คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 945/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 นั้น ทำได้เฉพาะในศาลชั้นต้นเท่านั้น แม้ข้อตกลงในสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้เงินที่ให้โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วนก่อนหนี้ถึงกำหนดชำระ จะทำให้จำเลยที่ 1 เสียเปรียบต่อโจทก์ แต่ข้อตกลงดังกล่าวก็เกิดขึ้นด้วยความสมัครใจของจำเลยที่ 1เอง หาเกี่ยวกับสังคมหรือประชาชนไม่ ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ไม่เป็นโมฆะ จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 2จะมีที่อยู่แยกต่างหากจากภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 แต่ก็ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 มีหลักแหล่งที่ทำการเป็นปกติแห่งเดียวกับจำเลยที่ 1ดังนั้น การที่โจทก์ส่งหนังสือบอกกล่าวไปยังภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 ถือว่าจำเลยที่ 2 ทราบคำบอกกล่าวแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย จำเลยที่ 1 เป็นบริษัทจำกัดโดยจำเลยที่ 2 มีอำนาจลงลายมือชื่อกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ได้ จำเลยที่ 1 เป็นลูกค้าโจทก์สาขานครปฐมเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเลขที่ 3469 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจากโจทก์หลายครั้งและรับเงินไป ดอกเบี้ยร้อยละ 17.5 ต่อปีชำระเป็นรายเดือน ภายในวันที่ 5 ของเดือน หากผิดนัดยอมให้คิดดอกเบี้ยทบเข้ากับเงินเบิกเกินบัญชีที่ค้างชำระเป็นคราว ๆ ไปและจำเลยที่ 1 ตกลงยินยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้เงินเพิ่มขึ้นได้ในอัตราสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์จะพึงเรียกได้ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ในการทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและการกู้เงิน โดยยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2ได้จำนองที่ดินโฉนดที่ 6322, 38339, 38340, 38341 ตำบลสนามจันทร์ (สระน้ำจัน) อำเภอเมืองนครปฐม (พระปฐมเจดีย์)จังหวัดนครปฐม (นครชัยศรี) พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันหนี้ทุกประเภทที่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 เป็นหนี้โจทก์อยู่แล้วในเวลาจำนองและในภายหน้าพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปีโดยยินยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นได้ตามประเพณีการค้าและวิธีคิดดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ทั่วไป ในการบังคับจำนองหากได้เงินไม่พอชำระหนี้ยอมให้บังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นได้จนครบ เพียงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2528 จำเลยที่ 1 เป็นหนี้เงินกู้รวมทั้งดอกเบี้ยเป็นเงิน 18,501,597.93 บาท โดยเป็นหนี้ต้นเงิน15,853,424.65 บาท ดอกเบี้ย 2,648,173.28 บาท โจทก์ได้บอกกล่าวทวงถามไปยังจำเลยทั้งสองให้ชำระหนี้ภายใน 7 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือ จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือแล้ว ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่ยอมรับอ้างว่าย้ายที่อยู่ คิดถึงวันฟ้องคือวันที่ 30 กรกฎาคม 2529 จำเลยที่ 1 เป็นหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีรวมทั้งดอกเบี้ย3,032,581.41 บาท (ต้นเงิน 2,959,604.89 บาท ดอกเบี้ย 72,976.52บาท) เป็นหนี้ตามสัญญากู้เป็นเงิน 20,203,126.37 บาท (ต้นเงิน15,853,424.65 บาท ดอกเบี้ย 4,349,701.72 บาท)รวมเป็นเงิน23,235,707.78 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน23,235,707.78 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีโดยคิดจากยอดหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจำนวน 2,959,604.89 บาทและคิดจากต้นเงินตามสัญญากู้จำนวน 15,853,424.65 บาท และอัตราดอกเบี้ยนี้ให้จำเลยทั้งสองรับผิดชำระตามอัตราขึ้นลงซึ่งธนาคารพาณิชย์จะสามารถพึงเรียกได้ในอัตราสูงสุดตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย ทั้งนี้นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ดังกล่าวให้บังคับจำนองที่ดินโฉนดที่ 6322, 38339, 38340, 38341 ตำบลสนามจันทร์ (สระน้ำจัน) อำเภอเมืองนครปฐม (พระปฐมเจดีย์)จังหวัดนครปฐม (นครชัยศรี) พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้บังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองจนครบ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 1เป็นลูกค้าโจทก์สาขานครปฐมจริง แต่ไม่เคยทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์สาขานครปฐมเพราะเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 ระบุว่าธนาคารกรุงเทพ จำกัด ซึ่งหมายถึงสำนักงานใหญ่ และไม่มีลายมือชื่อกรรมการผู้มีอำนาจกับประทับตราของโจทก์จึงไม่ใช่สัญญาเบิกเงินเกินบัญชี การที่โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เงินกู้ก่อนถึงกำหนด โจทก์ไม่มีอำนาจกระทำได้และไม่บอกกล่าวให้ทราบล่วงหน้าในระยะเวลาอันพอสมควร แม้ตามสัญญากู้จะระบุให้โจทก์เรียกให้ชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วนก่อนกำหนด