แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
คำว่า “ของมีค่า” ตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 675 วรรคสอง หมายถึงทรัพย์สินที่มีคุณค่าอันมีลักษณะพิเศษทำนองเดียวกับเงินทองตรา ธนบัตรหรือตั๋วเงิน ส่วนรถยนต์ รถจักรยานยนต์และโทรศัพท์มือถือของโจทก์เป็นเพียงทรัพย์สินที่นำมาใช้เป็นปกติธรรมดา แม้จะมีราคาค่อนข้างสูงก็ไม่จัดว่าเป็นของมีค่าตามบทกฎหมายดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับครอบครัวได้เข้าพักที่ห้องพักโรงแรมของจำเลยและมีคนร้ายเข้าไปในห้องพักดังกล่าวลักเงินสดจำนวน 10,000 บาท และโทรศัพท์มือถือยี่ห้อโมโตโรล่า 1 เครื่อง ราคา 21,500 บาท ของโจทก์ไป ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 31,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ได้ฝากเงินและโทรศัพท์มือถือซึ่งถือว่าเป็นของมีค่าไว้กับจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 22,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินจำนวนดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้อง(วันที่ 17 พฤศจิกายน 2540) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์ได้เข้าพักโรงแรมเดอะรีเจนซี่ของจำเลย ต่อมาได้มีคนร้ายเข้าไปในห้องพักของโจทก์แล้วลักเอาเงินสด 10,000 บาท และโทรศัพท์มือถือ ราคา 21,500 บาท ของโจทก์ไป ปัญหาต้องวินิจฉัยข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยว่า โทรศัพท์มือถือของโจทก์เป็นของมีค่าตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 675 วรรคสอง หรือไม่ เห็นว่า คำว่า”ของมีค่า” ตามความหมายแห่งบทบัญญัติดังกล่าว หมายถึงทรัพย์สินที่มีคุณค่าอันมีลักษณะพิเศษทำนองเดียวกับเงินทองตรา ธนบัตร ตั๋วเงิน เป็นต้น ส่วนรถยนต์รถจักรยานยนต์ ตลอดทั้งโทรศัพท์มือถือของโจทก์ดังกล่าวเป็นเพียงทรัพย์สินที่นำมาใช้ปกติธรรมดา แม้จะมีราคาค่อนข้างสูงก็ตาม ไม่จัดว่าเป็นของมีค่าตามกฎหมาย ฉะนั้นที่ศาลล่างทั้งสองศาลวินิจฉัยว่า โทรศัพท์มือถือของโจทก์ไม่ใช่ของมีค่าและให้จำเลยรับผิดชดใช้ราคาโทรศัพท์มือถือ 21,500 บาท มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน