คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9502/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แบบพิมพ์อุทธรณ์ที่จำเลยใช้มีสาระสำคัญเหมือนกับกระดาษแบบพิมพ์ที่ศาลจัดไว้จะต่างกันบ้างก็เพียงเล็กน้อยและมิใช่สาระสำคัญทั้งศาลชั้นต้นก็สั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยโดยมิได้สั่งให้ทำใหม่เสียให้ถูกต้องดังนี้อุทธรณ์ของจำเลยชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คให้แก่โจทก์1 ฉบับ เพื่อชำระหนี้เงินยืมซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย ต่อมาเช็คฉบับดังกล่าวไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้เหตุเกิดที่ตำบลโพธาราม อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2534 มาตรา 4
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลย ให้การ ปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ลงโทษจำคุก3 เดือน เนื่องจากจำเลยนำสืบรับในข้อเท็จจริงเป็นประโยชน์แก่การพิจารณานับเป็นเหตุบรรเทาโทษ จึงลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 เดือน
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์เกินกว่า 50 บาท จำเลยลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้ในหนังสือสัญญากู้เงินตามกฎหมายใหม่ตามเอกสารหมาย จ.1 และลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คตามเอกสารหมาย จ.2 มอบแก่โจทก์ โจทก์นำเช็คดังกล่าวไปขึ้นเงิน ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการใช้เงินโดยอ้างเหตุว่าบัญชีปิดแล้ว และลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายไม่เหมือนกับตัวอย่างที่ให้ไว้ ตามหนังสือสัญญากู้เงินมีกำหนดเวลา 4 เดือน คดีมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า การที่จำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยมิได้จัดทำตามแบบพิมพ์ที่จัดไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 67 วรรคสอง อุทธรณ์ของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่าแบบพิมพ์อุทธรณ์ที่จำเลยใช้มีสาระสำคัญเหมือนกับกระดาษแบบพิมพ์ที่ศาลจัดไว้ จะต่างกันบ้างก็เพียงเล็กน้อยและมิใช่สาระสำคัญ ทั้งศาลชั้นต้นก็สั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยโดยมิได้สั่งให้ทำใหม่เสียให้ถูกต้อง ดังนี้ พอถือได้ว่าอุทธรณ์ของจำเลยชอบแล้ว
คดีมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ประการสุดท้ายว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีประจักษ์พยานที่รู้เห็นการกู้ยืมเงินว่าจำนวนเท่าใดมาเบิกความเพียงปากเดียวคือตัวโจทก์ทั้ง ๆ ที่ตามหนังสือสัญญากู้เงินตามกฎหมายใหม่ตามเอกสารหมาย จ.1มีลายมือชื่อนายดาบตำรวจไพรัตน์เป็นผู้เขียนสัญญาและพยานแต่โจทก์มิได้นำนายดาบตำรวจไพรัตน์มาเบิกความเป็นพยาน และยังได้ความจากพยานโจทก์ว่า จำเลยกู้ยืมเงินไปแล้ว 3 เดือนเศษจำเลยนำเงินสดจำนวน 2,000 บาท มามอบแก่โจทก์เป็นการชำระดอกเบี้ยและมอบเช็คจำนวนเงิน 60,000 บาท แก่โจทก์เท่านั้น ทั้ง ๆ ที่ระยะเวลากู้ยืมเงินกำหนด 4 เดือน ดอกเบี้ยน่าจะมากกว่า 2,000 บาทจึงน่าเชื่อว่า จำเลยกู้ยืมเงินจากโจทก์เพียง 20,000 บาท เท่านั้นส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ 60,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราสูงสุดตามกฎหมายร้อยละ 15 ต่อปี ดอกเบี้ยนับแต่วันที่กู้ถึงวันที่ออกเช็คคิดเป็นดอกเบี้ยถึง 3,000 บาท แต่โจทก์ขอคิดเพียง 2,000 บาท นั้น โจทก์ก็ไม่ได้นำสืบให้เห็นเป็นเช่นนั้นเพิ่งจะกล่าวอ้างในชั้นฎีกาว่ามีการคิดดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวทั้งยังขัดกับสัญญากู้เงินตามกฎหมายใหม่เอกสารหมาย จ.1 ที่มิได้ระบุอัตราดอกเบี้ยไว้พยานโจทก์จึงเลื่อนลอยไม่น่าเชื่อถือว่ารับฟังไม่ได้ ที่จำเลยต่อสู้ว่าหนังสือสัญญากู้และเช็คมีการกรอกข้อความภายหลังจึงน่าเชื่อถือ และเมื่อฟังได้ว่าจำเลยมอบเช็คแก่โจทก์โดยมิได้กรอกข้อความในเช็ค การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง
พิพากษายืน

Share