คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 950/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีโดยฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์จำเลยตกลงซื้อขายที่ดินพิพาทกัน แต่ได้ทำนิติกรรมจำนองอำพรางไว้ เมื่อโจทก์อุทธรณ์ จำเลยมิได้ยื่นคำแก้อุทธรณ์ข้อเท็จจริงในเรื่องการซื้อขายที่ดินพิพาทจึงต้องถือเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
การซื้อขายที่ดินต้องพิจารณาถึงเจตนาของคู่กรณีว่าตั้งใจจะทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่กันในภายหลังหรือไม่ หากไม่มีเจตนาดังกล่าวก็เป็นการซื้อขายเสร็จเด็ดขาด สัญญาตกเป็นโมฆะ หากมีเจตนาดังกล่าว ก็เป็นสัญญาจะซื้อขายการชำระราคาและส่งมอบที่ดินให้แก่กัน ก็ถือเป็นการชำระหนี้บางส่วนซึ่งจะบังคับตามสัญญาซื้อขายได้ เมื่อโจทก์จำเลยมีเจตนาชัดแจ้งที่จะไม่นำการซื้อขายที่ดินพิพาทไปทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในภายหลังอีก แต่โจทก์จะโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่บุคคลอื่นต่อไปโดยอาศัยใบมอบอำนาจของจำเลยจึงเป็นการซื้อขายเด็ดขาด เมื่อไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ก็เป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยขายที่ดินรวม 28 โฉนดให้โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 1ชำระเงินค่าที่ดินให้จำเลยครบถ้วนแล้ว แต่โจทก์ที่ 1 ได้ให้จำเลยทำสัญญาจำนองเพื่ออำพรางการซื้อขายที่ดิน โดยโจทก์ที่ 2 เป็นผู้ลงชื่อรับจำนองแทนโจทก์ที่ 1ต่อมาโจทก์ที่ 1 ได้ขายที่ดินดังกล่าวรวม 5 โฉนดให้แก่ผู้มีชื่อไป จึงยังเหลือที่ดินอีก 23 โฉนด ซึ่งในทะเบียนยังเป็นชื่อของจำเลย โจทก์ทั้งสองได้บอกให้จำเลยไปโอนชื่อในที่ดินทั้ง 23 โฉนดเป็นชื่อโจทก์ที่ 1 แต่จำเลยบ่ายเบี่ยงไม่ยอมไป ขอให้ศาลพิพากษาว่านิติกรรมจำนองที่ดินรวม 28 โฉนดตามสัญญาจำนองเป็นโมฆะให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้โจทก์ที่ 1 ถ้าจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย

จำเลยให้การว่าที่ดินทั้ง 28 โฉนดตามฟ้องเป็นของจำเลย เดิมติดจำนองบุคคลอื่นอยู่ โจทก์ที่ 1 กับจำเลยเป็นคนชอบพอกัน จำเลยจึงขอให้โจทก์ที่ 1ช่วยเหลือ โดยขอให้ช่วยรับจำนองที่ดินทั้งหมดไว้แทนผู้รับจำนองคนก่อนในการจำนองที่ดินดังกล่าวโจทก์ที่ 2 ลงชื่อเป็นผู้รับจำนอง ในสัญญาจำนองและตกลงกันว่าจะช่วยกันขายที่ดินดังกล่าว เมื่อขายได้เท่าใดให้เอาเงินที่ขายได้นั้นหักหนี้จำนองกับดอกเบี้ยให้โจทก์ที่ 1 และต่อมาโจทก์ที่ 1 ได้ขายที่ดินไปรวม 5 แปลง โจทก์ก็ไม่ได้นำเงินมาให้จำเลย จำเลยไม่ได้ตกลงขายที่ดินให้โจทก์ การทำสัญญาจำนองไม่ได้มีการอำพรางการขายที่ดิน จึงชอบด้วยกฎหมายและไม่ตกเป็นโมฆะ

