คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 34/2478

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หนังสืออย่างไรเป็นหนังสือรับสภาพหนี้และรับสภาพความรับผิดในหนี้สิน ซื้อของเชื่อมาจากเขาโดยผู้ขายลงบัญชีจำนวนสิ่งของ ราคาวัน เดือน ปี ที่ซื้อเชื่อไว้ และเมื่อใดที่มีการคิดบัญชีหนี้สินที่ค้างกันเท่าใดลูกหนี้ก็ได้ลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญทุกครั้งดังนี้รวมกันฟังได้ว่าเป็นหนังสือรับสถาพหนี้และรับสภาพความรับผิดในหนี้ที่ค้างชำระหนี้ที่ขาดอายุความแล้วนั้น ถ้าหากลูกหนี้ทำหนังสือรับสภาพความรับผิดชอบแล้วเจ้าหนี้ก็ย่อมมีอำนาจฟ้องร้องได้

ย่อยาว

คดีนี้ได้ความว่าตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๗๑ เป็นต้นมา ส. จำเลยได้ไปซื้อของเชื่อมาจากร้านสามีโจทก์ ได้มีการผ่อนชำระหนี้กันไปบ้างแล้ว ยังคงค้างอีก ๕๗๐ บาท ๓๙ สตางค์ซึ่ง ส. จำเลยได้เซ็นชื่อรับรองจำนวนเงินหนี้ที่ค้างชำระนี้เมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๖ ในเดือนนั้นเองสามีโจทก์ถึงแก่กรรม โจทก์เป็นผู้รับมฤดกจึงฟ้องขอให้บังคับจำเลยใช้หนี้รายนี้
ศาลเดิมแลศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยใช้เงินตามฟ้องโจทก์
จำเลยฎีกาว่าคดีโจทก์ขาดอายุความตาม ม.๑๖๕ (๑)แล้ว แลว่าการที่จำเลยเซ็นชื่อไว้ในบัญชีโดยไม่มีข้อความอื่นอย่างใดอีก จะถือว่าเป็นการรับสภาพหนี้ตาม ม.๑๗๒ ไม่ได้ ทั้งการรับสภาพหนี้จะต้องทำเป็นหนังสือ จึงจะใช้บังคับได้
ศาลฎีกาเห็นว่าหนี้ในของสิ่งใดที่ไม่เรียกร้องเกิน ๒ ปีซึ่งขาดอายุความตาม ม.๑๖๕(๑) แล้ว แต่เมื่อจำเลยไม่บอกปัดและการรับสารภาพหนี้ตาม ม.๑๘๘ ข้ออายุความที่จำเลยอ้างก็ตกไป ส่วนหนี้ในของสิ่งใดที่อายุความกำลังดำเนินอยู่แลยังไม่เกิน ๒ ปี เมื่อจำเลยรับสภาพหนี้อายุความก็สดุดหยุดลงตาม ม.๑๗๒ เห็นว่าตามบัญชีมีข้อความขัดว่าจำเลยซื้อของเชื่อสิ่งใดราคาเท่าใดเมื่อวันเดือนปีใดได้ผ่อนใช้แล้วแสดงค้างอีกเท่าใด ทั้งได้มีการคิดบัญชีตกลงหนี้ที่เกี่ยวค้างกันติดต่อกันมาเป็นลำดับ ทั้งจำเลยก็ได้ลงลายมือชื่อไว้ตลอดจนถึงครั้งสุดท้ายด้วย เมื่อรวมกันเข้าจึงเป็นหนังสือรับสภาพความรับผิดที่จำเลยเป็นหนี้โจทก์จึงพิพากษาให้ยืนตามศาลล่าง

Share