แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่า จำเลยฎีกาโต้เถียงดุลพินิจโดยขอรอการลงโทษ จึงเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 ซึ่งต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงไม่รับฎีกาของจำเลย
จำเลยเห็นว่า ฎีกาข้อ 2.1 เป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า การที่จำเลยยื่นคำให้การรับสารภาพรวมกับคำแถลงซึ่งหากอ่านรวมกันแล้วจะแปลได้ว่า จำเลยไม่ทราบถึงการกระทำความผิดตามฟ้องโจทก์จะถือว่าเป็นคำให้การรับสารภาพของจำเลยหรือไม่และฎีกาข้อ 2.2ก็เป็นปัญหาข้อกฎหมายขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยรอการลงอาญาแก่จำเลย โปรดมีคำสั่งให้รับฎีกาของจำเลยด้วย
หมายเหตุ โจทก์ได้รับสำเนาคำร้องแล้ว (อันดับ 24)
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 265,268,91 ฯลฯ พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522มาตรา 42,64,66 ฐานปลอมและใช้ใบขับขี่ ฯ ปลอม ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 268 วรรคท้าย โดยวางโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265จำคุก 3 ปี ฐานขับรถโดยไม่มีใบอนุญาตปรับ 600 บาท รวมจำคุก3 ปี และปรับ 600 บาท จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุก 1 ปี 6 เดือน ปรับ 300 บาท ฯลฯ
จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าว (อันดับ 22)
จำเลยจึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 24)
คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว คำให้การของจำเลยระบุชัดว่าจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องตลอดข้อหา แม้จำเลยจะยื่นคำแถลงประกอบการพิจารณาเพื่อขอให้ศาลรอการลงโทษ แต่ศาลชั้นต้นก็รับคำแถลงนี้เป็นคำร้องขอรอการลงโทษ มิได้รับเป็นส่วนหนึ่งของคำให้การฎีกาของจำเลยข้อ 2.1 ที่ว่า ศาลชั้นต้นรับคำแถลงของจำเลยรวมเป็นคำให้การจำเลย และเมื่อพิจารณาคำให้การและคำแถลงรวมกันแล้วถือไม่ได้ว่าเป็นการให้การรับสารภาพนั้น จำเลยกล่าวอ้างข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ว่าศาลชั้นต้นรับคำแถลงของจำเลยรวมเป็นคำให้การจำเลย ซึ่งขัดกับคำสั่งศาลชั้นต้นอย่างเห็นได้ชัดจึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ส่วนฎีกาจำเลยในข้อ 2.2 ของจำเลยที่ว่า ศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในข้อที่จำเลยขอให้รอการลงโทษนั้นก็ปรากฏว่าศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวไว้เพียงพอแล้วศาลชั้นต้นไม่รับฎีกาของจำเลยชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง