คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4730/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรุงเทพมหานครไม่ใช่นายทะเบียนผู้มีอำนาจเพิกถอนสูติบัตรตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 ดังนั้น โจทก์ทั้งสามจึงไม่อาจฟ้องบังคับกรุงเทพมหานครให้เพิกถอนสูติบัตรได้

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้บังคับจำเลยเพิกถอนสูติบัตรเด็กชายภาคภูมิ เหมือนแก้วซึ่งออกโดยสำนักทะเบียนท้องถิ่น เขตพญาไท หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย

จำเลยให้การว่า พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 กำหนดให้การออกหรือเพิกถอนสูติบัตรเป็นอำนาจหน้าที่ของนายทะเบียนโดยเฉพาะ จำเลยมิใช่นายทะเบียนตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 ไม่มีอำนาจเพิกถอนสูติบัตรเด็กชายภาคภูมิ เหมือนแก้ว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

โจทก์ทั้งสามฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า… พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันรับฟังได้ว่าโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และนางม๋วย แซ่เฮง เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน นางม๋วยถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2535 โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และนางสาววรรณา วรรณธนปรีดา หรือนางวรรณา วัชวงศ์ เป็นผู้จัดการมรดกของนางม๋วยร่วมกันตามคำพิพากษาศาลฎีกานายเจริญ เหมือนแก้ว อยู่กินฉันสามีภริยากับนางม๋วย และเป็นผู้คัดค้านคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และนางสาววรรณา วรรณธนปรีดา หรือนางวรรณาวัชวงศ์ ระหว่างการจัดการทรัพย์มรดกของนางม๋วย โจทก์ทั้งสามเห็นว่าสูติบัตรตามเอกสารหมาย จ.8 ที่ระบุว่า เด็กชายภาคภูมิ เหมือนแก้ว เป็นบุตรนางม๋วยและนายเจริญไม่ถูกต้องด้วยเหตุนางม๋วยไม่มีบุตร เด็กชายภาคภูมิ เหมือนแก้ว มิใช่บุตรของนางม๋วยหากแต่เป็นเด็กกำพร้าที่นายเจริญขอจากกรมประชาสงเคราะห์แล้วจดทะเบียนรับเป็นบุตรบุญธรรม โจทก์ทั้งสามอ้างว่าสูติบัตรตามเอกสารหมาย จ.8 ไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ที่ 2 ในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้จัดการมรดกของนางม๋วยยื่นคำร้องต่อสำนักทะเบียนท้องถิ่นเขตราชเทวีตามเอกสารหมาย จ.22 ขอเพิกถอนสูติบัตรเด็กชายภาคภูมิ เหมือนแก้ว แต่พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ดำเนินการให้โดยเรือโทวารินทร์ เดชเจริญ ผู้ช่วยนายทะเบียนท้องถิ่นเขตราชเทวีปฏิบัติราชการแทนนายทะเบียนท้องถิ่นเขตราชเทวีมีคำสั่งให้โจทก์ที่ 2 ดำเนินการโดยอาศัยขั้นตอนของศาล ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสามมีว่า โจทก์ทั้งสามมีอำนาจฟ้องบังคับจำเลยให้เพิกถอนสูติบัตรเด็กชายภาคภูมิ เหมือนแก้ว ตามเอกสารหมาย จ.8 หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 มาตรา 10 วรรคสาม บัญญัติว่า “ในกรณีปรากฏหลักฐานเชื่อได้ว่า การดำเนินการแจ้ง การรับแจ้ง การบันทึก หรือการลงรายการเพื่อดำเนินการจัดทำหลักฐานทะเบียนต่าง ๆ ตามพระราชบัญญัตินี้ ได้ดำเนินการไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ระเบียบหรือโดยอำพราง หรือโดยมีรายการข้อความผิดจากความเป็นจริง ให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งไม่รับแจ้ง จำหน่ายรายการทะเบียน เพิกถอนหลักฐานทะเบียน และดำเนินการแก้ไขข้อความรายการทะเบียนให้ถูกต้องแล้วแต่กรณี” มาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันนี้บัญญัติว่า “นายทะเบียน” หมายความว่า นายทะเบียนประจำสำนักทะเบียนกลาง นายทะเบียนประจำสำนักทะเบียนกรุงเทพมหานคร นายทะเบียนประจำสำนักทะเบียนจังหวัด นายทะเบียนประจำสำนักทะเบียนอำเภอ นายทะเบียนประจำสำนักทะเบียนท้องถิ่น นายทะเบียนประจำสำนักทะเบียนสาขา นายทะเบียนประจำสำนักทะเบียนเฉพาะกิจ และนายทะเบียนผู้รับแจ้ง และให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากนายทะเบียนหรือผู้ช่วยนายทะเบียน

“นายทะเบียนผู้รับแจ้ง” หมายความว่า นายทะเบียนอำเภอ นายทะเบียนท้องถิ่นและผู้ซึ่งผู้อำนวยการทะเบียนกลางได้กำหนดให้มีหน้าที่เกี่ยวกับการแจ้งการเกิด การตายการย้ายที่อยู่ การสร้างบ้านใหม่ การรื้อบ้าน และการกำหนดเลขประจำบ้าน โดยได้กำหนดขอบเขตหน้าที่ดังกล่าวไว้ ฯลฯ

ดังนั้นนายทะเบียนท้องถิ่น คือผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการแจ้งการเกิด การตาย ฯลฯตามมาตรา 18 ถึงมาตรา 22 รวมทั้งมีฐานะเป็น “นายทะเบียน” ผู้มีอำนาจเพิกถอนหลักฐานทะเบียนตามมาตรา 10 และมาตรา 8(5) วรรคสอง บัญญัติให้ผู้อำนวยการเขตเป็นนายทะเบียนท้องถิ่น กรณีตามฟ้องหาการจัดทำสูติบัตรเด็กชายภาคภูมิ เหมือนแก้ว เอกสารหมาย จ.8 มิชอบด้วยกฎหมาย นายทะเบียนผู้มีอำนาจสั่งเพิกถอนคือนายทะเบียนท้องถิ่นเขตพญาไท หรือผู้อำนวยการเขตพญาไท ซึ่งเป็นผู้รับแจ้งการเกิดของเด็กชายภาคภูมิ เหมือนแก้ว แต่เมื่อมีการปรับปรุงแบ่งเขตปกครองเสียใหม่เป็นผลให้อำนาจพิจารณาสั่งเพิกถอนสูติบัตรเด็กชายภาคภูมิ เหมือนแก้ว เป็นของนายทะเบียนท้องถิ่นเขตราชเทวีและโจทก์ทั้งสามได้ร้องขอต่อนายทะเบียนท้องถิ่นเขตราชเทวีซึ่งได้พิจารณาสั่งตามบันทึกในเอกสารหมาย จ.22 ไม่เพิกถอนสูติบัตรเด็กชายภาคภูมิ เหมือนแก้ว โดยให้โจทก์ทั้งสามใช้สิทธิทางศาลต่อไป แต่จำเลยมิใช่นายทะเบียนท้องถิ่นผู้มีอำนาจเพิกถอนสูติบัตรตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 โจทก์ทั้งสามจะฟ้องบังคับจำเลยให้เพิกถอนสูติบัตรเด็กชายภาคภูมิ เหมือนแก้ว มิได้ เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว ปัญหาอื่นจึงไม่จำต้องวินิจฉัย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ทั้งสามฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share