โจทก์ทั้งสามจึงฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ภายในอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์ทั้งสามรู้ถึงการละเมิด และรู้ว่าจำเลยต้องร่วมรับผิดขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งสามพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยไม่ต้องรับผิดโจทก์ทั้งสามไม่ได้ฟ้องจำเลยภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ 12 เมษายน 2525คดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องขอให้เรียกจำเลยร่วมทั้งสองเข้าเป็นจำเลยร่วมศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมที่ 1 ให้การว่า โจทก์ฟ้องเกินกว่า 1 ปี จึงขาดอายุความ และคดีนี้นายชักกูแล นายเขียม เคยฟ้องเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ร่วมที่ 1 แล้ว และศาลได้มีคำพิพากษาแล้ว โจทก์มาฟ้องอีกจึงเป็นฟ้องซ้ำ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยร่วมที่ 2 ไม่ได้ยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์ที่ 1 ถึงแก่กรรมนายสรรค์ชัยขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์อนุญาต
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ศาลจังหวัดลำพูนเคยวินิจฉัยว่า สามีของโจทก์ทั้งสามไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับโจทก์ทั้งสาม จึงไม่เป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายได้ โจทก์ทั้งสามจึงฟ้องเป็นคดีนี้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าฟ้องในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยและจำเลยร่วมที่ 1 ขาดอายุความ 1 ปีแล้ว แต่ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยร่วมที่ 2 นั้น จำเลยร่วมที่ 2 เข้ามาในคดีเพราะจำเลยขอให้หมายเรียกเข้ามา แต่มูลความแห่งคดีก็มิใช่เป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ คำให้การของจำเลยและจำเลยร่วมที่ 1 ที่ให้การว่าคดีโจทก์ขาดอายุความจึงไม่มีผลถึงจำเลยร่วมที่ 2 ปรากฎว่าจำเลยร่วมที่ 2 ไม่ได้ยื่นคำให้การ จำเลยร่วมที่ 2 จึงมิได้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ เมื่อจำเลยร่วมที่ 2 ไม่ได้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ศาลจะอ้างเอาอายุความมาเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193(193/29 ที่แก้ไขใหม่)
พนักงานขับรถคันของจำเลยร่วมที่ 2 ประมาทเลินเล่อ ขับรถด้วยความเร็วสูงผิดปกติวิสัย แซงรถคันอื่นโดยไม่ระมัดระวังทางข้างหน้าให้ดี เป็นการทำละเมิดในทางการที่จ้างซึ่งจำเลยร่วมที่ 2 จะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสาม
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยร่วมที่ 2 ชำระค่าปลงศพให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 รวมเป็นเงิน 60,000 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 3เป็นเงิน 40,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตั้งแต่วันทำละเมิดจนถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสาม และชำระค่าขาดไร้อุปกรณ์ให้แก่โจทก์ทั้งสามคนละ 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราเดียวกันตั้งแต่วันฟ้องจนถึงวันชำระเสร็จนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share