ถือว่าข้อตกลงดังกล่าวขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนเป็นโมฆะ ดอกเบี้ยพร้อมเงินต้นทั้งหมดถึงวันฟ้องเพียง 20,100,200 บาท โดยจำเลยที่ 1 ชำระไปแล้วเป็นเงิน 3,000,000 บาท ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมจำเลยที่ 2 ไม่เคยได้รับหนังสือบอกกล่าวจากโจทก์เพื่อที่จะให้ระยะเวลาอันสมควร และกำหนดไว้ในคำบอกกล่าวนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 728โจทก์จึงยังไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินให้โจทก์23,235,707.78 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โดยคิดจากยอดหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจำนวน 2,959,604.89 บาทจากยอดหนี้ตามสัญญากู้จำนวน 15,853,424.65 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระให้บังคับจำนองนำที่ดินจำนองพร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์หากได้เงินไม่พอให้บังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองนำมาชำระหนี้โจทก์จนครบ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาโจทก์ยื่นคำร้อง ขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายว่า คดีนี้คำพิพากษาศาลชั้นต้นถึงที่สุดแล้วหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าการดำเนินกระบวนพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 24 ที่ให้ศาลมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายนั้น กฎหมายมีความประสงค์จะให้ใช้ในศาลชั้นต้นเท่านั้นดังจะเห็นได้ว่าวรรคสุดท้ายของมาตรา 24 ดังกล่าวได้บัญญัติไว้ว่าคำสั่งใด ๆ ของศาลที่ได้ออกตามมาตรานี้ ให้อุทธรณ์และฎีกาได้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 227, 228, และ 247 ดังนั้นโจทก์จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องดังกล่าวให้ยกคำร้อง…
จำเลยทั้งสองฎีกาข้อสามว่า ข้อตกลงในสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้เงินที่ให้โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วนก่อนหนี้ถึงกำหนด ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน เป็นโมฆะ พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญากับโจทก์ 2 ฉบับ ในวันเดียวกันคือวันที่ 12 เมษายน2526 สัญญาทั้งสองฉบับได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ คือ ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีหนี้ถึงกำหนดชำระภายในวันที่ 12 เมษายน 2527ส่วนสัญญากู้เงินและสัญญากู้เงินเพิ่มเติมอีก 2 ครั้ง หนี้ถึงกำหนดชำระวันที่ 12 เมษายน 2530 และสัญญาทั้งสองฉบับมีข้อความต่อไปอีกว่า ระยะเวลาชำระหนี้ที่กำหนดไว้ไม่เป็นการตัดสิทธิโจทก์ที่จะเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนก่อนกำหนดนั้น ดังนี้แม้จำเลยที่ 1 จะเสียเปรียบโจทก์ แต่ข้อตกลงดังกล่าวก็เกิดขึ้นด้วยใจสมัครของจำเลยที่ 1 เอง หาเกี่ยวกับสังคมหรือประชาชนไม่ ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ไม่เป็นโมฆะ ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 3161/2527 ระหว่างธนาคารกรุงเทพ จำกัด โจทก์ นายรุจิโรจน์ ตันชวลิต กับพวกจำเลย โจทก์จึงฟ้องเรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ก่อนหนี้ครบกำหนดเวลาตามสัญญาได้ ส่วนสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 2 นั้น เมื่อฟังว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันก็ต้องร่วมรับผิดด้วยแม้จะไม่มีข้อกำหนดว่าจำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดตั้งแต่เมื่อใด ฎีกาจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยทั้งสองฎีกาข้อสี่ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ยังไม่ได้รับหนังสือบอกกล่าวให้ชำระหนี้และไถ่จำนอง พิเคราะห์แล้ว พยานหลักฐานโจทก์ได้ความว่านายวิชิต ได้มอบอำนาจให้นายสุขุม ธารณธรรมทนายโจทก์ทำหนังสือบอกกล่าวทวงถามส่งไปยังจำเลยที่ 1 ที่จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 และส่งไปให้แก่จำเลยที่ 2ยังบ้านพักที่เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร ปรากฏว่ามีผู้รับแทนจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.3, จ.4 ส่วนจำเลยที่ 2 ปรากฏว่าย้ายไม่ทราบที่อยู่ใหม่ ส่งให้ไม่ได้ตามเอกสารหมาย จ.12, จ.13 ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลมีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการมีอำนาจกระทำการแทน แม้จำเลยที่ 2 จะมีที่อยู่แยกต่างหากจากภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 แต่ก็ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 มีหลักแหล่งที่ทำการเป็นปกติแห่งเดียวกับภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 ทั้งในหนังสือบอกกล่าวทวงถามที่ส่งไปถึงจำเลยที่ 1 ก็มีการทวงถามบังคับจำนองแก่จำเลยที่ 2 ด้วย การที่โจทก์ส่งหนังสือบอกกล่าวไปถึงจำเลยที่ 1 แล้ว ก็ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้รับหนังสือบอกกล่าวนั้นแล้วโดยโจทก์ไม่ต้องนำบุรุษไปรษณีย์มาเบิกความ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้ทราบหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้ชำระหนี้และไถ่จำนองของโจทก์แล้ว ฎีกาจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น…”
พิพากษายืน

Share