คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9478/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์เป็นบริษัทจำกัด ตามกฎหมายของประเทศฝรั่งเศสมีโนตารีปับลิกแห่งกรุงปารีสรับรองว่าร. เป็นกรรมการของโจทก์ และเลขานุการสถานเอกอัครราชฑูตไทยประจำกรุงปารีสรับรองลายมือชื่อของโนตารีปับลิกอีกชั้นเมื่อร.มอบอำนาจให้ ธ. ดำเนินคดีแทน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนทะเบียนและคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยโดยอ้างว่ามีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่าจำเลย เนื่องจากโจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้น ซึ่งได้จดทะเบียนไว้ในต่างประเทศอันเป็นการใช้สิทธิของเจ้าของเครื่องหมายการค้า ซึ่งยังมิได้จดทะเบียนในประเทศไทยตามที่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 41(1)อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิโจทก์หาได้อ้างว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ได้รับความคุ้มครอง เนื่องจากการจดทะเบียนที่องค์การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง โจทก์เป็นผู้คิดประดิษฐ์และใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทมาก่อนจำเลยจะนำเครื่องหมายการค้าของตนไปจดทะเบียนทั้งเครื่องหมายการค้าของจำเลยเหมือนและคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ จนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนให้สับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าและแหล่งกำเนิดสินค้า โจทก์จึงมีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นดีกว่าจำเลยในเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ได้รับการจดทะเบียนแล้ว และในเครื่องหมายการค้าของจำเลยตามคำขอที่ยังไม่ได้รับการจดทะเบียนด้วย โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ยังไม่ได้รับการจดทะเบียน จึงไม่อาจฟ้องคดีเพื่อป้องกันการล่วงสิทธิในเครื่องหมายการค้าของตนและห้ามผู้อื่นมิให้ใช้เครื่องหมายการค้านั้นได้ดังเช่นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนแล้วตามนัยมาตรา 27 และ 29 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 แต่การที่ศาลพิพากษาให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลย ย่อมมีผลทำให้จำเลยไม่อาจใช้เครื่องหมายการค้านั้นกับสินค้าของจำเลยได้อีกต่อไปอยู่ในตัว ศาลฎีกาจึงไม่อาจพิพากษาห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้านั้นกับสินค้าของจำเลยอีกต่อไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า FRANCOIS MAROT PARIS รูปสุนัขประดิษฐ์ และคำว่า made in france ตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 184043 คำขอเลขที่ 184044 และคำขอเลขที่ 184045ดีกว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยทั้งสองตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 162328 ทะเบียนเลขที่ 112792 ในจำพวกที่ 37 สำหรับสินค้ากระเป๋าสตางค์ คำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 170225 ในจำพวกที่ 37 สำหรับสินค้าทั้งจำพวกคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 170224 ทะเบียนเลขที่ 120032ในจำพวกที่ 50 สำหรับสินค้าทั้งจำพวก คำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 170223 ในจำพวกที่ 38 สำหรับสินค้าทั้งจำพวก และคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 179637ในจำพวกที่ 14 สำหรับสินค้าทั้งจำพวก และห้ามจำเลยทั้งสองมิให้ใช้อักษรโรมันคำว่า FRANCOIS MAROT PARIS รูปสุนัขประดิษฐ์และคำว่า made in france ตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 162328ทะเบียนเลขที่ 112792 และคำว่า FRANCOIS MAROT PARIS และรูปสุนัขประดิษฐ์ ตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 170224ทะเบียนเลขที่ 120032 คำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 170225คำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 170223 และคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 179637 กับสินค้าของจำเลยทั้งสองอีกต่อไป ให้จำเลยทั้งสองเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 162328 ทะเบียนเลขที่ 112792คำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 170225 คำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 170224 ทะเบียนเลขที่ 120032คำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 170223 และคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 179637 หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา และมีคำสั่งให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 184043 คำขอจดทะเบียนเลขที่ 184044 และคำขอจดทะเบียนเลขที่ 184045 ของโจทก์
จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องโจทก์และให้โจทก์ถอนคำคัดค้านต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าหากโจทก์ไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาห้ามโจทก์ขัดขวางการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 170223, 162328, 170224, 170225 และ 179637 ของจำเลยทั้งสอง และห้ามมิให้โจทก์รบกวนการผลิตและจำหน่ายสินค้าของจำเลยทั้งสองทุกประเภทภายใต้เครื่องหมายการค้าของจำเลยทั้งสองให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยทั้งสองในอัตราเดือนละ 50,000 บาทนับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าโจทก์จะถอนคำคัดค้านต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า FRANCOIS MAROT PARIS รูปสุนัขประดิษฐ์และคำว่า made in france ตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 184043 คำขอเลขที่ 184044 และคำขอเลขที่ 184045ดีกว่าจำเลยทั้งสอง ห้ามจำเลยทั้งสองใช้อักษรโรมันคำว่าFRANCOIS MAROT PARIS รูปสุนัขประดิษฐ์ และคำว่า made in france ตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 162328 ทะเบียนเลขที่ 112794(ที่ถูกเป็น 112792) และคำว่า FRANCOIS MAROT PARISและรูปสุนัขประดิษฐ์ ตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 170224 ทะเบียนเลขที่ 120032 คำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 170225 คำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 170223และคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 179637 กับสินค้าของจำเลยทั้งสองอีกต่อไป ให้จำเลยทั้งสองเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 162328 ทะเบียนเลขที่ 112792คำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 170225 คำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 170224 ทะเบียนเลขที่ 120032คำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 170223 และคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 179637 หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา คำขออื่นให้ยกให้ยกฟ้องแย้งจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่เห็นว่า โจทก์มีนายธเนศ เปเรร่า ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์เบิกความประกอบหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.23 ว่าโจทก์เป็นบริษัทจำกัด โดยนายโรบิเน็ท ชองหลุยส์ กรรมการมอบอำนาจให้นายธเนศฟ้องคดีแทนโจทก์ โดยมีโนตารีปับลิกแห่งกรุงปารีสประเทศฝรั่งเศสได้รับรองว่านายโรบิเน็ท ชอง หลุยส์เป็นกรรมการของโจทก์ และโจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดอันจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศฝรั่งเศษ ตามคำรับรองของโนตารีปับลิกแนบท้ายหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.23 และเลขานุการสถานเอกอัครราชฑูตไทยประจำกรุงปารีสได้รับรองลายมือชื่อของโนตารีปับลิกอีกชั้นหนึ่ง จำเลยทั้งสองมิได้นำสืบหักล้างเป็นอย่างอื่น คดีจึงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดตามกฎหมายประเทศฝรั่งเศสและโจทก์ได้มอบอำนาจให้นายธเนศดำเนินคดีแทน โจทก์มีอำนาจฟ้องส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาต่อไปว่าโจทก์นำสืบว่า โจทก์ได้นำเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไปจดทะเบียนที่องค์การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศซึ่งตั้งอยู่ที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์องค์การดังกล่าวคุ้มครองเครื่องหมายการค้าทุกประเทศที่เป็นสมาชิกของอนุสัญญาซึ่งมีผลคุ้มครองเฉพาะแก่ประเทศที่เป็นสมาชิกเท่านั้นเมื่อประเทศไทยมิได้เป็นสมาชิกในอนุสัญญาดังกล่าว อนุสัญญานี้จึงไม่มีผลกระทบต่อเครื่องหมายการค้าในประเทศไทยอนุสัญญาดังกล่าวไม่มีสภาพบังคับเป็นกฎหมายระหว่างประเทศโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้นแม้ปัญหาดังกล่าวโจทก์มิได้บรรยายไว้ในคำฟ้อง แต่ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน