คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9474/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ทำขึ้นระหว่างจำเลยกับสหภาพแรงงาน ระบุว่า “ทางบริษัทฯ (หมายถึงจำเลย) ตกลงให้ค่าตำแหน่งช่างเทคนิค ที่จบวุฒิการศึกษา ปวส. สาขาทางด้านเทคนิค เป็น 50 บาท/วันทำงาน/ทุกตำแหน่ง” จึงหมายความว่าลูกจ้างที่จะได้รับเงินค่าตำแหน่งช่างเทคนิควันละ 50 บาท จะต้องจบการศึกษาระดับ ปวส. สาขาเทคนิค โดยจะต้องนำความรู้ทางด้านเทคนิคมาใช้ทำงานให้แก่จำเลยในตำแหน่งช่างเทคนิคหรือในตำแหน่งอื่นที่ต้องใช้ความรู้ดังกล่าว และจะได้รับเงินค่าตำแหน่งเฉพาะวันที่มาทำงานเท่านั้น มิใช่จ่ายให้โดยไม่คำนึงถึงตำแหน่งหน้าที่ในการทำงาน การที่จำเลยโยกย้ายโจทก์จากตำแหน่งช่างเทคนิคไปทำงานในตำแหน่งเสมียนก็เนื่องจากโจทก์ซึ่งเป็นประธานสหภาพแรงงานประสงค์จะไปดำเนินกิจกรรมสหภาพแรงงานเต็มเวลา คือ ไม่ต้องทำงานตามหน้าที่ลูกจ้างให้แก่จำเลย ที่จำเลยอนุญาตให้โจทก์ไปดำเนินกิจกรรมสหภาพแรงงานเต็มเวลาโดยจ่ายค่าจ้างให้เสมือนโจทก์มาทำงานให้แก่จำเลยจึงนับว่าเป็นคุณแก่โจทก์แล้ว เมื่อการโยกย้ายหน้าที่โจทก์เป็นอำนาจบริหารจัดการของจำเลย ทั้งไม่มีข้อตกลงห้ามมิให้จำเลยโยกย้ายหน้าที่โจทก์ และการโยกย้ายหน้าที่โจทก์ดังกล่าวไม่ปรากฏว่าจำเลยมีเจตนากลั่นแกล้ง แม้การทำงานในตำแหน่งเสมียนของโจทก์จะทำให้โจทก์ไม่ได้รับเงินค่าตำแหน่ง แต่โจทก์ก็ยังคงได้รับเงินเดือนและสวัสดิการอื่นเหมือนเดิม กรณีจึงไม่เป็นการลดค่าจ้างหรือเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างหรือจำเลยกระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานต่อโจทก์

ย่อยาว

คดีสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้พิจารณารวมกับคดีหมายเลขดำที่ 3449/2551 ของศาลแรงงานกลาง ระหว่างการพิจารณาของศาลแรงงานกลางโจทก์ในคดีดังกล่าวขอถอนฟ้อง ศาลแรงงานกลางอนุญาต คดีจึงมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาเฉพาะสำนวนนี้
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยให้โจทก์ทำงานในตำแหน่งหน้าที่เดิมและได้รับเงินค่าตำแหน่งเช่นเดิมตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง และให้จำเลยจ่ายเงินค่าตำแหน่งแก่โจทก์นับแต่วันทำการโยกย้ายและหักเงินค่าตำแหน่งโจทก์วันละ 50 บาท นับแต่วันที่ถูกหักจนกว่าจะงดการหักเงินค่าตำแหน่งของโจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลย เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2551 โจทก์ในฐานะประธานสหภาพแรงงานกลุ่มเดลต้าอีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) ได้มีหนังสือแจ้งจำเลยถึงรายชื่อกรรมการสหภาพแรงงานดังกล่าว ทั้งแจ้งด้วยว่าโจทก์ในฐานะประธานสหภาพแรงงานต้องทำงานให้แก่สหภาพแรงงานเต็มเวลา จำเลยจึงมีคำสั่งให้โจทก์ไปประจำส่วนกลางฝ่ายบุคคลในตำแหน่งเสมียน ทำให้ตำแหน่งเดิมของโจทก์คือตำแหน่งช่างเทคนิคต้องว่างลง จำเลยได้ย้ายลูกจ้างคนอื่นไปทำงานตำแหน่งช่างเทคนิคแทนโจทก์ แล้ววินิจฉัยว่า การย้ายดังกล่าวเพื่อประโยชน์ในการบริหารงานของจำเลยเพื่อให้งานภายในองค์กรของจำเลยดำเนินต่อไปโดยไม่เสียหาย ไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง จำเลยไม่ต้องย้ายโจทก์กลับไปทำงานในตำแหน่งเดิม และเมื่อตำแหน่งใหม่ของโจทก์ไม่มีเงินค่าตำแหน่ง โจทก์จึงไม่อาจเรียกร้องเงินค่าตำแหน่งจากจำเลยได้
ปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า จำเลยต้องโยกย้ายโจทก์กลับไปทำงานในตำแหน่งช่างเทคนิค และคืนเงินค่าตำแหน่งให้แก่โจทก์ตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ทำขึ้นระหว่างจำเลยกับสหภาพแรงงานกลุ่มเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) ระบุว่า “ทางบริษัทฯ (หมายถึงจำเลย) ตกลงให้ค่าตำแหน่งช่างเทคนิค ที่จบวุฒิการศึกษา ปวส. สาขาทางด้านเทคนิค เป็น 50 บาท/วันทำงาน/ทุกตำแหน่ง” ซึ่งมีความหมายว่าลูกจ้างที่จะได้รับเงินค่าตำแหน่งช่างเทคนิควันละ 50 บาท จะต้องจบการศึกษาระดับ ปวส. สาขาเทคนิค โดยจะต้องนำความรู้ทางด้านเทคนิคมาใช้ทำงานให้แก่จำเลยในตำแหน่งช่างเทคนิคหรือในตำแหน่งอื่นที่ต้องใช้ความรู้ดังกล่าว และจะได้รับเงินค่าตำแหน่งเฉพาะในวันที่มาทำงานเท่านั้น มิได้มีความหมายว่าจำเลยจะจ่ายเงินค่าตำแหน่งช่างเทคนิคให้แก่ลูกจ้างที่จบการศึกษาระดับ ปวส. สาขาเทคนิคทุกคนโดยไม่คำนึงถึงตำแหน่งหน้าที่ในการทำงาน ทั้งจำเลยตกลงจ่ายเงินค่าตำแหน่งให้แก่ลูกจ้างเฉพาะในวันที่ลูกจ้างมาทำงานเท่านั้น จึงเป็นการจ่ายเพื่อให้ลูกจ้างเข้าทำงานในหน้าที่ของตนด้วยดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุที่จำเลยโยกย้ายโจทก์จากตำแหน่งช่างเทคนิคไปทำงานในตำแหน่งเสมียนก็เนื่องมาจากโจทก์ซึ่งเป็นประธานสหภาพแรงงานประสงค์ที่จะไปดำเนินกิจกรรมสหภาพแรงงานเต็มเวลา คือ ไม่ต้องทำงานตามหน้าที่ลูกจ้างให้แก่จำเลย ซึ่งการที่จำเลยอนุญาตให้โจทก์ไปดำเนินกิจกรรมสหภาพแรงงานเต็มเวลาโดยจ่ายค่าจ้างให้เสมือนโจทก์มาทำงานตามหน้าที่ให้แก่จำเลย นับได้ว่าเป็นคุณแก่โจทก์อยู่แล้ว การโยกย้ายหน้าที่และการจัดสรรคนให้เหมาะสมกับงานย่อมเป็นอำนาจบริหารจัดการของจำเลยผู้เป็นนายจ้าง เมื่อคดีนี้ไม่ปรากฏว่ามีข้อตกลงหรือมีสัญญาจ้างแรงงานกำหนดข้อห้ามมิให้จำเลยโยกย้ายหน้าที่การทำงานของโจทก์ การโยกย้ายหน้าที่โจทก์จึงเป็นไปเพื่อความเหมาะสมและเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยมีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ ดังนี้ การที่จำเลยโยกย้ายให้โจทก์ไปทำงานในตำแหน่งเสมียนซึ่งเป็นตำแหน่งที่ไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าตำแหน่ง โดยเงินเดือนและสวัสดิการอื่นที่โจทก์เคยได้รับยังคงเหมือนเดิม กรณีจึงไม่เป็นการลดค่าจ้างหรือเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างหรือเป็นการกระทำที่ผิดสัญญาจ้างแรงงาน อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายดังที่โจทก์อ้างมาในอุทธรณ์ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share