แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การที่โจทก์บรรยายฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินและตึกพิพาทเพียงว่าที่ดินและตึกพิพาทเป็นสินสมรสของบิดามารดาโจทก์ระหว่างบิดามารดาโจทก์อยู่กินร่วมกัน บิดาโจทก์ได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินและตึกพิพาทให้จำเลยซึ่งเป็นเลขานุการและเป็นภริยาไม่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาโจทก์ และมีการปลอมลายมือชื่อของมารดาโจทก์ในหนังสือให้ความยินยอมนิติกรรมการซื้อขายจึงไม่สมบูรณ์และไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เมื่อโจทก์มิได้บรรยายถึงการกระทำของจำเลยว่าได้รับโอนที่ดินและตึกพิพาทมาโดยไม่สุจริต จำเลยให้การว่าจำเลยซื้อมาโดยสุจริต จึงฟังได้ว่าขณะที่ทำนิติกรรมการซื้อขายนั้นจำเลยซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้กระทำการโดยสุจริต โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1480 คดีไม่มีประเด็นที่จะพิจารณาต่อไป
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบุตรของนายกระแสร์กับนางสุจิตราอุณหสุวรรณ ซึ่งจดทะเบียนสมรสกันโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อวันที่27 มกราคม 2524 มารดาโจทก์ตาย โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของมารดาตามคำสั่งศาล ทรัพย์มรดกของมารดาโจทก์มีที่ดินโฉนดเลขที่ 5140ตำบลบ้านพานถม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร พร้อมตึกแถวเลขที่ 96ปากซอยวรพงษ์ บางลำภู ซึ่งเป็นสินสมรสของบิดามารดาโจทก์ ต่อมาวันที่ 8 ธันวาคม 2529 บิดาโจทก์ตาย โจทก์ได้ไปติดต่อเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครเพื่อสอบหลักฐานโฉนดดังกล่าว ปรากฏว่าบิดาโจทก์ได้โอนขายที่ดินและตึกแถวแก่จำเลยเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2523 โดยมีผู้ปลอมลายมือชื่อมารดาโจทก์ในหนังสือให้ความยินยอมในการโอนขายที่ดินพร้อมตึกแถวดังกล่าวให้แก่จำเลย การทำนิติกรรมซื้อขายจึงไม่สมบูรณ์และไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ดินพร้อมตึกแถวดังกล่าวราคาประมาณ 2,000,000 บาท โจทก์ พี่ชาย และน้องสาวโจทก์เป็นทายาทโดยธรรมของมารดามีสิทธิได้รับ 3 ใน 8 ส่วน คิดเป็นเงิน750,000 บาท ได้เจรจาประนีประนอมกับจำเลยแล้ว แต่จำเลยไม่ยอมแบ่งขอให้เพิกถอนนิติกรรมสัญญาซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 5140 ตำบลบ้านพานถม (บางขุนพรหม) อำเภอพระนคร (ดุสิต) กรุงเทพมหานครและตึกแถวเลขที่ 96 ปากซอยวรพงษ์ บางลำภู ซึ่งทำเมื่อวันที่31 ตุลาคม 2523 ระหว่างบิดาโจทก์กับจำเลย ให้จำเลยแบ่งทรัพย์มรดก3 ใน 8 ส่วนของที่ดินและตึกแถวให้แก่นายวีกิจ อุณหสุวรรณ โจทก์และนางบุษบา อุณหสุวรรณ คิดเป็นเงิน 750,000 บาท ถ้าตกลงแบ่งกันไม่ได้ ให้ประมูลกันเองหรือขายทอดตลาดเอาเงินมาแบ่งให้ตามส่วน
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2523จำเลยได้ซื้อที่ดินโฉนดตามฟ้องพร้อมบ้านเลขที่ 96 ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินจากนายกระแสร์ อุณหสุวรรณ โดยสุจริต ได้ชำระค่าตอบแทนและจดทะเบียนนิติกรรมการซื้อขายโดยสุจริต โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องให้เพิกถอน โจทก์ไม่เคยบอกล้างนิติกรรมการซื้อขายที่ดินและบ้านดังกล่าว และโจทก์หรือมารดาโจทก์ไม่ใช้สิทธิบอกล้างนิติกรรมการซื้อขายภายใน 1 ปี นับแต่วันรู้หรือควรจะรู้ จึงขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลย แล้วพิพากษาว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ปัญหาต่อไปมีว่า ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลยและวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องชอบหรือไม่เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินและตึกพิพาทแต่เพียงว่า ที่ดินและตึกพิพาทเป็นสินสมรสของบิดามารดาโจทก์ ระหว่างบิดามารดาโจทก์อยู่กินร่วมกัน บิดาโจทก์ได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินและตึกพิพาทให้แก่จำเลยในขณะที่จำเลยเป็นเลขานุการและเป็นภริยาไม่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาโจทก์ และมีผู้ปลอมลายมือชื่อของมารดาโจทก์ลงในหนังสือให้ความยินยอมนิติกรรมการซื้อขายจึงไม่สมบูรณ์และไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยมิได้บรรยายถึงการกระทำของจำเลยว่า ได้รับโอนที่ดินและตึกพิพาทมาโดยไม่สุจริต ที่บรรยายว่าจำเลยเป็นเลขานุการและภริยาไม่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาโจทก์นั้นเป็นการบรรยายเกี่ยวกับสภาพสถานะของจำเลยหาใช่ว่าจำเลยจะได้กระทำโดยไม่สุจริตไม่ และที่บรรยายว่าลายมือชื่อของมารดาโจทก์ในหนังสือให้ความยินยอมปลอมนั้นก็มิได้กล่าวอ้างว่าจำเลยเป็นผู้ปลอมหรือร่วมรู้เห็นในการปลอมด้วย ดังนี้ เมื่อจำเลยให้การว่าจำเลยซื้อที่ดินและตึกพิพาทมาโดยสุจริตตามคำฟ้องและคำให้การจึงฟังเป็นยุติได้แล้วว่า ขณะที่ทำนิติกรรมการซื้อขายนั้นจำเลยซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้กระทำการโดยสุจริต โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1480คดีจึงไม่มีประเด็นที่จะต้องพิจารณาต่อไป…”
พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์