คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2915/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีใจความว่า หากพนักงานที่บริษัทพิจารณาเห็นว่ามีผลงานประจำปีไม่เป็นที่พอใจพนักงานผู้นั้นจะไม่ได้รับการขึ้นเงินเดือนตามผลงานพนักงานจะได้รับการตักเตือนหรือบอกกล่าวถึงข้อบกพร่องของตนเพื่อให้มีโอกาสปรับปรุงแก้ไขตนเอง หากยอมปรับปรุงก็จะได้รับการพิจารณาขึ้นเงินเดือนในปีถัดไป ส่วนผู้ที่มีผลงานไม่เป็นที่พอใจอย่างยิ่งหรือมีผลงานไม่ดีติดต่อกันเป็นเวลานานอาจถูกปลดออกจากงานได้นั้น การที่ลูกจ้างมีผลงาน ไม่เป็นที่พอใจนายจ้าง ได้ถูกตักเตือนถึงข้อบกพร่องหลายครั้งหลายหนตลอดมาเป็นเวลาถึง 5 ปี โดยนายจ้างได้ว่ากล่าวตักเตือนเป็นหนังสือแล้วหลายครั้ง หลังจากนั้นนายจ้างจึงได้ปลดลูกจ้างออกจากงาน ถือได้ว่าลูกจ้าง ฝ่าฝืนข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้าง โดยนายจ้างได้ว่ากล่าวตักเตือนเป็นหนังสือแล้วตามมาตรา 123(3) แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน เรียกบริษัทเอสโซ่ แสตนดาร์ดฯ เป็นโจทก์ที่ 1 เรียกนายชาญ อ่างทองเป็นโจทก์ที่ 2

โจทก์ที่ 1 ฟ้องว่า โจทก์ที่ 2 เป็นลูกจ้างของโจทก์ที่ 1 และเป็นสมาชิกในสหภาพแรงงาน อยู่ภายใต้ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างโจทก์ที่ 1 กับสหภาพแรงงานซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2519 จนถึงวันฟ้อง ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีความว่า ลูกจ้างที่มีผลงานไม่เป็นที่พอใจ โจทก์ที่ 1 มีสิทธิเลิกจ้างได้ ระหว่าง พ.ศ. 2516 ถึง พ.ศ. 2520 โจทก์ที่ 2 มีผลงานไม่เป็นที่น่าพอใจ โจทก์ที่ 1 จึงใช้สิทธิเลิกจ้างและได้จ่ายเงินทดแทน เงินชดเชย ตามข้อตกลงและตามกฎหมายให้แก่โจทก์ที่ 2 ไปแล้ว แต่โจทก์ที่ 2 ไม่พอใจ ได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ซึ่งมีจำเลยทั้งสิบเป็นกรรมการพิจารณาชี้ขาด จำเลยทั้งสิบพิจารณาแล้วชี้ขาดว่า การที่โจทก์ที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ที่ 2 เป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรมตามมาตรา 123 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ให้โจทก์ที่ 1 จ่ายเงินค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 2 คำสั่งดังกล่าวเป็นการล่วงละเมิดสิทธิของโจทก์ที่ 1 ขอให้เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์

