คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9376/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความเสียหายอันเนื่องมาจากการที่โจทก์ต้องจ้างบริษัทอื่นมาดำเนินการต่อและต้องเสียค่าจ้างเพิ่มขึ้นมีจำนวนมากกว่าค่าปรับที่เป็นค่าเสียหายที่กำหนดไว้ล่วงหน้าเมื่อโจทก์เจ้าหนี้ได้รับค่าเสียหายเต็มตามความเสียหายก็เท่ากับรวมเอาเบี้ยปรับในฐานะเป็นค่าเสียหายที่เป็นจำนวนน้อยที่สุดไว้ด้วยแล้วจึงไม่มีเหตุที่โจทก์จะเรียกเอาค่าปรับได้อีกหากจะกำหนดค่าปรับให้แก่โจทก์อีกจะเป็นการให้ค่าเสียหายซ้ำซ้อนกันและตามสัญญาข้อ5วรรคสุดท้ายกำหนดไว้ว่า”ผู้ว่าจ้างทรงไว้ซึ่งสิทธิที่จะเรียกร้องให้ผู้รับจ้างชดใช้แต่ค่าปรับอย่างเดียวหรือค่าเสียหายและริบสัมภาระอุปกรณ์การก่อสร้างดังกล่าวในข.ค.ด้วยหรือไม่ก็ได้”จากข้อสัญญาดังกล่าวจะเห็นว่าข้อสัญญาได้ใช้คำว่าเรียกค่าปรับหรือค่าเสียหายอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้นโดยผู้ว่าจ้างเป็นผู้เลือกเมื่อศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยชำระค่าเสียหายอันเป็นจำนวนเงินมากกว่าค่าปรับแก่โจทก์โดยให้นำค่าปรับที่จำเลยที่1ได้ชำระให้โจทก์ไว้แล้วมาหักออกก่อนจึงเป็นการชอบด้วยข้อกฎหมายและข้อสัญญาดังกล่าวแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่1ชำระเงินจำนวน1,278,057.68บาทแทนที่จะพิพากษาให้จำเลยที่1ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสิ้น1,279,057.68บาทเป็นเพราะศาลอุทธรณ์เขียนจำนวนค่าจ้างส่วนที่เพิ่มขึ้นจากสัญญาเดิมผิดพลาดไปจากจำนวนที่ถูกต้องคือจำนวน973,587.45บาทเป็นจำนวน972,587.45บาทจึงทำให้คำนวณค่าเสียหายเมื่อหักเงินค่าปรับจำนวน258,000บาทที่จำเลยที่1ชำระให้โจทก์ออกแล้วผิดพลาดขาดจำนวนไป1,000บาทอันเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อยศาลฎีกาจึงเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา143

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ทำการบูรณะราดยางทางหลวงจังหวัด 2 สัญญา สัญญาฉบับแรกให้ทำการบูรณะราดยางทางหลวงจังหวัดหมายเลข 2127 สายขุนหาญ – สำโรงเกียรติระยะทางยาว 4,400 กิโลเมตรที่อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษในราคา 3,791,700 บาท สัญญาฉบับหลังให้ทำการบูรณะราดยางทางหลวงจังหวัดหมายเลข 2111 สายสี่แยกบ้านพยุห์-อำเภอขุนหาญจังหวัดศรีสะเกษ ระยะทางยาว 4,300 กิโลเมตร ในราคา3,034,520 บาท ในการรับจ้างดังกล่าว จำเลยที่ 1 ได้นำหนังสือค้ำประกันของจำเลยที่ 2 มาวางไว้แก่โจทก์ ตามสัญญาฉบับแรกจำเลยที่ 1 ต้องลงมือทำการก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2522ครบกำหนดแล้วเสร็จในวันที่ 8 ตุลาคม 2522 สัญญาฉบับหลังจำเลยที่ 1 จะต้องลงมือทำการก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน2522 แล้วเสร็จในวันที่ 7 ตุลาคม 2522 นับตั้งแต่จำเลยที่ 1ทำสัญญารับจ้างกับโจทก์ จำเลยที่ 1 ทำงานไม่แล้วเสร็จ กล่าวคือตามสัญญาฉบับแรกจำเลยที่ 1 ทำงานได้ผลงานเพียง 31.40 เปอร์เซ็นต์แล้วหยุดงานไป สัญญาฉบับหลังได้ผลงานเพียง 1.3 เปอร์เซ็นต์แล้วก็หยุดงานไปเช่นเดียวกัน โจทก์ได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือดังกล่าวแล้ว ตามสัญญาที่ทำต่อกันกำหนดไว้ว่า หากจำเลยที่ 1 มิได้ลงมือทำงานภายในกำหนดก็ดี หรือในการทำงานมีเหตุให้โจทก์เห็นว่าจำเลยที่ 1จะทำงานไม่แล้วเสร็จบริบูรณ์ภายในกำหนดก็ดีหรือล่วงกำหนดเวลาแล้วเสร็จบริบูรณ์ก็ดี หรือจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาข้อใดข้อหนึ่งก็ดีโจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้และการที่โจทก์ให้จำเลยที่ 1 ทำการล่วงกำหนดเวลาไปนั้น ไม่ได้หมายความว่าโจทก์ผ่อนเวลาให้จำเลยที่ 1อันจะไม่ต้องรับผิดตามสัญญา