คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 870/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชนหรือการกระทำด้วยประการใด ๆ ให้ปรากฏแก่บุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไป อันจะทำให้เป็นความผิดสำเร็จฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนไม่จำเป็นที่จำเลยที่ 1 จะต้องกระทำการดังกล่าวต่อผู้เสียหายแต่ละคนด้วยตนเองตั้งแต่ต้นทุกครั้งเป็นคราว ๆ ไป เพียงแต่จำเลยที่ 1 แสดงข้อความดังกล่าวให้ปรากฏแก่ผู้เสียหายแม้เพียงบางคน แต่เป็นผลให้ประชาชนหลงเชื่อและนำเงินมาให้จำเลยที่ 1 กู้ยืม ก็ถือว่าเป็นการกระทำความผิดแล้ว ดังนั้นการที่ผู้เสียหายแต่ละคนนำเงินมาให้กู้ยืมและจำเลยที่ 1 รับไว้ ถือว่าเป็นความผิดสำเร็จสำหรับผู้เสียหายแต่ละคน จึงเป็นความผิดหลายกรรมตามจำนวนผู้เสียหาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างเดือนมีนาคม 2546 ถึงวันที่ 26 กรกฎาคม 2546 ทั้งเวลากลางวันและเวลากลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยทั้งสองได้กระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกันคือ จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำการฉ้อโกงประชาชนและกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน โดยหลอกลวงนางหัทยา อ้วนถา ผู้เสียหายที่ 1 นางอำพร ทองยาน ผู้เสียหายที่ 2 นางวะราภรณ์ อ้วนถา ผู้เสียหายที่ 3 นางพรเพชร คำภูเงิน ผู้เสียหายที่ 4 นางสุนา ก่านศิลา ผู้เสียหายที่ 5 นางเรืองศิลป์ บุตรชาติ ผู้เสียหายที่ 6 นายนิคม ถึงแสง ผู้เสียหายที่ 7 นางอุดมภรณ์ ถึงแสง ผู้เสียหายที่ 8 นางมยุรี ถึงแสง ผู้เสียหายที่ 9 นางปรารถนา ฝ่ารีย์ ผู้เสียหายที่ 10 นางสนม ฆารพันธ์ ผู้เสียหายที่ 11 นายถวิล เวยสาร ผู้เสียหายที่ 12 นางหนูไกร สุธรรมพิจิตร ผู้เสียหายที่ 13 และนางวิลาวัลย์ ก่านศิลา ผู้เสียหายที่ 14 และประชาชน ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นความเท็จและปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชนว่า จำเลยทั้งสองรับกู้ยืมเงินจากประชาชนทั่วไปโดยไม่จำกัดบุคคลและวงเงิน ด้วยการรับเข้าร่วมลงทุนในลักษณะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนในอัตราร้อยละ 15 ต่อเดือน ของจำนวนเงินที่รับกู้ยืมซึ่งสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้ ความจริงจำเลยทั้งสองไม่ได้ประกอบกิจการใด ๆ และรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าตนไม่สามารถประกอบกิจการใด ๆ โดยชอบด้วยกฎหมายที่จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนพอเพียงที่จะนำมาจ่ายในอัตรานั้นได้ ทั้งจำเลยทั้งสองยังมีเจตนาทุจริตที่จะไม่คืนเงินคืนแก่ผู้เสียหายผู้ให้กู้ยืมเงินมาแต่แรก โดยการนำเงินที่ได้จากการหลอกหลวงผู้ให้กู้ยืมออกหมุนเวียนจ่ายเป็นผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่ผู้ให้กู้ยืมรายนั้นเอง หรือรายอื่นบางรายอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประชาชนหลงเชื่อว่าการให้จำเลยทั้งสองกู้ยืมเงินในลักษณะที่เป็นการร่วมลงทุนนั้นได้รับผลประโยชน์ตอบแทนสูงและพากันนำเงินมาให้จำเลยทั้งสองกู้ยืม เมื่อได้เงินมากพอ จำเลยทั้งสองก็จะร่วมกันเอาเงินดังกล่าวหลบหนีไปและโดยการร่วมกันหลอกลวงของจำเลยทั้งสองดังกล่าวเป็นเหตุให้ผู้เสียหายทั้งสิบสี่คน ต่างหลงเชื่อและให้จำเลยทั้งสองกู้ยืมเงินไปซึ่งในที่สุดผู้เสียหายทั้งสิบสี่คนก็ไม่ได้รับเงินต้นคืน ทำให้ผู้เสียหายทั้งสิบสี่คน เสียหายรวมเป็นเงิน 512,350 บาท ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 343 พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 4, 5, 9, 12 และขอให้ศาลสั่งให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนต้นเงินกู้ที่จำเลยทั้งสองฉ้อโกงไปและยังไม่ได้คืนรวมเป็นเงิน 512,350 บาท ให้แก่ผู้เสียหายทั้งสิบสี่คนพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะคืนเงินต้นเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ส่วนจำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 2 โดยให้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นคดีใหม่
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 4, 12 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 4, 12 ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำเลยที่ 1 กระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน รวม 9 กรรม ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 9 กระทง จำคุก 45 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 22 ปี 6 เดือน แต่ความผิดที่จำเลยที่ 1 กระทำมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปีแต่ไม่เกินสิบปี จึงให้คงจำคุกเพียง 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) ให้จำเลยที่ 1 คืนต้นเงินกู้ที่ยังไม่ได้คืนจำนวน 512,350 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 1 จะชำระเสร็จแก่ผู้เสียหายทั้งสิบสี่คน