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์จำเลยตกลงซื้อขายที่ดินพิพาทกันแต่ได้ทำนิติกรรมจำนองอำพรางไว้ นิติกรรมจำนองจึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 118 วรรคแรก ส่วนนิติกรรมที่ถูกอำพรางคือการซื้อขายที่ดินพิพาท มิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่จึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 456 พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า พฤติการณ์แห่งคดีคู่กรณีประสงค์จะให้มีการทำเป็นหนังสือจดทะเบียนโอนกันต่อไปในภายหลัง กรณีจึงเป็นสัญญาจะซื้อจะขายเมื่อมีการชำระราคาที่ดินแล้ว ย่อมจะบังคับให้จำเลยโอนที่ดินตามสัญญาได้พิพากษาแก้ให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินรวม 23 โฉนดให้แก่โจทก์ที่ 1 ถ้าจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย

จำเลยฎีกาอย่างคนอนาถา

ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า ปัญหาเรื่องจำเลยขายที่ดินให้โจทก์ที่ 1 หรือไม่นั้น ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีโดยฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์จำเลยตกลงซื้อขายที่ดินพิพาทกัน แต่ได้ทำนิติกรรมจำนองอำพรางไว้เมื่อโจทก์อุทธรณ์ จำเลยมิได้ยื่นคำแก้อุทธรณ์ ข้อเท็จจริงในเรื่องการซื้อขายที่ดินพิพาทจึงต้องถือเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีคงมีประเด็นจะต้องวินิจฉัยต่อไปแต่เพียงว่า การซื้อขายที่ดินพิพาทมีผลบังคับตามกฎหมายหรือไม่

ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ที่ว่า ในการพิจารณาว่า การซื้อขายที่ดินพิพาทจะมีผลบังคับได้หรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาถึงเจตนาของคู่กรณีว่า ตั้งใจจะทำเป็นหนังสือจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่กันในภายหลังหรือไม่ หากไม่มีเจตนาดังกล่าวก็เป็นการซื้อขายเด็ดขาด สัญญาตกเป็นโมฆะ ถ้ากรณีมีเจตนาจะทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนในภายหลังแล้วก็เป็นสัญญาจะซื้อจะขายการชำระราคาและส่งมอบที่ดินให้แก่กันก็ถือเป็นการชำระหนี้บางส่วนซึ่งจะบังคับตามสัญญาซื้อขายได้ แต่ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ได้ใช้ใบมอบอำนาจที่จำเลยลงชื่อมอบอำนาจไว้โดยยังมิได้กรอกข้อความโอนขายที่ดินให้บุคคลอื่นไปแล้ว 5 โฉนด พฤติการณ์แห่งคดีเห็นได้ว่าคู่กรณีประสงค์จะให้มีการทำเป็นหนังสือจดทะเบียนโอนกันต่อไปในภายหลังตั้งแต่ขณะทำสัญญากันโดยอาศัยใบมอบอำนาจดังกล่าว กรณีจึงเป็นสัญญาจะซื้อจะขายนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยเพราะการทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนตามใบมอบอำนาจนั้นเป็นการกระทำระหว่างจำเลยกับผู้ที่ซื้อที่ดินต่อจากโจทก์ที่ 1 ส่วนในระหว่างจำเลยกับโจทก์ที่ 1 นั้นปรากฏจากคำเบิกความของโจทก์ที่ 1 เองว่า โจทก์ที่ 1 ไม่ต้องการให้คนอื่นทราบว่าโจทก์ที่ 1 มีที่ดินมาก และตั้งใจจะขายที่ดินพิพาทต่อไป จึงทำเป็นสัญญาจำนองเพื่อหลีกเลี่ยงค่าธรรมเนียมเพราะเสียค่าธรรมเนียมถูกกว่าการซื้อขาย จึงเห็นได้ว่าในระหว่างจำเลยกับโจทก์ที่ 1 นั้น คู่กรณีมีเจตนาชัดแจ้งที่จะไม่นำการซื้อขายที่ดินพิพาทไปทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในภายหลังอีก แต่โจทก์ที่ 1 จะโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่บุคคลอื่นต่อไปโดยอาศัยใบมอบอำนาจของจำเลย การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยกับโจทก์ที่ 1 จึงเป็นการซื้อขายเด็ดขาด เมื่อไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็เป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456

พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นให้ยกฟ้องโจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความให้รวม 80,000 บาท

Share