คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 947/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดฐานแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาตและฐานมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 48 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้ ห้ามมิให้ผู้ใดแปรรูปไม้…มีไม้สักแปรรูปไม่ว่าจำนวนเท่าใดไว้ในครอบครอง หรือมีไม้แปรรูปชนิดอื่นเป็นจำนวนเกิน 0.20 ลูกบาศก์เมตร ไว้ในครอบครอง เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่…” ดังนั้น การแปรรูปไม้และการมีไม้แปรรูปจะเป็นความผิดก็ต่อเมื่อความผิดดังกล่าวกระทำในเขตควบคุมการแปรรูปไม้ เขตควบคุมการแปรรูปไม้จึงถือเป็นองค์ประกอบความผิด แม้โจทก์บรรยายฟ้องว่ามีการนำประกาศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดเขตควบคุมการแปรรูปไม้ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2499 ไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีการนำไปปิดประกาศ ณ ที่ว่าการอำเภอ ที่ทำการกำนัน หรือที่สาธารณะที่เกี่ยวข้อง แต่ประกาศของรัฐมนตรีฯ หาใช่กฎหมายหรือเป็นข้อเท็จจริงที่ประชาชนรู้กันทั่วไป เมื่อจำเลยปฏิเสธ โจทก์จึงต้องมีภาระพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่าที่เกิดเหตุอยู่ในเขตควบคุมการแปรรูปไม้ เมื่อโจทก์มิได้นำสืบจึงไม่อาจรับฟังได้ว่าที่เกิดเหตุอยู่ในเขตควบคุมการแปรรูปไม้ ข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบขาดองค์ประกอบความผิดของมาตรา 48 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาตและฐานมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 11, 47, 48, 54, 72 ตรี, 73, 74 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 4, 5, 6, 9, 14, 31, 35 ริบของกลาง กับให้จำเลยและบริวารออกจากพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง, 48 วรรคหนึ่ง, 73 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง, 31 วรรคสอง (3) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานทำไม้หวงห้ามและฐานทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ อันเป็นการก่อให้เกิดความเสียหายแก่ต้นน้ำลำธาร เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ อันเป็นการก่อให้เกิดความเสียหายแก่ต้นน้ำลำธาร ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี และปรับ 60,000 บาท ฐานแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 ปี และปรับ 40,000 บาท และฐานมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 ปี และปรับ 40,000 บาท รวมจำคุก 4 ปี และปรับ 140,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง ให้จำเลยและบริวารออกจากพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ข้อหาอื่นนอกนี้ให้ยกฟ้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 แผนกคดีสิ่งแวดล้อมพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง, 31 วรรคสอง (3) พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง, 73 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ อันเป็นการก่อให้เกิดความเสียหายแก่ต้นน้ำลำธาร ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี และปรับ 60,000 บาท ข้อหาอื่นนอกนี้ให้ยกฟ้อง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายกฟ้องสำหรับความผิดฐานแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาตและฐานมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตชอบหรือไม่ เห็นว่า ความผิดฐานแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาตและฐานมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 48 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้ ห้ามมิให้ผู้ใดแปรรูปไม้…. มีไม้สักแปรรูปไม่ว่าจำนวนเท่าใดไว้ในครอบครอง หรือมีไม้แปรรูปชนิดอื่นเป็นจำนวนเกิน 0.20 ลูกบาศก์เมตร ไว้ในครอบครอง เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่…” ดังนั้น การแปรรูปไม้และการมีไม้แปรรูปที่จะเป็นความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าวได้จะต้องกระทำภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้ เขตควบคุมการแปรรูปไม้จึงเป็นข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิด แม้ตามฟ้องของโจทก์ระบุว่ามีการนำประกาศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดเขตควบคุมการแปรรูปไม้ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2499 ไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีการคัดสำเนาประกาศดังกล่าวปิดไว้ ณ ที่ว่าการอำเภอ ที่ทำการกำนัน หรือที่สาธารณะในท้องที่ที่เกี่ยวข้องก็ตาม แต่ประกาศของรัฐมนตรี ฯ ดังกล่าวก็หาใช่เป็นกฎหมายหรือเป็นข้อเท็จจริงที่ประชาชนรู้กันทั่วไป เมื่อจำเลยให้การปฏิเสธจึงเป็นภาระของโจทก์ที่ต้องนำสืบให้ปรากฏข้อเท็จจริงว่าที่เกิดเหตุอยู่ภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้ คดีนี้ปรากฏว่าโจทก์มิได้นำสืบถึงประกาศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฉบับดังกล่าว โดยนำตัวประกาศหรือสำเนาอันเจ้าหน้าที่รับรองว่าถูกต้องมาแสดง ทั้งไม่มีพยานบุคคลมาเบิกความถึงในเรื่องนี้ กรณีจึงไม่อาจรับฟังได้ว่าท้องที่เกิดเหตุที่จำเลยแปรรูปไม้และมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครองอยู่ภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้ตามฟ้องของโจทก์ ข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบขาดองค์ประกอบของความผิดตามมาตรา 48 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาตและฐานมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายกฟ้องสำหรับความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวนั้น ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่โจทก์ฎีกาต่อไปว่า หากศาลเห็นว่ายังไม่อาจรับฟังได้แน่ชัดว่า ที่เกิดเหตุเป็นเขตควบคุมการแปรรูปไม้หรือไม่ ศาลมีอำนาจถามโจทก์ จำเลย หรือพยานคนใดก็ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 235 วรรคหนึ่ง เพื่อค้นหาและพิสูจน์ความจริงนั้น เห็นว่า ฎีกาของโจทก์ดังกล่าวมิได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ว่าไม่ถูกต้องด้วยข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายอย่างไร จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และมาตรา 216 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน

Share