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคแรก พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง, 12 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง, 12 ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 5 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้ว จำคุก 2 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้มีผู้เสียหาย 14 คน มาแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษจำเลยทั้งสอง จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพตามฟ้องและข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 โดยโจทก์และจำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์ฎีกาโต้แย้งว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน และกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน อันเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทคือต่อประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคแรก บทหนึ่ง และต่อพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง, 12 อีกบทหนึ่ง ศาลล่างทั้งสองลงโทษตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนซึ่งมีบทกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 โดยศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิด 9 กรรม ตามช่วงเวลาที่จำเลยที่ 1 หลอกลวงผู้เสียหายแต่ละคนตามที่ปรากฏในบัญชีทรัพย์ที่ถูกประทุษร้ายไม่ได้คืน เอกสารหมาย จ.4 จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดเพียงครั้งเดียวเป็นความผิดกรรมเดียว ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่า เจตนาที่แท้จริงของจำเลยที่ 1 ก็เพื่อประสงค์ได้เงินกู้จากผู้เสียหายทั้งสิบสี่คน ส่วนวันเดือนปีที่ผู้เสียหายแต่ละคนมอบเงินกู้ให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นผลที่เกิดจากการพูดหลอกลวงของจำเลยที่ 1 เท่านั้น ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 พูดหลอกลวงผู้เสียหายแต่ละคนเป็นคราว ๆ ไป การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดเพียงกรรมเดียว มิใช่หลายกรรมต่างกัน มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรม เห็นว่า ตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ผู้ใดโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชน หรือกระทำด้วยประการใด ๆ ให้ปรากฏแก่บุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปว่า ในการกู้ยืมเงิน ตนหรือบุคคลใดจะจ่ายหรืออาจจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้ตามพฤติการณ์แห่งการกู้ยืมเงิน ในอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้ โดยที่ตนรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่า ตนหรือบุคคลนั้นจะนำเงินจากผู้ให้กู้ยืมเงินรายนั้นหรือรายอื่นมาจ่ายหมุนเวียนให้แก่ผู้ให้กู้ยืมเงิน หรือโดยที่ตนรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่า ตนหรือบุคคลนั้นไม่สามารถประกอบกิจการใด ๆ โดยชอบด้วยกฎหมายที่จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนพอเพียงที่จะนำมาจ่ายในอัตรานั้นได้ และในการนั้นเป็นเหตุให้ตนหรือบุคคลใดได้กู้ยืมเงินไป ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน เห็นว่า การโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชนหรือการกระทำด้วยประการใด ๆ ให้ปรากฏแก่บุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไป อันจะทำให้เป็นความผิดสำเร็จฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนไม่จำเป็นที่จำเลยที่ 1 จะต้องกระทำการดังกล่าวต่อผู้เสียหายแต่ละคนด้วยตนเองตั้งแต่ต้นทุกครั้งเป็นคราว ๆ ไป เพียงแต่จำเลยที่ 1 แสดงข้อความดังกล่าวให้ปรากฏแก่ผู้เสียหายแม้เพียงบางคน แต่เป็นผลให้ประชาชนหลงเชื่อและนำเงินมาให้จำเลยที่ 1 กู้ยืม ก็ถือว่าเป็นการกระทำความผิดแล้ว ข้อสำคัญที่ทำให้ความผิดสำเร็จอยู่ที่ในการนั้นเป็นเหตุให้ตนหรือบุคคลใดได้เงินกู้ยืมไปจากผู้ถูกหลอกลวง ดั้งนั้นการที่ผู้เสียหายแต่ละคนนำเงินมาให้กู้ยืมและจำเลยที่ 1 รับไว้ ถือว่าเป็นความผิดสำเร็จสำหรับผู้เสียหายแต่ละคน จึงเป็นความผิดหลายกรรมตามจำนวนผู้เสียหาย คือ 14 กรรม ศาลชั้นต้นลงโทษเพียง 9 กรรม แต่โจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกาขอให้ลงโทษให้ถูกต้อง ศาลฎีกาจึงไม่อาจแก้ไขได้ เพราะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 1 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคแรก พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง, 12 เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง, 12 ซึ่งเป็นกฎหมายบทมีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 และเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป รวม 9 กระทง สำหรับโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.

Share