แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยเลิกจ้างโจทก์ โดยทำเป็นหนังสือและระบุเหตุเลิกจ้างไว้ชัดแจ้งแสดงว่าจำเลยประสงค์จะถือเอาเหตุนั้นเป็นข้ออ้างในการเลิกจ้างหาได้ถือเอาเหตุอื่นด้วยไม่จำเลยจะยกเอาเหตุเลิกจ้างอื่นนอกเหนือจากหนังสือเลิกจ้างเป็นข้อต่อสู้หาได้ไม่ เมื่อจำเลยมิได้ให้การต่อสู้ว่าศาลแรงงานกลางงดสืบพยานโดยมิได้สอบข้อเท็จจริงถือลักษณะงานว่าต้องตามที่ระบุไว้ในข้อ 46 วรรคท้ายแห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานหรือไม่ การงดสืบพยานดังกล่าวเป็นดุลพินิจของศาล จึงเป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ต้องห้ามอุทธรณ์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างตำแหน่งผู้จัดการทั่วไป มีกำหนดระยะเวลาจ้าง 2 ปี ต่อมาจำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ และให้โจทก์ออกจากงานโดยโจทก์ไม่ได้กระทำผิด ซึ่งตามสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์จำเลย โจทก์มีสิทธิได้รับค่าตั๋วเครื่องบินไปกลับชั้นประหยัด กรุงเทพ-พอร์ทแลนด์ออรีกอน ประเทศสหรัฐอเมริกา และค่าตั๋วเครื่องบินเที่ยวเดียวกรุงเทพ-พอร์ทแลนด์ออรีกอน ประเทศสหรัฐอเมริกาพร้อมจัดการส่งทรัพย์สินส่วนตัวของโจทก์ เมื่อโจทก์พ้นจากการเป็นลูกจ้างหลังจากทำงานเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี ขอให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยและค่าตั๋วเครื่องบินไปกลับกรุงเทพ-พอร์ทแลนด์รวม 341,250 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ตามกำหนดระยะเวลาจ้าง 2 ปี ซึ่งจำเลยได้แจ้งให้โจทก์ทราบล่วงหน้าแล้ว กับโจทก์ปฏิบัติงานด้วยความประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ในค่าชดเชย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 331,250 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้อง จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยเลิกจ้างลูกจ้างโดยทำเป็นหนังสือและระบุเหตุเลิกจ้างไว้ชัดแจ้ง แสดงว่าจำเลยประสงค์จะถือเอาเหตุนั้นเป็นข้ออ้างในการเลิกจ้างหาได้ถือเอาเหตุอื่นด้วยไม่ ดังนั้น เมื่อจำเลยถูกโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างฟ้องร้องต่อศาล จำเลยจะยกเอาเหตุเลิกจ้างอื่นนอกเหนือจากหนังสือเลิกจ้างเป็นข้อต่อสู้หาได้ไม่ ตามหนังสือเลิกจ้างเอกสารหมาย จ.ล.3 อ้างเหตุเลิกจ้างไว้เพียงว่าเป็นการสิ้นสุดสัญญาจ้าง ฉะนั้น จำเลยจะให้การต่อสู้ว่าโจทก์ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงซึ่งเป็นการยกเหตุอื่นนอกเหนือจากหนังสือเลิกจ้างขึ้นเป็นข้อต่อสู้หาได้ไม่ เหตุเลิกจ้างตามที่จำเลยอ้างในหนังสือเลิกจ้างนั้น ไม่ต้องด้วยข้อ 47 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงานจำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยแม้ศาลแรงงานกลางจะมิได้กำหนดเหตุเลิกจ้างดังกล่าวเป็นประเด็นข้อพิพาท ก็มิได้ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด ศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยอุทธรณ์ในข้อต่อไปว่า ศาลแรงงานกลางงดสืบพยานคู่ความโดยมิได้สอบข้อเท็จจริงให้ปรากฏถึงลักษณะของงานที่ว่าจ้างว่าต้องตามที่ระบุไว้ในข้อ 46 วรรคท้าย แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน หรือไม่ เห็นว่าเมื่อจำเลยมิได้ให้การต่อสู้ในข้อดังกล่าวไว้ การที่ศาลแรงงานกลางงดสืบพยานคู่ความโดยมิได้สอบข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นดุลพินิจของศาลแรงงานกลางซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามมาตรา 54 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายืน