แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การขาดต่ออายุใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวปีใดถือว่าเป็นผิดสำหรับปีที่ขาดต่ออายุปีนั้น
จำเลยขาดต่ออายุใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว สำหรับ พ.ศ. 2495 จนถึงวันฟ้อง (1 ก.พ. 97) เป็นเวลาเกินกว่า 1 ปี ถือว่าขาดอายุความฟ้องร้องตาม ก.ม. อาญา ม. 78(4) ซึ่งกำหนดให้ฟ้องภายใน 1 ปี แล้ว จึงลงโทษจำเลยไม่ได้
แต่การที่จำเลยขาดต่ออายุใบสำคัญสำหรับ พ.ศ. 2496 นั้นนับแต่วันจำเลยจะต้องต่ออายุใบสำคัญสำหรับ พ.ศ. 2496 จนถึงวันฟ้องยังไม่เกิน 1 ปี ไม่ขาดอายุความจึงลงโทษได้ (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 13/2498)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเป็นคนต่างด้าว ขาดต่ออายุใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวประจำปี พ.ศ. ๒๔๙๕-๒๔๙๖ รวม ๒ ครั้ง ขอให้ลงโทษ
จำเลยรับสารภาพว่าไม่ได้ต่ออายุใบสำคัญประจำตัว ๒ ครั้ง จริงตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าการไม่แจ้งขอต่อใบสำคัญประจำตัวเป็นความผิดสำเร็จ ไม่ใช่ความผิดต่อเนื่องกัน ต้องเริ่มนับอายุความตั้งแต่จำเลยเริ่มกระทำผิด แม้จะมีบทลงโทษไว้เป็นรายปีกไม่ทำให้ความผิดเช่นนี้เป็นความผิดต่อเนื่อง การกระทำของจำเลยจึงขาดอายุความตาม ก.ม. อาญา ม.๗๘(๔) ซึ่งกำหนดไว้ ๑ ปี และไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยตรงว่าคนต่างด้าวที่ใบสำคัญขาดอายุจะต้องไปต่ออายุทุกปี จึงพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นชอบด้วยศาลชั้นต้นที่ว่าการที่จำเลยขาดต่ออายุใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวสำหรับ พ.ศ. ๒๔๙๕ จนถึง วันฟ้องเกินกว่า ๑ ปี ขาดอายุความตาม ก.ม. อาญา ม.๗๘(๔) แต่ที่ศาลชั้นต้นว่าจำเลยไม่ผิดฐานละเว้นไม่ขอต่ออายุใบสำคัญสำหรับ พ.ศ. ๒๔๙๖ นั้น ไม่เห็นด้วย เพราะนับแต่วันที่จำเลยจะต้องต่ออายุสำหรับ พ.ศ. ๒๔๙๖ จนถึงวันฟ้องจึงไม่เกิน ๑ ปี พิพากษาแก้ว่าจำเลยมีผิดตาม พ.ร.บ. ทะเบียนคนต่างด้าว (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๕ ม.๔ ให้ปรับ ๒๐๐ บาท ลดโทษตาม ก.ม.อาญา ม. ๕๙ ปรับ ๑๐๐ บาท ค่าปรับบังคับตาม ก.ม.อาญา ม.๑๘
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่พิจารณาปัญหาเรื่องอายุความฟ้องร้องเห็นว่าการขาดต่ออายุใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวปีใด ก็เป็นความผิดสำหรับปีที่ขาดต่ออายุปีนั้น การที่จำเลยขาดต่ออายุใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวสำหรับ พ.ศ. ๒๔๙๕ จนถึงวันฟ้อง เป็นเวลาเกินกว่า ๑ ปี จึงขาดอายุความฟ้องร้องตาม ก.ม. อาญา ม.๗๘(๔) จะพิพากษาลงโทษจำเลยในการที่ขาดต่ออายุใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว สำหรับ พ.ศ. ๒๔๙๕ ไม่ได้ พิพากษายืน