คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9504/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

บันทึกข้อตกลงตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีที่ผู้ร้อง ผู้คัดค้านและ ว. ทำกันหน้าเจ้าพนักงานตำรวจมีข้อความชัดแจ้งว่า ผู้ร้องและ ว. ขอสละกรรมสิทธิ์ในทรัพย์มรดกให้แก่ผู้คัดค้านและยอมให้ผู้คัดค้านเป็นผู้ดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์มรดกแต่เพียงผู้เดียว แต่การเจาะจงให้ทรัพย์มรดกแก่ผู้คัดค้านเช่นนี้เป็นการยกทรัพย์มรดกส่วนของตนให้แก่ทายาทคนใดคนหนึ่ง ไม่ใช่การสละมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1612 อย่างไรก็ดีแม้ข้อตกลงระหว่างผู้ร้องและ ว. ฝ่ายหนึ่งกับผู้คัดค้านอีกฝ่ายหนึ่ง ดังกล่าว จะไม่ใช่หนังสือสละมรดกตามกฎหมายแต่ก็มีลักษณะเป็นสัญญาแบ่งปันทรัพย์มรดก เมื่อทั้งสองฝ่ายลงลายมือชื่อไว้ในหนังสือดังกล่าวแล้ว ย่อมผูกพันคู่สัญญาตามมาตรา 1750 วรรคสองผู้ร้องจึงไม่ใช่ทายาทผู้มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกหรือผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกและไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอต่อศาลขอให้ตั้ง ว. เป็นผู้จัดการมรดกผู้ตาย

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งตั้งนางเวียง สอนดี เป็นผู้จัดการมรดกผู้ตาย

ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านขอให้ยกคำร้องขอ และตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกรายนี้

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอของผู้ร้องและผู้คัดค้าน

ผู้ร้องอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน

ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้ร้อง ผู้คัดค้านและนางเวียง สอนดี เป็นบุตรของผู้ตาย หลังจากผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว นางเฮืองหอมอินทร์เป็นผู้จัดการมรดกผู้ตาย แต่นางเฮืองยักยอกทรัพย์มรดก ผู้คัดค้าน ผู้ร้องและนางเวียงจึงปรึกษาหารือและทำบันทึกข้อตกลงกันต่อหน้าเจ้าพนักงานตำรวจตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2534 เอกสารหมาย ร.ค.1 หลังจากนั้นผู้คัดค้านได้ร้องขอต่อศาลให้ถอนนางเฮืองออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกศาลไต่สวนคำร้องแล้วมีคำสั่งให้ถอนนางเฮืองออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกผู้ตายตามคำร้องขอของผู้คัดค้าน มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้ร้องมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งนางเวียงเป็นผู้จัดการมรดกผู้ตายหรือไม่ ที่ผู้ร้องฎีกาว่าข้อความในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย ร.ค.1 เป็นเรื่องที่ผู้ร้องและนางเวียงไม่ประสงค์จะดำเนินคดีแก่นางเฮือง มิได้มีเจตนาสละมรดก จึงไม่ใช่หนังสือสละมรดกตามกฎหมายนั้น ผู้คัดค้านเบิกความถึงเหตุที่ต้องทำบันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย ร.ค.1 ก็เพราะนางเฮืองผู้จัดการมรดกผู้ตายยักยอกทรัพย์มรดกเป็นของนางเฮืองแต่ผู้เดียวเมื่อผู้คัดค้านนำเรื่องนี้ไปปรึกษาหารือกับผู้ร้องและนางเวียงซึ่งเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดก ผู้ร้องและนางเวียงแจ้งว่าไม่ขอเกี่ยวข้องกับมรดกรายนี้ จึงพากันไปทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าวไว้เป็นหลักฐาน ศาลฎีกาตรวจดูบันทึกข้อตกลงฉบับนี้แล้วเห็นว่ามีข้อความชัดแจ้งว่าผู้ร้องและนางเวียงขอสละกรรมสิทธิ์ในทรัพย์มรดกให้แก่ผู้คัดค้านและยอมให้ผู้คัดค้านเป็นผู้ดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์มรดกแต่เพียงผู้เดียวจริง แต่การเจาะจงให้ทรัพย์มรดกตกแก่ผู้คัดค้านเช่นนี้เป็นการยกทรัพย์มรดกส่วนของตนให้แก่ทายาทคนใดคนหนึ่ง ไม่ใช่การสละมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1612 อย่างไรก็ดีแม้ข้อตกลงระหว่างผู้ร้องและนางเวียงฝ่ายหนึ่งกับผู้คัดค้านอีกฝ่ายหนึ่งตามเอกสารหมาย ร.ค.1 จะไม่ใช่หนังสือสละมรดกตามกฎหมาย แต่ก็มีลักษณะเป็นสัญญาแบ่งปันทรัพย์มรดก เมื่อทั้งสองฝ่ายลงลายมือชื่อไว้ในหนังสือดังกล่าวแล้ว ย่อมผูกพันคู่สัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1750 วรรคสอง ผู้ร้องจึงไม่ใช่ทายาทผู้มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกหรือผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกและไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอต่อศาลขอให้ตั้งนางเวียงเป็นผู้จัดการมรดกผู้ตาย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share