แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อโจทก์ทราบว่าจำเลยมีคำสั่งบริษัท ส. เรื่อง การลงบันทึกเวลาในระดับผู้บริหารที่ไปจัดการธุรกิจให้บริษัทซึ่งเป็นคำสั่งในหน้าที่เพื่อควบคุมการปฏิบัติงานโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วไม่ปฏิบัติตาม การกระทำของโจทก์จึงเป็นการจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งนายจ้างจะไล่ออกโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทดแทนก็ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 และ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคห้า โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 128,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และค่าชดเชย 120,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 128,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และค่าชดเชย 120,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ตามข้อเท็จจริงที่ยุติในชั้นพิจารณาของศาลแรงงานกลางปรากฏว่า เมื่อเดือนสิงหาคม 2546 จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างในตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 120,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน ต่อมาวันที่ 30 กรกฎาคม 2547 จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์อ้างเหตุว่าโจทก์ขาดงานเป็นระยะเวลา 3 วันติดต่อกันตั้งแต่วันศุกร์ที่ 23 กรกฎาคม 2547 วันจันทร์ที่ 26 กรกฎาคม 2547 และวันอังคารที่ 27 กรกฎาคม 2547 และไม่มีบันทึกรายละเอียดแจ้งวัน เวลา และสถานที่ให้ผู้บังคับบัญชาทราบ โดยจำเลยมีคำสั่งบริษัทส่งเสริมการค้าเอสเอ็มอี จำกัด เรื่อง การลงบันทึกเวลาในระดับผู้บริหารที่ไปจัดการธุรกิจให้บริษัท ระบุว่าตามที่มีการประชุมในระดับผู้บริหารเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2547 และผู้จัดการพิเศษได้แจ้งให้พนักงานในระดับรองกรรมการผู้จัดการ ผู้อำนวยการฝ่าย และผู้จัดการฝ่ายทราบในเรื่องการไปจัดการธุรกิจให้บริษัท ติดต่อบุคคลภายนอก ขอให้แจ้งวัน เวลา และสถานที่ โดยให้บันทึกรายละเอียดดังกล่าวไว้ในสมุดที่ได้จัดเตรียมให้ที่คุณณลัญฉ์ฉวีสั่ง ณ วันที่ 1 กรกฎาคม 2547 หรืออาจโทรศัพท์แจ้งให้นางสาวณลัญฉ์ฉวีลงบันทึกแทน โจทก์ทราบคำสั่งดังกล่าวแล้วและปฏิบัติมาตลอด แต่ในวันที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ขาดงานไป โจทก์อ้างว่าเหตุที่ไม่ได้โทรศัพท์แจ้งให้นางสาวณลัญฉ์ฉวีทราบว่าโจทก์ไปทำงานนอกสำนักงานเพราะไม่เคยชินกับการปฏิบัติตามระเบียบใหม่เนื่องจากทำงานกับจำเลยเป็นเวลานานไม่เคยปฏิบัติเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในระเบียบใหม่ ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า ในวันดังกล่าวที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ขาดงานนั้น โจทก์ไปทำงานนอกสำนักงานตามที่ปฏิบัติเป็นประจำ แต่โจทก์ขัดคำสั่ง มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการเดียวว่า จำเลยต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์หรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์จงใจขัดคำสั่งของผู้จัดการพิเศษที่สั่งให้พนักงานระดับรองกรรมการผู้จัดการที่ไปจัดการธุรกิจภายนอกบริษัทต้องลงบันทึกวัน เวลา และสถานที่ปฏิบัติงาน หากไม่ลงลายมือชื่อก็อาจโทรศัพท์แจ้งให้พนักงานบริษัททราบเพื่อลงบันทึกแทน การกระทำของโจทก์จึงเป็นการจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า เมื่อโจทก์ทราบว่าจำเลยมีคำสั่งบริษัทส่งเสริมการค้าเอสเอ็มอี จำกัด เรื่อง การลงบันทึกเวลาในระดับผู้บริหารที่ไปจัดการธุรกิจให้บริษัท ซึ่งเป็นคำสั่งในหน้าที่เพื่อควบคุมการปฏิบัติงานโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วไม่ปฏิบัติตาม จึงเป็นการจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งนายจ้างจะไล่ออกโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทดแทนก็ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคห้า โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง
??
??
??
??
1/2