คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 945/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีแรงงานจำเลยมีสิทธิให้การด้วยวาจาได้ กฎหมายจึงมิได้ถือเคร่งครัดเช่นการให้การเป็นหนังสือในคดีแพ่งธรรมดา เพื่อให้คดีได้เสร็จสิ้นไปด้วยความรวดเร็วตามเจตนารมณ์ของวิธีพิจารณาคดีแรงงาน ดังนั้นที่จำเลยให้การด้วยวาจาซึ่งศาลแรงงานกลางได้บันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาว่า คำฟ้องอื่นของโจทก์ไม่เป็นความจริงและจำเลยขอปฏิเสธว่าจำเลยมิได้กระทำความผิดตามฟ้องโจทก์จึงเป็นการเพียงพอที่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทที่จำเลยจะนำสืบได้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์หรือไม่.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิด ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่าย ค่าจ้างสำหรับวันหยุดประจำสัปดาห์ ค่าจ้างสำหรับวันหยุดตามประเพณีกับค่าชดเชยแก่โจทก์
จำเลยให้การด้วยวาจาโดยศาลแรงงานกลางบันทึกไว้ว่าจำเลยยังมิได้จ่ายค่าจ้างที่ค้างให้แก่โจทก์ ส่วนคำฟ้องอื่นของโจทก์ไม่เป็นความจริงเพราะโจทก์เคยถูกเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรในกรณีมาทำงานสายหลายครั้ง โจทก์ขอหยุดเดือนละ ๒ วัน ซึ่งจำเลยได้จ่ายเงินในการที่โจทก์ได้ทำงานในวันหยุดเป็นการเหมาอีกเดือนละ ๕๐๐ บาท ส่วนวันหยุดตามประเพณีจำเลยก็จ่ายให้ปลายปีเป็นการเหมาปีละ ๔,๐๐๐ บาทจึงขอปฏิเสธว่าไม่ได้ทำผิดตามฟ้องโจทก์
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายให้โจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์อุทธรณ์ว่าคำให้การของจำเลยตามรายงานกระบวนพิจารณา ฉบับลงวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๒๙ ไม่มีข้อความแสดงโดยชัดแจ้งว่าจำเลยปฏิเสธว่าจำเลยไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ คำให้การของจำเลยที่ว่า ‘คำฟ้องอื่นของโจทก์ไม่เป็นความจริง’ และ ‘จำเลยขอปฏิเสธว่าไม่ได้ทำผิดตามฟ้องโจทก์’ เป็นคำให้การที่เคลือบคลุมเพราะไม่ชัดแจ้งว่าปฏิเสธคำฟ้องส่วนใดและไม่ปรากฏเหตุผลแห่งการปฏิเสธ แม้จำเลยจะให้การด้วยวาจา กรณีก็ต้องตกอยู่ในบังคับของมาตรา ๑๗๗ วรรคสองแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งด้วยคดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์หรือไม่พิเคราะห์แล้วเห็นว่าเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ นี้ ก็เนื่องจากคดีแรงงานเป็นคดีที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างไปจากคดีแพ่งทั่วไปเพราะเป็นคดีเกี่ยวกับข้อขัดแย้งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานหรือเกี่ยวกับสิทธิของนายจ้างและลูกจ้างตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานและกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ การดำเนินคดีควรเป็นไปด้วยความสะดวกประหยัดรวดเร็ว เสมอภาคและเป็นธรรมเพื่อให้คู่ความมีโอกาสประนีประนอมยอมความและสามารถกลับไปทำงานร่วมกันโดยไม่เกิดความรู้สึกเป็นอริต่อกัน จำเป็นต้องยกเว้นขั้นตอนและวิธีการต่าง ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งหลายกรณ๊ด้วยกันเพื่อให้เกิดความคล่องตัวยิ่งขึ้น ดังนั้นไม่ว่าคดีแรงงานคดีใดจะมีทุนทรัพย์สูงเพียงใด หรือมีประเด็นข้อพิพาทที่ยุ่งยากเพียงใดก็ตาม คู่ความก็มีสิทธิฟ้องหรือให้การด้วยวาจาได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๕ วรรคแรกและมาตรา ๓๙ วรรคแรกประกอบด้วยข้อกำหนดศาลแรงงานว่าด้วยการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแรงงาน ลงวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๓ ข้อ ๒ และข้อ ๙ ซึ่งแสดงว่า การที่จำเลยมีสิทธิให้การด้วยวาจานั้นกฎหมายมิได้ถือเคร่งครัดเช่นการให้การเป็นหนังสือในคดีแพ่งธรรมดา ทั้งนี้เพื่อให้คดีได้เสร็จสิ้นไปด้วยความรวดเร็วตามเจตนารมณ์ของวิธีพิจารณาคดีแรงงานดังที่ได้ยกขึ้นกล่าวข้างต้น ดังนั้นที่จำเลยให้การต่อศาลแรงงานกลางด้วยวาจาซึ่งศาลแรงงานกลางได้บันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาว่า คำฟ้องอื่นของโจทก์ไม่เป็นความจริงและ จำเลยขอปฏิเสธว่าจำเลยมิได้กระทำความผิดตามฟ้องโจทก์ จึงเป็นการเพียงพอที่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์หรือไม่แล้วที่ศาลแรงงานกลางให้จำเลยนำสืบตามประเด็นดังกล่าวจึงชอบแล้ว
พิพากษายืน.

Share