คู่ความมีสิทธิยกขึ้นฎีกาและศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยให้ได้เห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนทะเบียนและคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยทั้งสองโดยอ้างว่ามีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวดีกว่าจำเลยทั้งสองเนื่องจากโจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้น ซึ่งได้จดทะเบียนไว้ในต่างประเทศอันเป็นการใช้สิทธิของเจ้าของเครื่องหมายการค้าซึ่งยังมิได้จดทะเบียนในประเทศไทยตามที่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 41(1) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิโจทก์หาได้อ้างว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ได้รับความคุ้มครองเนื่องจากการจดทะเบียนที่องค์การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศไม่ การนำสืบของโจทก์ดังที่จำเลยทั้งสองฎีกาเป็นเพียงข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งที่สนับสนุนให้เห็นว่าโจทก์เป็นเจ้าของและใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทมาก่อนจำเลยทั้งสองเท่านั้น โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องตามมาตรา 41(1) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ฎีกาเกี่ยวกับปัญหาอำนาจฟ้องของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อ 2 มีว่า โจทก์หรือจำเลยทั้งสองมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า FRANCOIS MAROT PARISคำว่า made in france และรูปสุนัขประดิษฐ์ดีกว่ากัน เห็นว่าโจทก์มีนายธเนศ เปเรร่า เบิกความว่า อักษรโรมันคำว่าFRANCOIS MAROT เป็นส่วนหนึ่งของชื่อโจทก์ โจทก์นำอักษรโรมันดังกล่าวและรูปสุนัขประดิษฐ์มาใช้เป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ นอกจากนี้โจทก์ยังนำอักษรโรมันคำว่า FRANCOIS MAROT PARIS มารวมกับคำว่า made in franceและรูปสุนัขประดิษฐ์แล้วนำมาใช้เป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์อีกด้วยเครื่องหมายการค้าดังกล่าวโจทก์ใช้กับสินค้าประเภทกระเป๋าต่าง ๆ เข็มขัดหนัง และรองเท้าหนังที่โจทก์ผลิตและจำหน่ายตั้งแต่ปี 2520 โจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า FRANCOIS MAROT ครั้งแรกที่ประเทศฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2524 และต่อมาจดทะเบียนเพิ่มอักษรโรมันคำว่า PARIS คำว่า made in france และรูปสุนัขประดิษฐ์เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2524 ตามเอกสารหมาย จ.24 และ จ.25นอกจากนี้โจทก์ได้นำเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไปจดทะเบียนที่องค์การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศซึ่งตั้งอยู่ที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ตามเอกสารหมาย จ.26 และได้จดทะเบียนไว้ที่ประเทศต่าง ๆ รวมกว่า 20 ประเทศ ตามเอกสารหมาย จ.29ถึง จ.31 โจทก์ได้โฆษณาสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังกล่าวในนิตยสารต่าง ๆ ตามเอกสารหมาย จ.33 ถึง จ.37รวมทั้งมีตัวแทนจำหน่ายสินค้าของโจทก์ในประเทศไทยด้วยจำเลยทั้งสองอ้างตนเองเป็นพยาน เบิกความว่า จำเลยทั้งสองได้ผลิตสินค้าก่อนจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยทั้งสองประมาณ 1 ปี จำเลยทั้งสองได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2530 จากพยานหลักฐานดังกล่าวข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์และจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวในต่างประเทศมาก่อนจำเลยทั้งสองจะได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยทั้งสอง มีปัญหาต่อไปว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยทั้งสองเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์หรือไม่ เห็นว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 184043, 184044 และ 184045 เป็นเครื่องหมายการค้าคำว่า FRANCOIS MAROT PARISและ made in france โดยเขียนตัวอักษรดังกล่าวให้มีลักษณะเป็นวงกลมโดยคำแรกอยู่ด้านบนและคำหลังอยู่ด้านล่างของวงกลมล้อมรอบรูปสุนัขประดิษฐ์ในท่านั่ง หัวสุนัขอยู่ระหว่างคำว่าFRANCOIS กับคำว่า MAROT ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยทั้งสองตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 162328 ทะเบียนเลขที่ 112792เหมือนกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทุกประการ ต่างกันเพียงเครื่องหมายการค้าดังกล่าวของจำเลยทั้งสองเพิ่มเส้นวงกลมล้อมรอบเครื่องหมายการค้าของโจทก์อีก 1 เส้น และใต้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวมีอักษรภาษาไทยคำว่า ฟรานคอส