คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9500/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีนี้โจทก์ฟ้องขับไล่ จำเลยต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย และฟ้องแย้งห้ามมิให้โจทก์และบริวารเข้าไปยุ่งเกี่ยวในที่ดินพิพาท จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ ศาลชั้นต้นกำหนดจำนวนทุนทรัพย์เป็นเงิน 240,000 บาท จึงเป็นคดีมโนสาเร่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 189 ประกอบ พ.ร.ฎ.กำหนดจำนวนเงินในคดีมโนสาเร่ พ.ศ.2546 มาตรา 3 (1) ซึ่งเสียค่าขึ้นศาลเพียง 200 บาท ตามมาตรา 190 จัตวา วรรคหนึ่ง (เดิม) และตาราง 1 (2) (ก) ท้าย ป.วิ.พ. (เดิม) ที่ศาลชั้นต้นเรียกเก็บค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นจากโจทก์ และจำเลยในส่วนของฟ้องแย้งเกินกว่า 200 บาท จึงไม่ถูกต้อง และต้องคืนเงินส่วนที่เกิน 200 บาท ให้แก่โจทก์และจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนต้นมันสำปะหลังทั้งหมดออกไปจากที่ดินของโจทก์ หากไม่รื้อถอนหรือรื้อถอนไม่ได้ให้จำเลยชำระราคาค่าเช่าไร่ละ 500 บาท ต่อปีแก่โจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินของโจทก์อีกต่อไป
จำเลยให้การและฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้อง และขอให้พิพากษาว่า จำเลยมีสิทธิครอบครองดีกว่าโจทก์ห้ามมิให้โจทก์และบริวารเข้าไปยุ่งเกี่ยวในที่ดินพิพาทอีก
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนต้นมันสำปะหลังทั้งหมดออกไปจากที่ดินพิพาทเนื้อที่ประมาณ 12 ไร่ ตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ตำบลโคคลาน อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว ตามรูปแผนที่ หากไม่ปฏิบัติให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 1,500 บาท ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 3 สิงหาคม 2549) จนกว่าจำเลยจะรื้อถอนออกไปจากที่ดินพิพาท และส่งมอบการครอบครองคืนแก่โจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินพิพาทอีก ยกฟ้องแย้ง กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ (ที่ถูก กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องของโจทก์ และฟ้องแย้งของจำเลยแทนโจทก์) โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 2,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าคดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยจะต้องรับผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 หรือไม่ เห็นว่า พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมานั้นสอดคล้องต้องกันในข้อสาระสำคัญอย่างแจ้งชัดและต่อเนื่องเชื่อมโยงกันเกี่ยวกับการได้มาซึ่งสิทธิครอบครองของโจทก์ในที่ดินซึ่งรวมถึงที่ดินพิพาทด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพยานบุคคลที่สนับสนุนคำเบิกความของโจทก์ก็ล้วนแล้วแต่เป็นหรือเคยเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และเป็นบุคคลที่อยู่อาศัยในท้องที่ในที่ดินพิพาทมาเป็นเวลาเนิ่นนาน ทั้งไม่ปรากฏว่าเคยมีสาเหตุและหรือมีส่วนได้เสียเกี่ยวข้องในคดีนี้ ส่วนพยานหลักฐานของจำเลยที่นำสืบในทำนองว่า จำเลยซื้อที่ดินซึ่งรวมถึงที่ดินพิพาทด้วยประมาณ 40 ไร่ มาตั้งแต่ปี 2519 มาจากนายเฉลยแล้วสร้างบ้านเรือนและครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวตลอดมานั้น นอกจากคำเบิกความของจำเลยแล้ว จำเลยมีนางสุภาพ บุตรสาวและนายสิน บุตรเขย มาเบิกความสนับสนุน แต่อย่างไรก็ตามจำเลยก็มิได้นำผู้ขายและหรือทายาทผู้ขายที่มีส่วนร่วมรู้เห็นในการขายที่ดินให้จำเลยมาเบิกความยืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าว ดังนั้น เมื่อพิเคราะห์เปรียบเทียบพยานหลักฐานที่คู่ความนำมาสืบเกี่ยวกับประเด็นพิพาทแล้ว เห็นว่า พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักควรแก่การรับฟังมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลย และเป็นอันเพียงพอให้เชื่อฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท เมื่อจำเลยเข้าไปปลูกมันสำปะหลังในที่ดินพิพาท จึงเป็นการรบกวนการครอบครองอันเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ จึงชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง คดีนี้โจทก์ฟ้องขับไล่ จำเลยต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย และฟ้องแย้งห้ามมิให้โจทก์และบริวารเข้ายุ่งเกี่ยวในที่ดินพิพาท จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ ศาลชั้นต้นกำหนดจำนวนทุนทรัพย์เป็นเงิน 240,000 บาท จึงเป็นคดีมโนสาเร่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 189 ประกอบพระราชกฤษฎีกากำหนดจำนวนเงินในคดีมโนสาเร่ พ.ศ.2546 มาตรา 3 (1) ซึ่งเสียค่าขึ้นศาลเพียง 200 บาท ตามมาตรา 190 จัตวา วรรคหนึ่ง (เดิม) และตาราง 1 (2) (ก) ท้ายระมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (เดิม) ที่ศาลชั้นต้นเรียกเก็บค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นจากโจทก์และจำเลยเป็นเงินคนละ 6,000 บาทจึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง โดยให้ศาลชั้นต้นคืนเงินส่วนที่เกิน 200 บาท ให้แก่โจทก์และจำเลย
พิพากษายืน แต่ให้คืนค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้น ส่วนที่เกิน 200 บาทแก่โจทก์และจำเลย ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 2,000 บาทแทนโจทก์

Share