แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ตามสัญญาและต่อท้ายสัญญาจะระบุยอมให้โจทก์ขึ้นหรือปรับปรุงอัตราดอกเบี้ยใหม่ได้ตามความเหมาะสมโดยไม่เกินกว่าที่กฎหมายอนุญาตให้คิดได้โดยไม่ต้องแจ้งให้จำเลยทราบ เป็นเรื่องที่จำเลยยอมให้โจทก์ปรับขึ้นดอกเบี้ยในกรณีปกติจากอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์คิดจากจำเลยในวันทำสัญญาแบบอัตราลอยตัว หาได้มีข้อตกลงให้โจทก์ขึ้นดอกเบี้ยในอัตราใหม่ไม่เกินกว่าที่กฎหมายอนุญาตในกรณีที่จำเลยผิดนัดหรือผิดเงื่อนไขไม่ แม้ตามประกาศของโจทก์เรื่องอัตราดอกเบี้ยและส่วนลดเงินให้สินเชื่อซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเรื่องการกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลดจะระบุให้คิดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่ผิดเงื่อนไขตามสัญญาไม่เกินร้อยละ19 ต่อปี ก็เป็นเรื่องให้สิทธิโจทก์ที่จะปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นกว่าอัตราดอกเบี้ยที่คิดตามปกติเท่านั้น ส่วนโจทก์จะมีอำนาจปรับได้หรือไม่ต้องพิจารณาจากสัญญากู้เงินว่ามีข้อตกลงยินยอมให้ปรับได้หรือไม่ก่อนทั้งการปรับอัตราดอกเบี้ยในกรณีดังกล่าวเป็นการให้สิทธิพิเศษแก่โจทก์โดยที่จำเลยไม่อาจโต้แย้งได้ จึงต้องตีความข้อตกลงในสัญญาโดยเคร่งครัดโจทก์ยอมรับว่าในสัญญากู้เงินไม่ได้เขียนข้อตกลงนี้ไว้อย่างชัดแจ้งว่าหากจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามกำหนดหรือผิดเงื่อนไขจำเลยยอมชำระดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี ดังนั้น โจทก์จึงไม่อาจปรับอัตราดอกเบี้ยเป็นร้อยละ 19 ต่อปีนับแต่วันที่จำเลยผิดนัดได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 4,589,746.29 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงิน 3,500,000 บาทนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 92230 พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ หากได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์จนครบ
จำเลยให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้จำนวน 3,646,136.98 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15.75 ต่อปี ของต้นเงิน 3,500,000 บาทนับตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 92230 พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์หากได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์จนครบ
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 29 กันยายน2537 จำเลยทำสัญญากู้เงินโจทก์จำนวน 3,500,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยเป็นรายเดือนแบบอัตราลอยตัวหรือ MRR+1 เท่ากับร้อยละ 14.5 ต่อปี และให้ผู้ให้กู้มีสิทธิขึ้นหรือปรับปรุงอัตราดอกเบี้ยใหม่ตามความเหมาะสม ไม่เกินกว่าที่กฎหมายอนุญาตให้คิดได้โดยไม่ต้องแจ้งให้ผู้กู้ทราบ กำหนดชำระเงินคืนภายในวันที่ 29กันยายน 2538 ตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.4 และจำเลยได้จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 92230 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันในวงเงิน 3,500,000บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 18 ต่อปี หรืออัตราสูงสุดตามที่โจทก์กำหนด ต่อมาจำเลยได้ขอต่ออายุสัญญากู้เงินออกไปจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2539 หลังจากทำสัญญาจำเลยชำระดอกเบี้ยให้โจทก์บางส่วนอันเป็นการผิดเงื่อนไขตามสัญญาครั้งสุดท้ายชำระเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2539 จำนวน 170,020.55 บาท ตามบัญชีลูกหนี้เอกสารหมาย จ.9 หลังจากนั้นจำเลยไม่ชำระอีก