มารอทเท่านั้น สำหรับเครื่องหมายการค้าของจำเลยทั้งสองตามคำขอเลขที่ 170225 คำขอเลขที่ 170224 ทะเบียนเลขที่ 120032คำขอเลขที่ 170223 และ 179637 ก็เหมือนเครื่องหมายการค้าของจำเลยทั้งสองตามคำขอเลขที่ 162328 ทุกประการ ต่างกันเพียงเครื่องหมายการค้าของจำเลยทั้งสองตามคำขอทั้งสี่ดังกล่าวไม่มีคำว่า made in france เท่านั้น ดังนี้ เห็นได้ว่า ส่วนสำคัญของเครื่องหมายการค้าทั้งสองได้แก่ รูปสุนัขประดิษฐ์ที่มีรูปลักษณะและกิริยาท่านั่งเหมือนกันและรูปแบบการเขียนและขนาดกับตำแหน่งช่องไฟของตัวอักษรโรมันคำว่า FRANCOIS MAROT PARIS และคำว่า made in france เหมือนกัน ส่วนรายละเอียดปลีกย่อยเป็นเส้นวงกลมล้อมรอบและอักษรภาษาไทยกำกับข้างล่างว่า ฟรานคอส มารอท นั้น ไม่เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ประชาชนทั่วไปได้เห็นความแตกต่างว่าเครื่องหมายการค้าทั้งสองมิใช่เครื่องหมายการค้าเดียวกันได้ ประกอบเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยทั้งสองใช้กับสินค้าจำพวกที่ 37, 38 และ 50 เช่นเดียวกันเครื่องหมายการค้าของจำเลยทั้งสองจึงเหมือนและคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนให้สับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าและแหล่งกำเนิดของสินค้า ที่จำเลยทั้งสองนำสืบอ้างว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้ประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าพิพาทของจำเลยทั้งสองเองโดยมิได้รู้เห็นหรือเลียนแบบของโจทก์นั้น คงมีเพียงจำเลยทั้งสองมาเบิกความลอย ๆ ทั้งมิได้เบิกความว่าเหตุใดจึงคิดประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าคำว่า FRANCOIS MAROT PARIS และmade in france กับรูปสุนัขประดิษฐ์ได้เหมือนกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทุกประการโดยบังเอิญเช่นนั้น กรณีจึงไม่มีเหตุผลสนับสนุนพอให้รับฟังได้ดังที่จำเลยทั้งสองนำสืบ พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่าโจทก์เป็นผู้คิดประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าของโจทก์และใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวมาก่อนจำเลยทั้งสองจะนำเครื่องหมายการค้านั้นไปจดทะเบียนโจทก์จึงมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่าFRANCOIS MAROT PARIS คำว่า made in france และรูปสุนัขประดิษฐ์ดีกว่าจำเลยทั้งสองในเครื่องหมายการค้าของจำเลยทั้งสองที่ได้รับการจดทะเบียนแล้วและในเครื่องหมายการค้าของจำเลยทั้งสองตามคำขอที่ยังไม่ได้รับการจดทะเบียน ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ห้ามจำเลยทั้งสองใช้อักษรโรมันคำว่า FRANCOIS MAROT PARIS รูปสุนัขประดิษฐ์และคำว่า made in france ตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 162328 ทะเบียนเลขที่ 112794 (ที่ถูกเป็น 112792)กับคำว่า FRANCOIS MAROT PARIS และรูปสุนัขประดิษฐ์ ตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 170224 ทะเบียนเลขที่ 120032คำขอเลขที่ 170225, 170223 และ 179637 กับสินค้าของจำเลยทั้งสองอีกต่อไปและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนในส่วนนี้นั้น ปรากฏว่าโจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ยังไม่ได้รับการจดทะเบียนจึงไม่อาจฟ้องคดีเพื่อป้องกันการล่วงสิทธิในเครื่องหมายการค้าของตนและห้ามผู้อื่นมิให้ใช้เครื่องหมายการค้านั้นได้ดังเช่นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนแล้ว ทั้งนี้ตามนัยมาตรา 27 และ 29 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2474 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดข้อพิพาทอย่างไรก็ดี ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยทั้งสองตามฟ้อง ย่อมมีผลทำให้จำเลยทั้งสองไม่อาจใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้าของจำเลยทั้งสองได้อีกต่อไปอยู่ในตัว ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนในส่วนดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอให้ห้ามจำเลยทั้งสองใช้อักษรโรมันคำว่า FRANCOIS MAROT PARIS รูปสุนัขประดิษฐ์และคำว่า made in france ตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 162328 ทะเบียนเลขที่ 112792 กับคำว่า FRANCOIS MAROT PARIS และรูปสุนัขประดิษฐ์ ตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 170244 ทะเบียนเลขที่ 120032 คำขอเลขที่ 170225, 170223และ 179637 กับสินค้าของจำเลยทั้งสองอีกต่อไปเสีย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share