คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 849/2500

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การตีความรัฐธรรมนูญ ม.115 ศาลมีอำนาจตีความได้เพราะไม่ใช่ปัญหาอันอยู่ในวงงานของสภาฯ
คำว่า “มิได้เป็นไปโดยชอบ” ตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ฯ ม.60 นั้นจะเป็นด้วยเหตุประการใด ๆ ก็ได้ เช่นมิชอบด้วยข้อเท็จจริง มิชอบด้วยข้อกฎหมายก็นับว่าอยู่ในข่ายของคำว่าการเลือกตั้งหรือได้รับเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยชอบทั้งสิ้น
ผู้เลือกตั้งมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลเมื่อเห็นว่าการเลือกตั้งหรือได้รับเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยชอบ
คำว่า “ในวาระเริ่มแรกภายในระยะเวลา 10 ปีในรัฐธรรมนูญ ม.115 เมื่อพิจารณาประกอบกับ ม.45, 46, 47 แล้วมีความหมายว่าให้มี ส.ส. 2 ประเภทจำนวนเท่ากันในวาระเริ่มแรก หาใช่ว่าต้องมี 2 ประเภทเท่ากันตลอดไปภายในระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี
ส.ส.ประเภท 2 ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งขึ้นไว้แล้ว 123 คนในวันใช้บังคับรัฐธรรมนูญนั้น เป็นจำนวนตายตัวไม่มีบัญญัติให้เพิ่มหรือลดลงได้ นอกจากจะลดหรือตั้งซ่อมตาม ม.116 ในเมื่อได้ใช้บังคับรัฐธรรมนูญนี้ไปแล้ว 5 ปี ถ้ามีผู้มีสิทธิเลือกตั้งในจังหวัดใดได้รับการศึกษาอบรมจบชั้นประถมศึกษา ตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการเป็นจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมดในจังหวัดนั้น ก็ให้ ส.ส. ประเภทที่ 2 ออกจากตำแหน่งมีจำนวนเท่าจำนวน ส.ส.ที่มีการเลือกตั้งในจังหวัดนั้น หรือในระหว่างที่มี ส.ส.ประเภท 2 ตามมาตรานี้ ถ้าตำแหน่ง ส.ส.ประเภท 2 ว่างลงโดยมิใช่การออกตามความดั่งกล่าวข้างต้น ก็ให้มีการตั้งซ่อมได้เท่า จำนวนตำแหน่งที่ว่าง.

ย่อยาว

เรื่อง ขอให้ศาลสั่งให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชลบุรีใหม่
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าผู้ร้องเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งจังหวัดชลบุรี เห็นว่าการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งจังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๐ เป็นไปโดยมิชอบ เพราะ ส.ส.ประเภทที่ ๑ สำหรับจังหวัดชลบุรีซึ่งคราวก่อนมีจำนวน ๑ คน คราวนี้เป็น ๒ คน ได้แก่ พล.ต.ศิริ และพ.อ.ประยงค์ เพิ่มขึ้นกว่าเดิม ทำให้จำนวนรวมของ ส.ส.ประเภทที่ ๑ ล้น จำนวน ๑๒๓ คน ไม่เท่ากันกับจำนวน ส.ส.ประเภทที่ ๒ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ม.๑๑๕ จึงขอให้ศาลมีคำสั่งให้มีการเลือกตั้ง จังหวัดชลบุรี ใหม่
ผู้คัดค้านทั้งสามยื่นคำคัดค้านใจความต้องกันว่า ผู้ร้องไม่มีสิทธิจะยื่นคำร้องต่อศาลและการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้ง จังหวัดชลบุรีดังกล่าวเป็นไปโดยชอบ เพราะจังหวัดชลบุรีมีราษฎรเกินกว่าสามแสนเศษ เลือกตั้ง ส.ส.ประเภทที่ ๑ ได้ ๒ คน ไม่เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ
คดีนี้เถียงกันเฉพาะข้อกฎหมาย คู่ความจึงไม่สืบพยาน
ในประเด็นข้อแรก ผู้คัดค้านว่า ผู้ร้องไม่มีสิทธิจะยื่นคำร้องต่อศาลด้วยเหตุ ๓ ประการ
(๑) กรณีเป็นเรื่องขอให้ตีความรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลไม่มีอำนาจตีความ เป็นอำนาจของสภา ฯ โดยเฉพาะ ตามรัฐธรรมนูญ ม.๑๑๒
(๒) พ.ร.บ.การเลือกตั้งฯ ม.๖๐ เป็นกฎหมายพิเศษให้ร้องคัดค้านการเลือกตั้งเมื่อเห็นว่า “มิได้เป็นไปโดยชอบ” ซึ่งหมายถึงเป็นการฝ่าฝืนเฉพาะตามบทบัญญัติของ พ.ร.บ.การเลือกตั้งฯ โดยตรงเท่านั้น แต่คดีนี้ผู้ร้องหาได้ร้องตาม กฎหมายเลือกตั้ง หากแต่ร้องว่าการเลือกตั้งขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นคนละเรื่องไม่เกี่ยวข้องกันเลย
(๓) ผู้ร้องไม่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการเลือกตั้ง และการขอให้ตีความในรัฐธรรมนูญก็ไม่ใช่สิทธิหรือหน้าที่ของผู้ร้องที่จะใช้ สิทธิทางศาล การร้องของผู้ร้องจึงขัดกับ ป.วิ.แพ่ง ม.๕๕
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อตัดคำร้องในประการที่ ๑ – ๒ รวมกัน
ตามรัฐธรรมนูญ ม.๑๑๒, ๑๑๓, ๑๑๔ และ พ.ร.บ.การเลือกตั้งฯ ม.๖๐ เห็นว่าเป็นอำนาจของสภา ฯ โดยเฉพาะที่จะตีความรัฐธรรมนูญ อันอยู่ในวงงานของสภาฯแต่ถ้ามิได้อยู่ในวงงานของสภาแล้ว ก็มิได้อยู่ในข่ายนั้น
ผู้เลือกตั้งมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาล เมื่อเห็นว่าการเลือกตั้งหรือได้รับเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยชอบ
คำว่า “มิได้เป็นไปโดยชอบ” จะเป็นด้วยเหตุประการใด ๆ ก็ตาม เช่นมิชอบด้วยข้อเท็จจริง มิชอบด้วยข้อกฎหมาย ก็นับ ว่าอยู่ในข่ายของคำว่าผู้ร้องเห็นว่าการเลือกตั้งหรือได้รับเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยชอบได้ทั้งสิ้น ศาลชอบที่จะพิจารณา พิพากษาได้ตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ฯ ม.๖๐ – ๖๑ ประกอบด้วยรัฐธรรมนูญ ม.๑๑๔ เมื่อศาลเห็นว่าบทบัญญัตินั้นไม่ขัดแย้ง ต่อรัฐธรรมนูญ ก็ดำเนินการพิจารณาพิพากษาไปได้ทีเดียว หากเห็นว่าขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญแล้ว ศาลจะทำความเห็น เช่นว่านั้นไปตามทางการและรับเอาคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญมาเป็นข้อพิพาทชี้ขาดในคดีซึ่งจะเป็นโดยวิธีใดก็ ตาม เมื่อสรุปแล้วก็จะต้องบังคับคดีไปในรูปเลือกตั้ง คือโดยคำพิพากษาชี้ขาดของศาลทั้งสิ้น
ศาลฎีกาจึงเห็นว่าผู้ร้องสิทธิจะยื่นคำร้องต่อศาล เมื่อเป็นการใช้สิทธิทางศาลเกี่ยวด้วยข้อโต้แย้งเช่นนี้แล้วก็ตรงตามลักษณะ ที่ระบุไว้ใน ป.วิ.แพ่ง ม.๕๕
ข้อตัดคำร้องของผู้ร้องฟังไม่ขึ้นทั้ง ๓ ประการ
“ในประเด็นข้อหลังปัญหาว่าการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งจังหวัดชลบุรี เมื่อ ๒๖ ก.พ. ๒๕๐๐ เลือกได้ ส.ส.ประเภทที่ ๑ สองคน ถูกต้องตามเกณฑ์จำนวนราษฎรตามพ.ร.บ.การเลือกตั้ง ฯ ม.๗ นั้น จะขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ม.๑๑๕ เพียงไรหรือไม่
คำว่า “ในวาระเริ่มแรกภายในระยะเวลาสิบปี” ในรัฐธรรมนูญ ม.๑๑๕ เมื่อพิจารณาประกอบกับ ม.๔๕, ๔๖, ๔๗ แล้ว มีความหมายว่าให้มี ส.ส. ๒ ประเภท จำนวนเท่ากันในวาระเริ่มแรก หาใช่ว่าต้องมี ๒ ประเภทเท่ากันตลอดไปภายใน ระยะเวลาไม่เกิน ๑๐ ปี
ศาลฎีกาพิจารณาตัวบทรัฐธรรมนูญโดยตลอดแล้ว เห็นว่า ส.ส.ประเภทที่ ๒ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งขึ้นไว้ แล้ว ๑๒๓ คน ในวันที่ใช้บังคับรัฐธรรมนูญนั้นเป็นจำนวนตายตัว ไม่มีบัญญัติให้เพิ่มหรือลดลงได้ นอกจากจะลดหรือตั้ง ซ่อมตาม ม.๑๑๖ ในเมื่อได้ใช้บังคับรัฐธรรมนูณนี้ไปแล้ว ๕ ปี ถ้าผู้มีสิทธิเลือกตั้งในจังหวัดใดได้รับการศึกษา อบรมจบ ชั้นประถมศึกษาตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ เป็นจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมดในจังหวัดนั้น ก็ให้ ส.ส.ประเภทที่ ๒ ออกจากตำแหน่งมีจำนวนเท่าจำนวน ส.ส.ที่มีการเลือกตั้งในจังหวัดนั้น หรือในระหว่างที่มี ส.ส. ประเภท ๒ ตามมาตรานี้ตำแหน่ง ส.ส.ประเภทที่ ๒ ว่างลง โดยมิใช่การออกตามความดังกล่าวข้างต้นก็ให้มีการตั้งซ่อมได้ เท่าจำนวนตำแหน่งที่ว่าง
ฉะนั้นในการเลือกตั้ง ส.ส.ประเภทที่ ๑ รอบใหม่ เมื่อ ๒๖ ก.พ. ๒๕๐๐ ซึ่งอนุวัตรตามรัฐธรรมนูญ ม.๔๖, ๔๗ จึงไม่จำต้องให้มี เพียง ๑๒๓ คนเท่าประเภทที่ ๒ ดังคำกล่าวอ้างของผู้ร้อง ไม่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
และอ้างตามบัดทัดฐานซึ่งวินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่ในคำพิพากษาฎีกาที่ ๘๔๓ – ๘๔๘/๒๕๐๐ ระหว่าง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กับพวก โจทก์ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครกับพวกจำเลย
ศาลฎีกาให้ยกคำร้องของผู้ร้อง.

Share