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2538 หรือไม่ที่โจทก์อ้างว่าโจทก์มีสิทธิคิดได้ตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 2 และสัญญาต่อท้ายข้อที่ 2 ประกอบประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเอกสารหมายจ.10 และประกาศเรื่องอัตราดอกเบี้ยและส่วนลดเงินให้สินเชื่อเอกสารหมาย จ.11นั้น เห็นว่า แม้ตามสัญญาข้อ 2 และต่อท้ายสัญญาข้อ 2 จะระบุยอมให้โจทก์ขึ้นหรือปรับปรุงอัตราดอกเบี้ยใหม่ได้ตามความเหมาะสมโดยไม่เกินกว่าที่กฎหมายอนุญาตให้คิดได้โดยไม่ต้องแจ้งให้จำเลยทราบก็เป็นเรื่องที่จำเลยยอมให้โจทก์ปรับขึ้นดอกเบี้ยในกรณีปกติจากอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์คิดจากจำเลยในวันทำสัญญาคืออัตราดอกเบี้ย MRR เท่ากับ 13.5 ต่อปี หาได้มีข้อตกลงให้โจทก์ขึ้นดอกเบี้ยในอัตราใหม่ไม่เกินกว่าที่กฎหมายอนุญาตในกรณีที่จำเลยผิดนัดหรือผิดเงื่อนไขแต่อย่างใดไม่ แม้ตามประกาศของโจทก์เรื่องอัตราดอกเบี้ยและส่วนลดเงินให้สินเชื่อฉบับลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2538 เอกสารหมาย จ.11 ข้อ 6 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลดจะระบุให้คิดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่ผิดเงื่อนไขตามสัญญาไม่เกินร้อยละ 19 ต่อปี ก็เป็นเรื่องให้สิทธิโจทก์ที่จะปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นกว่าอัตราดอกเบี้ยที่คิดตามปกติเท่านั้น ส่วนโจทก์จะมีอำนาจปรับได้หรือไม่ ต้องพิจารณาจากสัญญากู้เงินว่ามีข้อตกลงยินยอมให้ปรับได้หรือไม่ก่อน ทั้งการปรับอัตราดอกเบี้ยในกรณีดังกล่าวเป็นการให้สิทธิพิเศษแก่โจทก์ โดยที่จำเลยไม่อาจโต้แย้งได้ จึงต้องตีความข้อตกลงในสัญญาโดยเคร่งครัด โจทก์เองก็ยอมรับว่าในสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.4 ไม่ได้เขียนข้อตกลงนี้ไว้อย่างชัดแจ้งว่าหากจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามกำหนดหรือผิดเงื่อนไขจำเลยยอมชำระดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี ดังนั้น โจทก์จึงไม่อาจปรับอัตราดอกเบี้ยเป็นร้อยละ 19 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2538 ได้
ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้คิดดอกเบี้ยจากจำเลยนับแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2540 เป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า ศาลชั้นต้นวินิจฉัยโดยรับฟังข้อเท็จจริงว่าเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2539 จำเลยชำระเงินจำนวน 171,020.55 บาท ให้แก่โจทก์ ซึ่งต้องนำไปหักดอกเบี้ยก่อน และเมื่อคิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2538 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยชำระหนี้ครั้งสุดท้ายถึงวันที่ 19 กรกฎาคม 2539 ดอกเบี้ยเป็นเงิน 317,157.53 บาทจำเลยจึงยังคงค้างดอกเบี้ย 146,136.98 บาท ต้นเงินจำนวน 3,500,000 บาทรวมเป็นเงิน 3,646,136.98 บาท ศาลชั้นต้นจึงชอบที่จะพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์นับแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2539 เป็นต้นไป ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้คิดดอกเบี้ยจากจำเลยนับแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2540 เป็นต้นไปจึงไม่ถูกต้อง เพราะเท่ากับจำเลยมิได้ชำระดอกเบี้ยให้โจทก์ในระหว่างวันที่ 20กรกฎาคม 2539 ถึงวันที่ 19 กรกฎาคม 2540”
พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยชำระเงินจำนวน 3,646,136.98 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15.75 ต่อปี ของต้นเงิน 3,500,000 บาท นับแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2539 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น