คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 897/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่โจทก์ปฏิบัติผิดระเบียบข้อบังคับของจำเลยเกี่ยวกับการทำงานเรื่องโจทก์กระจายหนี้ให้ลูกหนี้แต่ละรายใช้วงเงินสินเชื่อให้อยู่ในอำนาจอนุมัติของโจทก์แทนการอนุมัติจากสำนักงานใหญ่ และยอมให้ลูกหนี้เงินกู้ทำสัญญาค้ำประกันซึ่งกันและกัน ทำให้ธนาคารจำเลยไม่สามารถควบคุมการปล่อยสินเชื่อได้ เป็นเหตุให้เกิดหนี้เสีย ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายจำนวนมาก และมีผลกระทบต่อความเชื่อถือของประชาชน จึงเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยในกรณีร้ายแรง จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจฯ ข้อ 46 (3) และจำเลยย่อมเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 และถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควร ไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 49

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ โจทก์เข้าทำงานกับจำเลย ขอให้บังคับให้จำเลยชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 160,120 บาท พร้อมเงินเพิ่มตามกฎหมายแก่โจทก์ชำระค่าชดเชย 480,360 บาท เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ส่วนเงินสมทบที่จำเลยรับมาจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 1,050,332.72 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินดังกล่าวข้างต้นนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จสิ้น และให้จำเลยชำระค่าเสียหายฐานเลิกจ้างไม่เป็นธรรม 20,000,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระค่าชดเชย 397,560 บาท และเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 1,050,332.72 บาท รวมเป็นเงิน 1,447,892.72 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้าง (22 เมษายน 2541) เป็นต้นไป จนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขอนอกเหนือจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า โจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยในกรณีร้ายแรงหรือไม่ และจำเลยต้องรับผิดชำระเงินแก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางหรือไม่ ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยอ้างเหตุประการแรกว่า โจทก์ปล่อยสินเชื่อผิดวัตถุประสงค์คือปล่อยสินเชื่อแก่ลูกค้าที่ซื้ออาคารพาณิชย์ในโครงการเศรษฐกิจแมนชั่น 18 ราย โดยปล่อยสินเชื่อกู้เบิกเงินเกินบัญชีแทนการปล่อยสินเชื่อกู้ประจำนั้น ปรากฏว่าคู่มือและระเบียบปฏิบัติงานที่จำเลยให้พนักงานถือปฏิบัติไม่ได้กำหนดไว้ว่า การขอสินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ต้องกู้ประจำเท่านั้น การที่โจทก์อนุมัติให้ลูกค้าที่ซื้ออาคารพาณิชย์ในโครงการเศรษฐกิจแมนชั่น 18 ราย แล้วนำอาคารพาณิชย์มาจดทะเบียนจำนองเป็นหลักประกันให้จำเลยยึดถือไว้เพื่อประกันหนี้ของลูกหนี้ไม่ว่าจะเป็นลูกหนี้กู้ประจำหรือกู้เบิกเงินเกินบัญชีก็มีผลไม่ต่างกัน ถ้าลูกค้าซื้ออาคารพาณิชย์แล้วสามารถทำการค้ามีกำไรก็สามารถชำระหนี้ให้แก่จำเลยได้เช่นกัน การให้สินเชื่อกู้เบิกเงินเกินบัญชีแก่ลูกค้าที่ซื้ออาคารพาณิชย์เพื่อทำการค้ากลับชำระหนี้ได้คล่องตัวกว่า โจทก์จึงมิได้ปล่อยสินเชื่อโดยผิดวัตถุประสงค์ ที่จำเลยอ้างเหตุประการที่สองว่าโจทก์ประเมินราคาหลักทรัพย์สูงกว่าความเป็นจริงนั้น จำเลยก็มีคณะกรรมการประเมินราคาหลักทรัพย์จำนวน 3 คน โจทก์เป็นเพียงกรรมการหนึ่งในสามที่ร่วมประเมินราคาหลักทรัพย์ที่มีปัญหาคดีนี้ในช่วงปี พ.ศ.2534 ถึง 2535 ซึ่งเศรษฐกิจของประเทศกำลังเฟื่องฟู ธนาคารพาณิชย์ต่างแข่งกันปล่อยสินเชื่อ เมื่อลูกค้าไม่สามารถชำระหนี้ได้ จำเลยไปตรวจสอบราคาใหม่ พบว่าที่ดินถูกขุดหน้าดินไปขายกลายเป็นบ่อลึก 10 เมตร เมื่อการตรวจสอบในระยะเวลาที่เปลี่ยนไปและสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปราคาที่ดินย่อมลดต่ำลงเป็นธรรมดา จะฟังว่าโจทก์ประเมินราคาหลักทรัพย์สูงเกินจริงไม่ได้ ที่จำเลยอ้างเหตุประการที่สามและที่สี่ว่า โจทก์กระทำเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ลูกหนี้หรือตนเอง และจูงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายนั้น