ในกรณีมีการผิดสัญญาจะเป็นเรื่องที่โจทก์บอกเลิกสัญญาหรือจำเลยที่ 1 ทำการล่วงเลยกำหนดเวลาจำเลยที่ 1 ยอมรับผิดชำระค่าปรับวันละ 1,500 บาท จนกว่างานจะแล้วเสร็จโดยการกระทำของตนเองหรือการกระทำของผู้รับจ้างคนใหม่ โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายที่ต้องเสียไปเนื่องจากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาทั้งผลโดยตรงและเกี่ยวเนื่องจากเหตุที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญา และบรรดาสิ่งก่อสร้าง สัมภาระอุปกรณ์ในการก่อสร้างของจำเลยที่ 1 ให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์เมื่อบอกเลิกสัญญาแล้ว โจทก์มีสิทธิตามสัญญาข้อ 6 ที่จะว่าจ้างผู้อื่นให้ทำงานต่อไปจนแล้วเสร็จ โดยอาศัยจำนวนเงินที่ยังเหลือจ่ายแก่จำเลยที่ 1 หากเงินค่าจ้างเหลือจ่ายไม่พอจ้างผู้อื่นทำงานต่อจนเสร็จบริบูรณ์ตามสัญญาแล้ว เงินค่าจ้างที่เกินกว่าจำนวนเงินค่าจ้างของจำเลยที่ 1 ที่เหลือ จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ แต่ถ้างานแล้วเสร็จมีเงินค่าจ้างตามสัญญาที่หักจ่ายค่าปรับและค่าเสียหายแล้วยังเหลืออยู่เท่าใด โจทก์จะจ่ายให้จำเลยที่ 1 ทั้งหมด เมื่อสิ้นสุดกำหนดเวลาตามสัญญาฉบับแรกโจทก์ได้จ่ายค่างานให้จำเลยที่ 1 ไปจำนวน 1,322,948.16 บาทคงเหลือเงินค่างาน 2,379,510.78 บาท โจทก์ได้ว่าจ้างบริษัทวนิชชัยก่อสร้าง (1979) จำกัด ทำงานต่อจนแล้วเสร็จโจทก์ต้องจ่ายเงินค่างานในราคาต่อหน่วยที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นเงิน973,587.45 บาท จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิด นอกจากนี้โจทก์ยังมีสิทธิริบเงินประกันสัญญาจำนวน 189,585 บาท ค่าปรับรายวันวันละ 1,500 บาท นับแต่วันผิดสัญญาถึงวันบอกเลิกสัญญารวม404 วัน เป็นเงิน 606,000 บาท เมื่อหักกลบลบหนี้ที่จำเลยที่ 1 มีต่อโจทก์แล้วจำเลยทั้งสองจะต้องชำระให้โจทก์ตามสัญญาฉบับแรกจำนวน 1,296,177.26 บาท และเมื่อสิ้นสุดกำหนดเวลาตามสัญญาฉบับหลัง จำเลยที่ 1 ทำงานได้ผลงานเพียง 1.3 เปอร์เซ็นต์ โจทก์จึงได้ว่าจ้างบริษัทสระหลวงก่อสร้างจำกัด ทำงานต่อจนเสร็จบริบูรณ์ โจทก์ต้องจ่ายค่างานในราคาต่อหน่วยสูงขึ้นเป็นเงิน 563,470.23 บาท จำเลยทั้งสองต้องรับผิดนอกจากนี้โจทก์ยังมีสิทธิริบเงินประกันสัญญาจำนวน 151,726 บาทค่าปรับรายวันวันละ 1,500 บาท นับแต่วันผิดสัญญาถึงวันบอกเลิกสัญญารวม 405 วัน เป็นเงิน 607,500 บาท เมื่อหักกลบลบหนี้ที่จำเลยที่ 1มีต่อโจทก์แล้วจำเลยทั้งสองต้องชำระให้โจทก์ตามสัญญาฉบับหลังเป็นเงิน 1,322,696.23 บาท รวมหนี้สินทั้งสองสัญญาจำเลยทั้งสองต้องร่วมกันชดใช้แก่โจทก์เป็นเงินทั้งสิ้น 2,618,873.49 บาทโดยมีส่วนที่จำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดจำนวน 341,311 บาทการที่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมชำระหนี้จำนวนดังกล่าวเมื่อพ้นกำหนด 30 วันนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้คือนับแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน 2530 ถึงวันฟ้องโจทก์ขอคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นดอกเบี้ยจำนวน 317,909.75 บาทรวมเป็นเงินที่จะต้องชำระแก่โจทก์จำนวน 2,595,472.20 บาทจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยในอัตราเดียวกันคำนวณถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ยจำนวน 49,205.66 บาท รวมกับต้นเงินเป็นจำนวนทั้งสิ้น 390,566.16 บาทโจทก์ทวงถามแล้วจำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 2,985,988.80 บาท โดยให้จำเลยที่ 2 รับผิดเพียงจำนวน 390,516.66 บาท แก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน2,618,873.49 บาท เฉพาะจำเลยที่ 2 ในต้นเงิน 341,311 บาทนับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ตามสัญญาฉบับแรกเมื่อมีการผิดสัญญาตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2522 แต่โจทก์บอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่15 พฤศจิกายน 2523 นับว่าเป็นเวลาเนิ่นนานเกินควรมีเจตนาให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหายสูงเกินเหตุเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต การที่โจทก์ไปว่าจ้างบริษัทวนิชชัย*ก่อสร้าง (1979) จำกัด มาดำเนินการต่อก็เป็นการให้ค่าจ้างที่สูงเกินส่วนทั้ง ๆ ที่มีเนื้องานเหลืออยู่เพียง 98.60 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น ดังนั้น จำนวนเงินส่วนที่เพิ่มจากสัญญาเดิม 973,587.45 บาท จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดนอกจากนี้ค่าปรับรายวัน วันละ 1,500 บาท ก็สูงเกินไปเพราะจำเลยที่ 1 เคยชำระค่าปรับให้โจทก์ไปบ้างแล้วจำนวนถึง 258,000 บาทซึ่งน่าจะเพียงพอ ดังนั้น ส่วนที่เกินจากนี้จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดอีก และตามสัญญาฉบับหลังก็เช่นเดียวกัน โจทก์เรียกค่าปรับรายวันจากจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 607,500 บาท แล้วโจทก์จะเรียกเอาค่าจ้างที่เพิ่มสูงจากสัญญาเดิมอีก563,470.23 บาท อีกหาชอบไม่ ดังที่จำเลยที่ 1 ได้กล่าวมาแล้วโจทก์บอกเลิกสัญญาเนิ่นช้าเกินควรเป็นเหตุให้ค่าจ้างสูงขึ้นโจทก์มีเจตนากลั่นแกล้งจำเลยที่ 1 ให้ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1จึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งนี้เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญา โจทก์มีสิทธิยึดหน่วงค่าจ้างไว้ได้ แต่โจทก์กลับจ่ายค่าจ้างให้จำเลยที่ 1 ไปเป็นเงิน1,322,948.16 บาท เป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 ไม่อาจรับช่วงได้จำเลยที่ 2 จึงพ้นความรับผิด โจทก์ไม่อาจเรียกเงินประกันจากจำเลยที่ 2 ได้อีก การที่โจทก์ไปว่าจ้างบริษัทวนิชชัยก่อสร้าง (1979) จำกัด และบริษัทสระหลวงก่อสร้างจำกัด มาดำเนินการต่อ ก็ว่าจ้างในราคาสูงเกินเหตุ เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน2,173,062.49 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน 2530 จนว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์จากยอดเงินจำนวน 2,173,062.49 บาท นี้ ให้จำเลยที่ 2ผู้ค้ำประกันร่วมรับผิดชำระในวงเงินที่ประกัน 341,311 บาทโดยโจทก์ไม่ต้องเรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระก่อนพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2530จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
โจทก์ และ จำเลย ที่ 1 อุทธรณ์ โดย จำเลย ที่ 1 ได้รับ อนุญาตให้ อุทธรณ์ อย่าง คนอนาถา
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 1,278,057.68 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5ต่อปีนับแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน 2530 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เพียงข้อเดียวว่า โจทก์มีสิทธิเรียกค่าปรับอีกนอกเหนือจากค่าเสียหายที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้หรือไม่ ปัญหานี้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 รับจ้างโจทก์ทำการบูรณะราดยางทางหลวงจังหวัด 2 สัญญา ตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.10 และ จ.12จำเลยที่ 1 ทำงานตามที่รับจ้างไม่แล้วเสร็จ โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาทั้งสองฉบับแล้วเรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าปรับและค่าเสียหายอันเนื่องมาจากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ชำระหนี้ โดยตามสัญญาฉบับแรกเบี้ยปรับคิดเป็นรายวันนับแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2522 ถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2523 จำนวน403 วัน วันละ 1,500 บาท เป็นเงิน 604,500 บาท และค่าจ้างส่วนที่เพิ่มขึ้นจากสัญญาเดิมเป็นเงิน 973,587.45 บาท ส่วนสัญญาฉบับหลังเบี้ยปรับคิดเป็นรายวันนับแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2522 ถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2523 รวม 343 วัน วันละ 1,500 บาทเป็นเงิน 504,500 บาท และค่าจ้างส่วนที่เพิ่มขึ้นจากสัญญาเดิมเป็นเงิน 563,470.23 บาท เมื่อรวมเบี้ยปรับและค่าเสียหายอันเกิดจากค่าจ้างส่วนที่เพิ่มขึ้นของสัญญาทั้งสองฉบับแล้วจะเป็นเงินเบี้ยปรับรวม 1,109,000 บาท และเป็นค่าเสียหายเกี่ยวกับค่าจ้างส่วนที่เพิ่มขึ้นจากสัญญาเดิมรวม 1,537,057.68 บาทจำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินเป็นค่าเบี้ยปรับแก่โจทก์แล้วเป็นเงิน258,000 บาท เมื่อหักเงินจำนวน 258,000 บาท ที่จำเลยที่ 1ชำระให้แก่โจทก์ออกแล้ว จำเลยที่ 1 คงต้องชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสิ้น 1,279,057.68 บาท ซึ่งศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายส่วนที่มากกว่าเบี้ยปรับแก่โจทก์เพียงสถานเดียว เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 380 วรรคสอง บัญญัติว่า “ถ้าเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อการไม่ชำระหนี้จะเรียกเอาเบี้ยปรับอันจะพึงริบนั้นในฐานะเป็นจำนวนน้อยที่สุดแห่งค่าเสียหายก็ได้ การพิสูจน์ค่าเสียหายยิ่งกว่านั้นท่านก็อนุญาตให้พิสูจน์ได้” เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้ฟังได้ว่า ความเสียหายอันเนื่องมาจากการที่โจทก์ต้องจ้างบริษัทอื่นมาดำเนินการต่อและต้องเสียค่าจ้างเพิ่มขึ้นมีจำนวนมากกว่าค่าปรับที่เป็นค่าเสียหายที่กำหนดไว้ล่วงหน้า เมื่อโจทก์เจ้าหนี้ได้รับค่าเสียหายเต็มตามความเสียหายก็เท่ากับรวมเอาเบี้ยปรับในฐานะเป็นค่าเสียหายที่เป็นจำนวนน้อยที่สุดไว้ด้วยแล้วจึงไม่มีเหตุที่โจทก์จะเรียกเอาค่าปรับได้อีก หากจะกำหนดค่าปรับให้แก่โจทก์อีกจะเป็นการให้ค่าเสียหายซ้ำซ้อนกัน และตามสัญญาข้อ 5 วรรคสุดท้ายกำหนดไว้ว่า “ผู้ว่าจ้างทรงไว้ซึ่งสิทธิที่จะเรียกร้องให้ผู้รับจ้างชดใช้แต่ค่าปรับอย่างเดียวหรือค่าเสียหาย และริบสัมภาระอุปกรณ์การก่อสร้างดังกล่าว ใน ข.ค.ด้วยหรือไม่ก็ได้” จากข้อสัญญาดังกล่าวจะเห็นว่าข้อสัญญาได้ใช้คำว่า เรียกค่าปรับหรือค่าเสียหายอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น โดยผู้ว่าจ้างเป็นผู้เลือก เมื่อศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยชำระค่าเสียหายอันเป็นจำนวนเงินมากกว่าค่าปรับแก่โจทก์โดยให้นำค่าปรับที่จำเลยที่ 1 ได้ชำระให้โจทก์ไว้แล้วมาหักออกก่อน จึงเป็นการชอบด้วยข้อกฎหมายและข้อสัญญาดังกล่าวแล้ว
อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน1,178,057.68 บาท แทนที่จะพิพากษาให้จำเลยที่ 1ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสิ้น 1,279,057.68 บาท ดังที่ได้วินิจฉัยข้างต้นนั้น ปรากฏตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าเป็นเพราะศาลอุทธรณ์เขียนจำนวนค่าจ้างส่วนที่เพิ่มขึ้นจากสัญญาเดิมผิดพลาดไปจากจำนวนที่ถูกต้อง คือ จำนวน973,587.45 บาท เป็นจำนวน 972,587.45 บาท จึงทำให้คำนวณค่าเสียหายเมื่อหักเงินค่าปรับจำนวน 258,000 บาท ที่จำเลยที่ 1ชำระให้โจทก์ออกแล้วผิดพลาดขาดจำนวนไป 1,000 บาท อันเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อย ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน1,279,057.68 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share