คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3046/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ที่1ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองแบ่งที่พิพาทตามบันทึกข้อตกลงแบ่งมรดกแม้จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ว่าทำบันทึกข้อตกลงไปโดยสำคัญผิดและได้บอกล้างแล้วแต่เมื่อศาลชั้นต้นมิได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทจำเลยทั้งสองมิได้โต้แย้งคัดค้านไว้ถือว่าจำเลยทั้งสองสละประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวแล้วและแม้โจทก์ที่1จะบรรยายฟ้องตอนต้นว่าเป็นผู้รับมรดกแทนที่ผู้อื่นก็เป็นเพียงความเข้าใจข้อกฎหมายคลาดเคลื่อนไปโจทก์ที่1จึงมีอำนาจฟ้องขอแบ่งที่พิพาทตามบันทึกข้อตกลงแบ่งมรดกได้เมื่อจำเลยทั้งสองรับว่าครอบครองที่พิพาทแทนทายาทอื่นด้วยจำเลยทั้งสองก็ยกอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1754ขึ้นต่อสู้ทายาทไม่ได้ บุคคลที่จะถูกกำจัดมิให้รับมรดกตามมาตรา1605หมายถึงเฉพาะแต่ทายาทของเจ้ามรดกขณะที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายเท่านั้นจำเลยทั้งสองเป็นเพียงผู้มีสิทธิของทายาทของเจ้ามรดกจึงไม่ต้องถูกกำจัดไม่ให้รับมรดก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอบังคับให้เพิกถอนชื่อจำเลยที่ 2 ออกจากการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในโฉนดที่ดินเลขที่ 15066 ตำบลบ้านฉาง(บางหลวงฝั่งเหนือ) อำเภอเมืองปทุมธานี (เชียงราก)จังหวัดปทุมธานี ให้จำเลยที่ 1 หรือจำเลยทั้งสองแบ่งทรัพย์มรดกที่ดินตามโฉนดดังกล่าวให้แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 100 ตารางวา ตามสัญญาบันทึกข้อตกลงแบ่งที่ดินมรดกฉบับลงวันที่ 12 มีนาคม 2533 และแบ่งทรัพย์มรดกที่ดินตามโฉนดดังกล่าวให้แก่โจทก์ที่ 2 ครึ่งหนึ่งของส่วนที่เหลือจากการแบ่งให้โจทก์ที่ 1 แล้ว และขอให้ศาลสั่งกำจัดมิให้จำเลยที่ 1 มีสิทธิได้รับมรดกของนางหลงเจ้ามรดก หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสอง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ระหว่างพิจารณา โจทก์ที่ 2 ถึงแก่ความตาย นายดาบตำรวจสุพจน์ประเสริฐซึ่งเป็นทายาทของโจทก์ที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต
โจทก์ ทั้ง สอง ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติโดยคู่ความไม่โต้แย้งในชั้นนี้ว่า นางหลง ประเสริฐ มีบุตร 3 คนคือ จ่าสิบตำรวจเจริญ ประเสริฐ ซึ่งเป็นสามีนางเฉลิม(จำเลยที่ 1) นายเมิน ประเสริฐ ซึ่งเป็นบิดานายดาบตำรวจสุพจน์ประเสริฐ (โจทก์ที่ 1) และโจทก์ที่ 2 วันที่ 5 มกราคม 2500นางหลงถึงแก่ความตายต่อมาเดือนมกราคม 2522 จ่าสิบตำรวจเจริญถึงแก่ความตาย ครั้นวันที่ 8 สิงหาคม 2522 นายเมินถึงแก่ความตายที่พิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครอง (ส.ค.1)เลขที่ 8 ลงวันที่ 28 เมษายน 2498 มีชื่อนางหลงและนายเจือผลละออ เป็นผู้ร่วมกันแจ้งการครอบครอง ต่อมา พ.ศ. 2524จำเลยที่ 1 และนางเนียม ผลละออ ได้นำไปขอออกโฉนดแยกกันเป็นส่วนสัด ทางราชการได้ออกโฉนดให้แก่จำเลยที่ 1 คือที่ดินโฉนดเลขที่ 15066 ตำบลบ้านฉาง (บางหลวงฝั่งเหนือ) อำเภอเมืองปทุมธานี(เชียงราก) จังหวัดปทุมธานี เนื้อที่ 1 ไร่ 33 ตารางวา เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2526 ซึ่งคือที่พิพาท
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ที่ 1 มีว่า โจทก์ที่ 1มีอำนาจฟ้องหรือไม่คดีนี้โจทก์ที่ 1 ฟ้องขอบังคับให้จำเลยทั้งสองแบ่งที่พิพาทซึ่งโจทก์ที่ 1 อ้างว่าเป็นมรดกของนางหลงให้แก่โจทก์ที่ 1 โดยอ้างว่ามีบันทึกข้อตกลงแบ่งมรดกตามเอกสารหมาย จ.6แม้จำเลยทั้งสองจะให้การต่อสู้ว่า ทำบันทึกข้อตกลงไปโดยสำคัญผิดและได้บอกล้างแล้ว แต่เมื่อศาลชั้นต้นมิได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทนี้ไว้ จำเลยทั้งสองมิได้โต้แย้งคัดค้านไว้ จึงถือว่าจำเลยทั้งสองสละประเด็นข้อพิพาทดังกล่าว ข้อเท็จจริงต้องฟังว่า จำเลยทั้งสองได้ทำบันทึกข้อตกลงแบ่งมรดกตามเอกสารหมาย จ.6 จริงดังนั้นบันทึกข้อตกลงแบ่งมรดกดังกล่าวย่อมผูกพันจำเลยทั้งสองและโจทก์ทั้งสองทั้งสามารถฟ้องร้องบังคับคดีแก่กันได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1750 วรรคสอง แม้โจทก์ที่ 1 จะบรรยายฟ้องตอนต้นว่าเป็นผู้รับมรดกแทนที่นายเมินก็เป็นเพียงความเข้าใจข้อกฎหมายของโจทก์ที่ 1 คลาดเคลื่อนไปเท่านั้น คำฟ้องของโจทก์ที่ 1 จึงเป็นเรื่องฟ้องขอแบ่งที่พิพาทตามบันทึกข้อตกลงแบ่งมรดกมิใช่ฟ้องขอให้แบ่งมรดกในฐานะผู้รับมรดกแทนที่แต่อย่างใด โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ปัญหาที่ว่าที่พิพาทเป็นทรัพย์มรดกนางหลงหรือไม่ ศาลล่างทั้งสองยังมิได้วินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเลยโดยไม่ต้องย้อนสำนวนและเห็นสมควรวินิจฉัยไปพร้อมกับปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 1ครอบครองที่พิพาทแทนทายาทอื่นหรือครอบครองเพื่อตนเอง เห็นว่าที่พิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองเอกสารหมาย จ.5แผ่นที่ 15 ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้นำไปเป็นหลักฐานในการขอออกโฉนดที่ดินสำหรับที่พิพาทโดยการขอออกโฉนดที่ดินดังกล่าว จำเลยที่ 1ได้ให้ถ้อยคำต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ไว้ด้วยตามบันทึกถ้อยคำเอกสารหมาย จ.5 แผ่นที่ 12 ซึ่งตามแบบแจ้งการครอบครองก็มีชื่อของนางหลงเป็นผู้แจ้งการครอบครอง ทั้งมีชื่อจ่าสิบตำรวจเจริญสามีของจำเลยที่ 1 และเป็นบิดาจำเลยที่ 2 ลงชื่อเป็นพยานในแบบแจ้งการครอบครองดังกล่าว สำหรับบันทึกถ้อยคำก็ระบุข้อความว่าที่พิพาทตามแบบแจ้งการครอบครองเป็นมรดกของนางหลง เมื่อนางหลงถึงแก่ความตายที่พิพาทจึงเป็นมรดกตกทอดแก่จ่าสิบตำรวจเจริญและเมื่อจ่าสิบตำรวจเจริญถึงแก่ความตายที่พิพาทย่อมตกได้แก่จำเลยที่ 1 ตามลำดับ เอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารมหาชนที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้น ซึ่งกฎหมายสันนิษฐานว่าแท้จริงและถูกต้อง จำเลยทั้งสองก็มิได้นำสืบหักล้างแต่ประการใด นอกจากนี้ข้อเท็จจริงยังฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองได้ทำบันทึกข้อตกลงแบ่งมรดกตามเอกสารหมาย จ.6 ดังได้วินิจฉัยมาแล้วบันทึกดังกล่าวก็ระบุว่าที่พิพาทเป็นมรดกของนางหลง โดยจำเลยทั้งสองครอบครองแทนทายาทอื่น พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมีน้ำหนักกว่าพยานหลักฐานจำเลย คดีรับฟังได้ว่าที่พิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนางหลงและจำเลยที่ 1 ครอบครองที่พิพาทแทนทายาทอื่นมิใช่ครอบครองเพื่อตนเอง
