แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เมื่อข้อกฎหมายที่ยกขึ้นอุทธรณ์ ไม่มีผลทำให้การวินิจฉัยข้อเท็จจริงของศาลจากพยานหลักฐานที่โจทก์จำเลยนำสืบกันมาเปลี่ยนแปลงเป็นประการอื่นแล้ว ศาลอุทธรณ์ก็ไม่จำต้องวินิจฉัยข้อกฎหมายดังกล่าวให้ เพราะเป็นข้อกฎหมายที่ไม่เป็นสาระแก่คดี
แม้คดีนี้กับคดีก่อนจะเป็นการกระทำอันเดียวกันข้อหาอย่างเดียวกัน และศาลได้พิพากษาลงโทษจำเลยในคดีก่อนเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว แต่เมื่อมิใช่จำเลยคนเดียวกันจึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ
ฟ้องโจทก์ขอให้ลงโทษฐานประกอบการขนส่งไม่ประจำทางข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาฟังได้ว่าจำเลยประกอบการขนส่งส่วนบุคคล ย่อมไม่อาจลงโทษจำเลยในข้อหานี้ตามที่โจทก์ฟ้องได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยนี้กับจำเลยในคดีก่อนร่วมกันประกอบการขนส่งไม่ประจำทางโดยนำรถยนต์บรรทุกส่งของไปตามถนนโดยไม่ได้รับอนุญาตประกอบการขนส่งและร่วมกันนำรถคันดังกล่าวซึ่งยังมิได้เสียภาษีประจำปีมาใช้ในการขนส่ง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 23, 71, 126, 148 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83,91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6)พ.ศ. 2526 มาตรา 4
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติขนส่งทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 23 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 126 ปรับ 20,000 บาทกระทงหนึ่ง ผิดมาตรา 71 ประกอบมาตรา 148 ปรับ 2,000 บาท อีกกระทงหนึ่ง รวมปรับ 22,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยอุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายว่า ศาลชั้นต้นฟังคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยซึ่งให้การในฐานะพยานในคดีที่นายนิยม พะยอมใหม่ เป็นผู้ต้องหามาฟังลงโทษจำเลยเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226 และที่ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงตามคำเบิกความของสิบตำรวจเอกวิสิทธิ์ ดินแดง และสิบตำรวจโทแวว สิงห์ประเสริฐ พยานโจทก์ซึ่งมิได้รู้เห็นเอง เป็นพยานบอกเล่าไม่ชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยการฟังพยานหลักฐาน แต่ปรากฏว่าจำเลยอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงด้วย และศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานของโจทก์จำเลยแล้ว ฟังว่าจำเลยเป็นผู้ครอบครองรถยนต์ของกลาง และได้ใช้ให้นายนิยมขับรถยนต์ของกลางไปใช้ในกิจการของจำเลย โดยจำเลยมิได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งและรถยนต์ของกลางมิได้เสียภาษีรถประจำปี ซึ่งในการวินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าว ศาลอุทธรณ์ก็ไม่ได้ฟังพยานโจทก์จากคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยในฐานะพยานในคดีที่นายนิยมเป็นผู้ต้องหาแต่อย่างใด และก็ไม่ได้ฟังพยานโจทก์เฉพาะแต่คำเบิกความของสิบตำรวจเอกวิสิทธิ์ ดินแดงและสิบตำรวจโทแวว สิงห์ประเสริฐ ในส่วนที่ได้รับคำบอกเล่ามาจากนายนิยมเท่านั้น ศาลอุทธรณ์ยังได้วินิจฉัยด้วยว่าพยานโจทก์ทั้งสองเป็นผู้พบเห็นเหตุการณ์ขณะรถยนต์ของกลางแล่นอยู่บนถนนมิตรภาพด้วยตนเอง และยังได้ฟังคำเบิกความของนายเกื้อ แซ่อึ้ง อดีตสามีของจำเลยซึ่งเบิกความว่าหลังจากแยกทางกับจำเลยแล้วได้ให้รถยนต์ของกลางแก่จำเลยใช้สอยต่อมา นอกจากนั้นศาลอุทธรณ์ยังฟังคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกสมบูรณ์ สีหะรัตน์ พนักงานสอบสวนประกอบด้วยว่าจำเลยให้การรับต่อพยานว่าเป็นผู้ครอบครองรถยนต์ของกลางและใช้ให้นายนิยมขับไปในกิจการรับเหมาถมดินของจำเลย เมื่อศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยพยานหลักฐานของโจทก์และฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้วศาลอุทธรณ์หาจำต้องวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายทั้ง 2 ข้อ ที่จำเลยยกขึ้นอุทธรณ์อีกไม่ เพราะไม่เป็นประโยชน์แก่คดีหรือไม่อาจทำให้คำวินิจฉัยเปลี่ยนแปลงไปในทางอื่น ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยนั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย…
จำเลยฎีกาอีกประการหนึ่งว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำกับคดีที่โจทก์ฟ้องนายนิยม พะยอมใหม่ เป็นจำเลยในการกระทำอันเดียวกันและข้อหาอย่างเดียวกับคดีนี้ และศาลได้พิพากษาลงโทษนายนิยม คดีเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว ข้อนี้เห็นว่า กรณีจะเป็นการฟ้องซ้ำต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4) นั้นจะต้องปรากฏว่าจำเลยในคดีก่อนกับจำเลยคดีนี้เป็นคนเดียวกัน และศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดสำหรับการกระทำความผิดของจำเลยในครั้งนั้นไปแล้ว จึงจะนำคดีมาฟ้องจำเลยคนนั้นสำหรับการกระทำครั้งเดียวกันอีกไม่ได้ดังนั้น เมื่อจำเลยมิได้ถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีก่อนร่วมกับนายนิยมด้วย โจทก์จึงฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ได้ หาเป็นฟ้องซ้ำต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าวไม่…
อนึ่ง คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยประกอบการขนส่งไม่ประจำทางโดยนำรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน ลบ. 20532 บรรทุกวัสดุการก่อสร้างไปตามถนนมิตรภาพเพื่อนำไปส่งที่ตำบลมิตรภาพ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 23, 126 แต่ปรากฏตามทางพิจารณาว่าจำเลยนำรถยนต์คันดังกล่าวซึ่งอยู่ในความครอบครองของจำเลยไปใช้ในกิจการรับเหมาถมดินของจำเลยโดยจำเลยใช้ให้นายนิยมขับรถบรรทุกวัสดุก่อสร้างไปส่งยังสถานที่ของผู้ว่าจ้าง การกระทำของจำเลยจึงไม่อยู่ในความหมายแห่งคำว่า “การขนส่งไม่ประจำทาง” ตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 4 ซึ่งจะต้องเป็นการขนส่งเพื่อสินจ้าง จึงจะเป็นความผิด สำหรับกรณีของจำเลยจะเป็นผิดก็แต่ในส่วนที่ว่าเป็น “การขนส่งส่วนบุคคล” ตามที่กฎหมายดังกล่าวบัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว แต่โจทก์หาได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยสำหรับการกระทำในข้อหานี้ไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามทางพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงตามฟ้องโจทก์ คดีไม่อาจลงโทษจำเลยในข้อหานี้ตามที่โจทก์ฟ้องได้ ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยแม้จำเลยมิได้หยิบยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็เห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยให้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225″
พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 23, 126 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์