โจทก์ที่ 2 ฟ้องว่า โจทก์ที่ 2 เป็นลูกจ้างของโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 1 สั่งปลดโจทก์ที่ 2 ออกจากงานโดยอ้างว่า ผลการปฏิบัติงานของโจทก์ที่ 2 ไม่เป็นที่พอใจของโจทก์ที่ 1 เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบธรรมและฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์โจทก์ที่ 2 ได้ยื่นคำร้องต่อจำเลยทั้งสิบซึ่งเป็นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ขอให้มีคำสั่งให้โจทก์ที่ 1 รับโจทก์ที่ 2 กลับเข้าทำงาน และจ่ายเงินเดือนนับแต่วันเลิกจ้างจนถึงวันรับกลับเข้าทำงาน จำเลยทั้งสิบพิจารณาแล้วชี้ขาดว่า การเลิกจ้างโจทก์ที่ 2 เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามมาตรา 123 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ให้โจทก์ที่ 1 จ่ายเงินค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 2 ไม่เคยปฏิบัติงานให้เป็นการเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 1 จึงไม่มีสิทธิเลิกจ้าง การที่จำเลยทั้งสิบมีคำสั่งให้โจทก์ที่ 1 จ่ายค่าชดเชยบางส่วนและไม่สั่งให้โจทก์ที่ 1 รับโจทก์ที่ 2 กลับเข้าทำงานจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายขอให้มีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของจำเลยทั้งสิบให้จำเลยทั้งสิบมีคำสั่งชี้ขาดเพิ่มเติมให้โจทก์ที่ 1 รับโจทก์ที่ 2 กลับเข้าทำงานตามเดิมพร้อมทั้งให้จ่ายเงินรายได้ระหว่างที่สั่งเลิกจ้างจนถึงวันที่รับโจทก์ที่ 2 กลับเข้าทำงาน

จำเลยทั้งสองสำนวนให้การว่า โจทก์ที่ 2 มีผลงานไม่เป็นที่พอใจโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 1 จึงเลิกจ้างโจทก์ที่ 2 โดยอาศัยข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างโรงงานโจทก์ที่ 1 กับสหภาพแรงงาน ซึ่งเป็นเหตุแห่งการเลิกจ้างนอกเหนือจากเหตุที่ระบุไว้ในมาตรา 123 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 จึงเป็นข้อตกลงที่ขัดและฝ่าฝืนกฎหมาย ไม่อาจใช้บังคับได้ เป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมที่สั่งให้โจทก์ที่ 1 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 2 โดยมิได้สั่งให้รับโจทก์ที่ 2 กลับเข้าทำงานก็เพราะโจทก์ที่ 2 มีผลงานไม่เป็นที่พอใจนายจ้าง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์กับให้ยกฟ้องของโจทก์ที่ 2

โจทก์ที่ 2 และจำเลยทั้งสิบอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ที่ 2 และจำเลยทั้งสิบฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ที่ 2 เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน สหภาพแรงงานนี้ได้มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างไว้กับโจทก์ที่ 1 ในหมวด 4 ข้อ 3 ใจความว่า หากพนักงานที่บริษัท(โจทก์ที่ 1) พิจารณาเห็นว่า มีผลงานประจำปีไม่เป็นที่พอใจ พนักงานผู้นั้นจะไม่ได้รับการขึ้นเงินเดือนตามผลงาน พนักงานผู้นั้นจะได้รับการตักเตือนหรือบอกกล่าวถึงข้อบกพร่องของตนเพื่อให้มีโอกาสปรับปรุงแก้ไขตนเอง หากยอมปรับปรุงก็จะได้รับการพิจารณาขึ้นเงินเดือนในปีถัดไป ส่วนผู้ที่มีผลงานไม่เป็นที่พอใจอย่างยิ่งหรือมีผลงานไม่ดีติดต่อกันเป็นเวลานานอาจถูกปลดออกจากงานได้ เห็นว่าข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันระหว่างโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างกับโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้าง ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 19 เมื่อโจทก์ที่ 2 มีผลงานไม่เป็นที่พอใจโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้าง ได้ถูกตักเตือนถึงข้อบกพร่องหลายครั้ง หลายหนตลอดมาเป็นเวลาถึง 5 ปี โดยนายจ้างได้ว่ากล่าวและตักเตือนเป็นหนังสือแล้วหลายครั้ง หลังจากนั้นโจทก์ที่ 1 จึงได้ปลดโจทก์ที่ 2 ออกจากงาน ถือได้ว่าโจทก์ที่ 2 ฝ่าฝืนข้อบังคับ ระเบียบหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้าง โดยนายจ้างได้ว่ากล่าวตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว ตามมาตรา 123(3) แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 การกระทำของโจทก์ที่ 1 หาขัดกับบทบัญญัติมาตราดังกล่าวนี้ไม่

พิพากษายืน

Share