คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3315/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2518 มาตรา 107บัญญัติว่า “เมื่อผู้บังคับบัญชา หรือ ก.พ. ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ตามความในมาตรา 104 หรือ มาตรา 105 แล้ว ผู้ถูกสั่งลงโทษเห็นว่าตน ไม่ได้รับความเป็นธรรม ย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้ภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้รับทราบคำวินิจฉัยอุทธรณ์นั้น”แต่ขณะนี้ยังมิได้มีการจัดตั้งศาลปกครอง กรณีจึงต้องบังคับตามมาตรา 120 ซึ่งบัญญัติว่าสำหรับการฟ้องคดีต่อศาลปกครองของผู้ถูกลงโทษตามความในมาตรา 107 ยังไม่ให้ใช้บังคับ ดังนั้นผู้ถูกลงโทษจึงไม่มีสิทธิที่จะฟ้องคดีตามมาตรา 107.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป้นข้าราชการพลเรือนสามัญระดับ 3 สังกัดสำนักงาน ป.ป.ป. จำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ตั้งคณะกรรมการสอบสวนโจทก์ซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง คณะกรรมการสอบสวนมีความเห็นว่าให้โจทก์ออกจากราชการตามมาตรา 86 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนฯ อ.ก.พ. ของจำเลยที่ 3 และอ.ก.พ.สำนักนายกรัฐมนตรีให้โจทก์ออกจากราชการตามมาตรา 98 จำเลยที่ 3 จึงมีคำสั่งให้โจทก์ออกจากราชการ แต่จำเลยที่ 2 รายงายจำเลยที่ 1 ให้ปลดโจทก์ออกจากราชการ จำเลยที่ 1 สั่งให้จำเลยที่ 3 ปลดโจทก์ออกจากราชการ โจทก์อุทธรณ์คำสั่งจำเลยที่ 1 ยกอุทธรณ์โจทก์โจทก์เห็นว่ามติและคำสั่งลงโทษโจทก์นั้นไม่ถูกขั้นตอนและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลเพิกถอนมติของจำเลยที่ 2 ให้รายงานจำเลยที่ 1สั่งการให้จำเลยที่ 3 เปลี่ยนแปลงคำสั่งที่ให้โจทก์ออกจากราชการเป็นปลดออกจากราชการ คำสั่งของจำเลยที่ 1 ที่สั่งการให้จำเลยที่ 3ดำเนินการตามมติของจำเลยที่ 2 และคำสั่งของจำเลยที่ 3 ที่ให้ปลดโจทก์ออกจากราชการ
ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้วยกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์ว่า เมื่อสำนักงานป.ป.ป.ได้มีคำสั่งที่ ส.ร. 0801/5116 ลงวันที่ 30 สิงหาคม 2522ให้ปลดโจทก์ออกจากราชการนั้น โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อเลขาธิการ ก.พ. และ ก.พ. (จำเลยที่ 2) ได้พิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์แล้วเสนอนายกรัฐมนตรี (จำเลยที่ 1) สั่งการนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้ยกอุทธรณ์โจทก์
ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวศาลฎีกาเห็นว่า กรณีของโจทก์ต้องด้วยบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2518มาตรา 107 ซึ่งบัญญัติว่า “เมื่อผู้บังคับบัญชาหรือ ก.พ. ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ตามความในมาตรา 104 หรือมาตรา 105 แล้ว ผู้ถูกสั่งลงโทษเห็นว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรม ย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้ภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้รับทราบคำวินิจฉัยอุทธรณ์นั้น” แต่ปรากฏว่าขณะนี้ยังมิได้มีการจัดตั้งศาลปกครอง กรณีจึงต้องบังคับตามมาตรา 120 ซึ่งบัญญัติว่า สำหรับการฟ้องคดีต่อศาลปกครองของผู้ถูกลงโทษตามความในมาตรา 107 ยังไม่ให้ใช้บังคับโจทก์ซึ่งเป็นผู้ถูกลงโทษจึงไม่มีสิทธิที่จะฟ้องคดีตามมาตรา 107 ดังที่ศาลฎีกาได้เคยวินิจฉัยไว้แล้วตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่2370/2520 ศาลฎีกาเห็นด้วยในผลของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share