คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 951/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งหกเบิกความเท็จ และแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ ในคดีที่จำเลยที่ 2 ร้องขอให้ศาลสั่งว่า อ. เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ และขอให้ตั้งจำเลยที่ 2 เป็นผู้พิทักษ์ กับคดีที่จำเลยที่ 2 ร้องขอให้ศาลสั่งว่า อ. เป็นคนไร้ความสามารถ และตั้งจำเลยที่ 2 เป็นผู้อนุบาล โดยโจทก์อ้างว่าจำเลยเบิกความและแสดงหลักฐานว่าจำเลยที่ 2 เป็นบุตร อ.ซึ่งเป็นความเท็จ ดังนี้ เมื่อโจทก์มิได้เป็นคู่ความในคดีทั้งสอง การเบิกความก็ดี การนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานก็ดี เป็นการกระทำต่อศาล เนื้อความก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับ อ. มิได้เกี่ยวกับโจทก์ คดีเป็นเพียงเรื่องขอให้สั่งให้ อ. เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถและไร้ความสามารถเท่านั้น แม้โจทก์จะเป็นทายาทอันดับ 3 ความเท็จที่จำเลยเบิกความหรือนำสืบยังไม่กระทบกระเทือนต่อสิทธิหรือส่วนได้เสียของโจทก์โดยตรง โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายอันจะมีอำนาจฟ้องคดีในความผิดดังกล่าว
ส่วนความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมนั้น โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 2 ปลอมสูติบัตรของจำเลยที่ 2 และจำเลยทั้งหกร่วมกันปลอมสำเนาทะเบียนบ้านของจำเลยทั้งหก แล้วใช้อ้างเป็นพยานต่อศาลในคดีที่ร้องขอให้ อ. เป็นคนไร้ความสามารถ สูติบัตร และสำเนาทะเบียน ต่างเป็นเอกสารที่เจ้าหน้าที่ของรัฐทำขึ้น หากจะมีการปลอมแปลงก็มิใช่เป็นการกระทำต่อโจทก์ ข้อความในสูติบัตรและสำเนาทะเบียนบ้านไม่เกี่ยวกับโจทก์ การอ้างเอกสารดังกล่าวเป็นพยานก็กระทำต่อศาล มิได้กระทำต่อโจทก์ โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหายในความผิดดังกล่าวเช่นเดียวกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบุตรของนายเสริญ นางจัด ลี้ศิริเสริญมีพี่น้องร่วมบิดามารดารวม ๖ คนคือนางทุเรียน ประดิษฐ์พงษ์สุเมธ นางกุ่ย โสภณ (ตาย) นายอ๊อด ลี้ศิริเสริญ (ตาย) โจทก์นางมุย พรหมณเรศและนางปราณี ฉายางกูร จำเลยที่ ๑ เป็นภริยาของนายอ๊อด ลี้ศิริเสริญ อยู่กินฉันสามีภริยา แต่เพิ่งจดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๒๑ ไม่มีบุตรด้วยกัน จนกระทั่งนายอ๊อดตายเมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๒๕ จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๕ เป็นบุตรของนายใบ นางมุย พรหมณเรศ นำมาฝากให้นายอ๊อดเลี้ยง โดยนายอ๊อดให้ใช้นามสกุลด้วยจำเลยที่ ๖ เป็นบุตรของนายกัง แซ่ตั้งและนางอารีย์ ตรีบูร ภายหลังแอบอ้างใช้นามสกุล ลี้ศิริเสริญ ด้วยโจทก์เป็นทายาทโดยธรรมอันดับ ๓ ของนายอ๊อดมีสิทธิรับมรดกของนายอ๊อดเช่นเดียวกับจำเลยที่ ๑ เนื่องจากนายอ๊อดไม่มีผู้สืบสันดานและบิดามารดาถึงแก่กรรมไปก่อนแล้ว ก่อนตายนายอ๊อดได้ทำพินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ ยกทรัพย์ให้แก่บุคคลหลายคนรวมทั้งโจทก์และจำเลยบางคน จำเลยทั้งหกได้ร่วมกันกระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ (ก.) จำเลยที่ ๑ ได้ยื่นคำร้องข้อความเท็จต่อศาลแพ่งโดยอ้างว่าจำเลยที่ ๒ เป็นบุตรของนายอ๊อดและจำเลยที่๑ และว่านายอ๊อดมีบุตรชอบด้วยกฎหมายรวม ๕ คนคือจำเลยที่ ๒ถึงที่ ๖ ขอให้ศาลสั่งว่านายอ๊อดเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถและให้อยู่ในความพิทักษ์ของจำเลยที่ ๒ (ข.) จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๖ ได้ร่วมกันทำหนังสือยินยอมให้จำเลยที่ ๒ เป็นผู้พิทักษ์ของนายอ๊อดบิดาของจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๖ ซึ่งเป็นความเท็จความจริงจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๖ รู้ดีอยู่แล้วว่าตนมิได้เป็นบุตรของนายอ๊อดทั้งนี้ โดยจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๖ มีเจตนาจะให้จำเลยที่๑ และที่ ๒ นำไปแสดงต่อศาลในการพิจารณาคดี (ค.) จำเลยที่ ๑ ได้เบิกความในการพิจารณาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๕๙๔๒/๒๕๒๔ ของศาลแพ่งว่า จำเลยที่ ๑ เป็นภริยาของนายอ๊อด จดทะเบียนสมรสกันมาประมาณ ๔๐ ปีมีบุตรด้วยกัน ๕ คนคือจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ ซึ่งเป็นความเท็จและเป็นข้อสำคัญในคดีจนศาลแพ่งหลงเชื่อมีคำสั่งให้นายอ๊อดเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถและให้อยู่ในความพิทักษ์ของจำเลยที่ ๒ ความจริงจำเลยที่ ๑ รู้ดีอยู่แล้วว่า จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ เป็นบุตรของนายใบนางมุย พรหมณเรศและจำเลยที่ ๖ เป็นบุตรของนายกัง แซ่ตั้ง กับนางอารีย์ ตรีบูร (ง.) จำเลยที่ ๒ ได้เบิกความและนำสืบแสดงหลักฐานเท็จต่อศาลแพ่งในคดีดังกล่าวว่า จำเลยที่ ๒ เป็นบุตรของจำเลยที่ ๑ และนายอ๊อดมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๕ คนคือจำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๖ โดยแสดงสูติบัตรของจำเลยที่ ๒ และหนังสือให้ความยินยอมอันเป็นเอกสารเท็จที่ทำขึ้นตามฟ้องข้อ ก. ความจริงจำเลยที่ ๒ รู้ดีอยู่แล้วว่าตนเองและจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๖ มิได้เป็นบุตรของนายอ๊อดและจำเลยที่ ๑ ข้อความที่จำเลยที่ ๒ เบิกความเป็นข้อสำคัญในคดีเป็นเหตุให้ศาลแพ่งหลงเชื่อว่าเป็นความจริงและมีคำสั่งให้นายอ๊อดเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถให้อยู่ในความพิทักษ์ของจำเลยที่ ๒ (จ.) จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๕ ได้ร่วมกันทำหนังสือยินยอมให้จำเลยที่ ๒ ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งขอให้มีคำสั่งให้นายอ๊อดเป็นคนไร้ความสามารถและให้อยู่ในความอนุบาลของจำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๑ ได้ลงนามแทนจำเลยที่ ๖ ในหนังสือให้ความยินยอมดังกล่าวเพื่อให้ศาลเชื่อว่าจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ เป็นบุตรของนายอ๊อดและจำเลยที่ ๑ เพื่อให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ นำไปแสดงต่อศาล (ฉ.) จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๕ ได้ให้จำเลยที่ ๒ ไปยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งเป็นคดีหมายเลขดำที่๑๑๓๕๔/๒๕๒๔ ขอให้ศาลสั่งว่านายอ๊อดเป็นคนไร้ความสามารถและอยู่ในความอนุบาลของจำเลยที่ ๒ โดยอ้างว่าจำเลยที่ ๒ เป็นบุตรของนายอ๊อดกับจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นความเท็จและต่อมาจำเลยที่ ๑ ได้เบิกความต่อศาลแพ่งในคดีดังกล่าวว่าจำเลยที่ ๑ เป็นภริยาของนายอ๊อดมีบุตรด้วยกัน ๕ คนคือจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ พร้อมกับแสดงหนังสือให้ความยินยอมตามฟ้องข้อ จ. ต่อศาลและในวันเดียวกัน จำเลยที่ ๒ ได้เบิกความและนำสืบแสดงหลักฐานเท็จต่อศาลแพ่งในคดีดังกล่าวว่าจำเลยที่ ๒ เป็นบุตรของนายอ๊อดแล้วแสดงสูติบัตรของจำเลยที่ ๒ ที่ทำปลอมขึ้นและเบิกความต่อไปว่ามีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันรวม ๕ คน คือจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ โดยอ้างสำเนาทะเบียนบ้าน ซึ่งเป็นเอกสารที่จำเลยทั้งหกปลอมขึ้นแสดงต่อศาลและเบิกความส่งหนังสือให้ความยินยอมตามฟ้องข้อ จ. ต่อศาลซึ่งเป็นเอกสารเท็จและเป็นข้อสำคัญในคดีดังกล่าว การกระทำของจำเลยทั้งหกเป็นการทำหลักฐานเท็จ และนำสืบแสดงพยานหลักฐานเท็จซึ่งเป็นข้อสำคัญในคดีเป็นเหตุให้ศาลหลงเชื่อ จึงมีคำสั่งให้นายอ๊อดเป็นคนไร้ความสามารถและให้อยู่ในความอนุบาลของจำเลยที่ ๒ ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๗๗, ๑๘๐, ๒๖๔, ๒๖๕, ๒๖๘, ๘๓,๙๑ ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๑ ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๑๔ข้อ ๒
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล สั่งประทับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณา
จำเลยทั้งหกให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ที่พิพากษาคดีอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาในชั้นนี้ว่า โจทก์เป็นผู้เสียหายอันจะมีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ และจำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่พิเคราะห์แล้ว ในปัญหาที่ว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายอันจะมีอำนาจฟ้องหรือไม่นั้น โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๗๗, ๑๘๐, ๒๖๔, ๒๖๕ และ ๒๖๘ สำหรับในข้อหาฐานเบิกความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๗๗ กับข้อหาฐานนำสืบแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๘๐ นั้นเห็นว่าในคดีทั้งสองเรื่องดังกล่าวที่จำเลยที่ ๒ ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่ง โจทก์มิได้เป็นคู่ความในคดี การเบิกความก็ดี การนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานก็ดี เป็นการกระทำต่อศาลเนื้อความก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับนายอ๊อดมิได้เกี่ยวกับโจทก์ คดีก็เป็นเพียงเรื่องการขอให้สั่งให้นายอ๊อดเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถและไร้ความสามารถเท่านั้น แม้โจทก์จะเป็นทายาทอันดับ ๓ ความเท็จที่จำเลยเบิกความหรือนำสืบก็ยังไม่กระทบกระเทือนต่อสิทธิหรือส่วนได้เสียของโจทก์โดยตรง โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหายอันจะมีอำนาจฟ้องคดีในความผิดสองข้อหานี้
ส่วนในความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๔, ๒๖๕ และ ๒๖๘ นั้นโจทก์อ้างว่า จำเลยที่๒ ปลอมสูติบัตรของจำเลยที่ ๒ และจำเลยทั้งหกร่วมกันปลอมสำเนาทะเบียนบ้านของจำเลยทั้งหกขึ้น แล้วใช้อ้างเป็นพยานต่อศาลในคดีที่จำเลยที่ ๒ ร้องขอให้ศาลสั่งให้นายอ๊อดเป็นคนไร้ความสามารถดังกล่าวมาแล้วข้างต้น เห็นว่า สูติบัตรก็ดีสำเนาทะเบียนบ้านก็ดี เป็นเอกสารที่เจ้าหน้าที่ของรัฐทำขึ้น หากจะมีการปลอมแปลงอย่างไรก็มิใช่กระทำต่อโจทก์ และใจความตามเอกสารสูติบัตรก็เป็นการระบุว่าจำเลยที่ ๒ เป็นบุตรของนายอ๊อด ส่วนสำเนาทะเบียนบ้านก็ระบุว่าจำเลยทั้งหกอยู่บ้านเดียวกับนายอ๊อด ไม่เกี่ยวกับโจทก์แต่อย่างใด ส่วนการใช้อ้างเป็นพยานต่อศาลก็เป็นการกระทำต่อศาล มิได้กระทำต่อโจทก์ โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารปลอมในคดีนี้เช่นกัน ศาลอุทธรณ์เห็นว่าโจทก์มิใช่ผู้เสียหายที่จะมีอำนาจฟ้อง ศาลฎีกาเห็นด้วยในผล ไม่ต้องวินิจฉัยว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่
พิพากษายืน.

Share