ปัญหาต่อไปมีว่า คดีโจทก์ทั้งสองขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่าเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองทำบันทึกข้อตกลงแบ่งมรดกให้แก่โจทก์ที่ 1 และรับว่าครอบครองที่พิพาทแทนทายาทอื่นด้วย ดังนี้จำเลยทั้งสองก็ยกอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754ขึ้นต่อสู้ทายาทไม่ได้
ปัญหาที่ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันฉ้อฉลทรัพย์มรดกหรือไม่ซึ่งเป็นปัญหาที่จะนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์คือ การกำจัดมิให้รับมรดกนั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1605บัญญัติว่า “ทายาทคนใดยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกเท่าส่วนที่ตนจะได้หรือมากกว่านั้นโดยฉ้อฉลหรือรู้อยู่ว่า ตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทคนอื่น ทายาทคนนั้นต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกเลย” เห็นว่าบุคคลที่จะถูกกำจัดมิให้รับมรดกตามบทกฎหมายดังกล่าวมุ่งเฉพาะแต่ทายาทของเจ้ามรดกขณะที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายเท่านั้นข้อเท็จจริงได้ความว่าขณะที่นางหลงถึงแก่ความตาย มีทายาทผู้มีสิทธิรับมรดก คือ โจทก์ที่ 2 จ่าสิบตำรวจเจริญและนายเมินเพียง 3 คน จำเลยทั้งสองเป็นภรรยาและบุตรนายเจริญ แม้ว่าจะมีสิทธิในทรัพย์มรดกของนางหลงก็เพียงแต่ในฐานะผู้สืบสิทธิของจ่าสิบตำรวจเจริญ คือ รับมรดกในส่วนของจ่าสิบตำรวจเจริญเท่านั้น จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นทายาทอันจะถูกกำจัดไม่ให้รับมรดกของนางหลงได้ ดังนั้น ปัญหาที่ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันฉ้อฉลทรัพย์มรดกหรือไม่ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลง
แต่ที่โจทก์ที่ 2 ขอบังคับให้จำเลยทั้งสองแบ่งที่พิพาทซึ่งมีเนื้อที่จำนวน 1 ไร่ 33 ตารางวา ให้แก่โจทก์ที่ 1 จำนวนกึ่งหนึ่งหลังจากที่แบ่งให้แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 100 ตารางวา แล้ว เท่ากับขอแบ่งที่พิพาทจำนวน 166 1/2 ตารางวานั้น เห็นว่าที่พิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนางหลง ขณะที่นางหลงถึงแก่ความตายมีทายาท3 คน คือโจทก์ที่ 2 จ่าสิบตำรวจเจริญและนายเมิน ดังนั้น ทายาททั้งสามจึงมีสิทธิได้รับมรดกคนละเท่ากัน คือคนละจำนวน 144 1/3ตารางวา โจทก์ที่ 2 จึงไม่มีสิทธิขอแบ่งที่พิพาทจำนวน 166 1/2ตารางวา เพราะเกินไปจากสิทธิที่โจทก์ที่ 2 จะได้รับศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องมานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ทั้งสองฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองแบ่งที่พิพาทตามโฉนดที่ดินเลขที่ 15066 ตำบลบ้านฉาง (บางหลวงฝั่งเหนือ) อำเภอเมืองปทุมธานี(เชียงราก) จังหวัดปทุมธานี ให้แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 100 ตารางวาให้แก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 144 1/3 ตารางวา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share