คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 24/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

หนี้ที่เกิดขึ้นโดยผลของคำพิพากษา แม้จะยังไม่ถึงที่สุดก็ตามคู่ความก็ต้องผูกพันในผลของคำพิพากษานั้นจนกว่าคำพิพากษาจะถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขกลับหรืองดเสีย จึงถือได้ว่าเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 9(3)เมื่อจำเลยที่ 1 ทราบคำบังคับและหมายบังคับคดีแล้วได้โอนทรัพย์สินของตนไปเสียทั้งหมด ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มีทรัพย์สินรวมกันไม่พอชำระหนี้ให้โจทก์กรณีจึงไม่มีเหตุที่ยังไม่สมควรให้จำเลยที่ 1ล้มละลายตาม พ.ร.บ. ล้มละลายฯ มาตรา 14.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่าโจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสี่ฐานร่วมกันกระทำละเมิด และศาลชั้นต้นได้พิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้เงินแก่โจทก์ 11,062,905 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้ชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท แต่จำเลยทั้งสี่ไม่ชำระโจทก์จึงขอให้ศาลตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลยทั้งสี่ แต่จำเลยทั้งสี่ไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ ขอให้สั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสี่เด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่เป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยทั้งสี่ไม่ยื่นคำให้การและจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสี่เด็ดขาด ตามพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว “ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติตามที่โจทก์และจำเลยที่ 1 นำสืบรับกันว่า จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 บาท แต่คำพิพากษาของศาลชั้นต้นยังไม่ถึงที่สุด โดยคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ และจำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ให้โจทก์ได้อันต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่า จำเลยที่ 1มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8(5) แล้ว ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า หนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวเมื่อยังไม่ถึงที่สุดก็เป็นหนี้ที่ไม่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนและมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยที่ 1 ล้มละลายนั้น เห็นว่าแม้หนี้ตามที่โจทก์ฟ้องจะเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นโดยผลของคำพิพากษาซึ่งยังไม่ถึงที่สุดก็ตาม แต่คู่ความก็ต้องผูกพันในผลของคำพิพากษานั้นจนกว่าคำพิพากษาจะถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไข กลับหรืองดเสีย ดังนี้หนี้ดังกล่าวจึงถือได้ว่าเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 9(3) แล้ว ทั้งปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์ว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ทราบคำบังคับและหมายบังคับคดีของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 ได้โอนทรัพย์สินของตนไปหมดแล้ว ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มีทรัพย์สินรวมกันเพียงประมาณ 800,000 บาทเท่านั้น ไม่พอชำระหนี้ให้โจทก์ซึ่งมีจำนวนหนี้ทั้งสิ้นถึง11,000,000 บาทเศษ กรณีจึงไม่มีเหตุที่ยังไม่สมควรให้จำเลยที่ 1ล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14 ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำสั่งและคำพิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share