ก็ปรากฏว่าโจทก์อนุมัติสินเชื่อให้แก่ลูกหนี้ทั้ง 27 ราย ในอัตราดอกเบี้ยปกติ มิได้ลดดอกเบี้ยต่ำกว่าปกติ มิได้ปลดเปลื้องหนี้ให้แก่ลูกหนี้ การขอกู้เงินและอนุมัติให้กู้เงินดังกล่าว ต่างก็คาดหวังว่าจะได้ประโยชน์ด้วยกัน เมื่อต่างคาดหวังผิดพลาดประกอบกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำจึงกลายเป็นหนี้เสียนั้นเกิดขึ้นเนื่องจากหลายสาเหตุรวมกัน รวมถึงความบกพร่องของโจทก์และจำเลยด้วย จะถือเป็นความผิดของโจทก์ผู้เดียวไม่ได้จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์กระทำเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ลูกหนี้ และฟังไม่ได้ว่าโจทก์จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ที่จำเลยอ้างเหตุประการที่ห้าว่าโจทก์กระจายหนี้นั้น ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์กระจายหนี้ให้ลูกหนี้แต่ละรายใช้วงเงินสินเชื่อให้อยู่ในอำนาจอนุมัติของโจทก์แทนการขออนุมัติสำนักงานใหญ่ และให้ลูกหนี้เงินกู้ทำสัญญาค้ำประกันซึ่งกันและกันอันเป็นการปฏิบัติผิดระเบียบข้อบังคับตามคู่มือและระเบียบการพนันงานภาค 3 การสินเชื่อ หมวด 1 ข้อ 3.7 พิเคราะห์แล้ว จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยกล่าวหาว่าโจทก์กระทำผิดหลายประการ แต่ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ปล่อยสินเชื่อผิดวัตถุประสงค์ โจทก์ไม่ได้ประเมินราคาหลักทรัพย์สูงกว่าความเป็นจริง โจทก์ไม่ได้กระทำเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ลูกหนี้หรือตนเอง และโจทก์ไม่ได้จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย คงรับฟังได้ว่าโจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเรื่องโจทก์กระจายหนี้แต่ละรายใช้วงเงินสินเชื่อให้อยู่ในอำนาจอนุมัติของโจทก์แทนการอนุมัติจากสำนักงานใหญ่ และยอมให้ลูกหนี้เงินกู้ทำสัญญาค้ำประกันซึ่งกันและกัน ศาลฎีกาเห็นว่า การปฏิบัติผิดระเบียบข้อบังคับของจำเลยดังกล่าวทำให้ธนาคารจำเลยไม่สามารถควบคุมการปล่อยสินเชื่อได้เป็นเหตุให้เกิดหนี้เสีย ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายจำนวนมาก และมีผลกระทบต่อความเชื่อถือของประชาชน จึงเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยในกรณีร้ายแรงจำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ข้อ 46 (3) ส่วนเรื่องเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในส่วนเงินสมทบ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยในกรณีร้ายแรงและจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยมีคำสั่งที่ ธ 261/2541 ตามเอกสารหมาย ล.77 ให้โจทก์ออกจากการเป็นพนักงานของจำเลยโดยงดจ่ายเงินพึงได้ใด ๆ ทั้งสิ้น ตามคู่มือและระเบียบการพนักงานภาค 2 หมวด 3 ว่าด้วยวินัยและโทษทางวินัย ข้อ 4.3 โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในส่วนเงินสมทบ ตามคู่มือและระเบียบการพนักงาน หมวด 2 กองทุนสำรองเลี้ยงชีพธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ข้อ 2.7.2.1 ตามเอกสารหมาย ล.72 ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น
ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์ฝ่าฝืนระเบียบในกรณีไม่ร้ายแรงซึ่งเป็นการกระทำผิดเพียงเล็กน้อยจำนวนน้อยครั้ง เป็นเพียงการบกพร่องต่อหน้าที่เท่านั้น แต่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ เห็นว่า เมื่อได้วินิจฉัยมาข้างต้นแล้วว่าการที่โจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลยด้วยการกระจายหนี้ให้ลูกหนี้แต่ละรายใช้วงเงินสินเชื่อให้อยู่ในอำนาจอนุมัติของโจทก์แทนการอนุมัติจากสำนักงานใหญ่นั้น เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในกรณีร้ายแรง จำเลยย่อมเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุดังกล่าวได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 และถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควร ไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายให้แก่โจทก์มานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของโจทก์ในส่วนค่าชดเชยและเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพด้วย นอกจากที่แก้ให้บังคับตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share