คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 939/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อปรากฏว่าลายมือชื่อจำเลยที่ 5 ในสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 5 ปฏิเสธว่ามิใช่ลายมือชื่อของตน กับในการ์ดตัวอย่างลายมือชื่อและคำขอเปิดบัญชีกระแสรายวันที่จำเลยที่ 5 รับว่าเป็นลายมือชื่อของตนจริงคล้ายคลึงกันและสีหมึกก็เป็นสีเดียวกัน ประกอบกับจำเลยที่ 2 ผู้ทำสัญญาขายลดเช็คกับจำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันก็เป็นสามีภริยากัน จึงน่าเชื่อว่าลายมือชื่อจำเลยที่ 5 ในสัญญาค้ำประกัน เป็นลายมือชื่อที่แท้จริงของจำเลยที่ 5 เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 5 แล้วเป็นอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ขอเข้าว่าคดี หรือมีคำขอให้จำหน่ายคดี ศาลย่อมดำเนินกระบวนพิจารณาสำหรับจำเลยที่ 5 ต่อไป โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 2 กระทำการแทนจำเลยที่ 1ในฐานะที่เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ หากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2เป็นตัวแทนเชิด ศาลก็ย่อมวินิจฉัยให้จำเลยที่ 1 รับผิดในการกระทำของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนเชิด ได้ เพราะความรับผิดของตัวแทนกับตัวแทนเชิด มีลักษณะอย่างเดียวกัน ไม่เป็นการนอกฟ้องนอกประเด็น การที่จำเลยที่ 5 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 1 ยอมให้จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในสัญญาขายลดเช็คในฐานะเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 1 และประทับตราห้างจำเลยที่ 1 ด้วยทั้ง ๆ ที่ทราบดีว่าจำเลยที่ 2 เป็นเพียงหุ้นส่วนจำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 5หุ้นส่วนผู้จัดการได้เชิด จำเลยที่ 2 หรือยอมให้จำเลยที่ 2เชิด ตนเองเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดตามสัญญาขายลดเช็คต่อโจทก์.

ย่อยาว

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นนิติบุคคลมีจำเลยที่ 2 และที่ 4 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการตามลำดับ จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 โดยจำที่ 4 ได้ทำสัญญาขายลดเช็คไว้กับโจทก์ โดยมีจำเลยที่ 5 เป็นผู้ค้ำประกัน เมื่อถึงกำหนดโจทก์นำเช็คไปเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน จึงขอให้บังคับจำเลยทั้ง 5 ชำระเงินจำนวน 690,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 5 ให้การว่า จำเลยที่ 1 จะขายลดตั๋วเงินแก่โจทก์หรือไม่ จำเลยไม่รับรอง และจำเลยไม่เคยทำหนังสือค้ำประกันจำเลยที่ 1ต่อโจทก์ ลายมือชื่อผู้ค้ำประกันในสัญญาตามฟ้องไม่ใช่ลายมือชื่อของจำเลย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิด ขอให้พิพากษายกฟ้องโจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าระหว่างทำสัญญาขายลดเช็คและนำเช็คมาขายลดแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 มิได้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 และไม่มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด ดังนั้นสัญญาขายลดเช็คและการที่จำเลยที่ 2 นำเช็คไปขายจึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 ให้จำต้องรับผิดต่อโจทก์ แต่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงนามในสัญญาขายลดเช็คและเป็นผู้สลักหลังเช็คพิพาทยังคงต้องรับผิดต่อโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 3และที่ 5 ในฐานะผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 726,534 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีจากต้นเงิน 690,000 บาท นับจากวันถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท ให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 1 ที่ 3ที่ 4 ที่ 5 เสีย ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 3ที่ 4 ที่ 5 ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 รับผิดตามฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 5 ยื่นคำแถลงว่า ศาลแพ่งได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 5 เด็ดขาดเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์2527 ขอให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 5 โจทก์ไม่ค้าน ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 5 แล้วเป็นอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 25 เมื่อปรากฏว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ขอเข้าว่าคดีหรือมีคำขอให้จำหน่ายคดี จึงให้ดำเนินกระบวนพิจารณาสำหรับจำเลยที่ 5 ต่อไป
สำหรับผลคดีนั้น ศาลฎีกาพิพากษาว่า “พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสอง และตามที่โจทก์มิได้โต้แย้งว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2522 จำเลยที่ 2 ซึ่งอ้างว่าเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ได้ลงลายมือชื่อในสัญญาขายลดเช็คเอกสารหมาย จ.5 กับโจทก์ ซึ่งขณะนั้นจำเลยที่ 5 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1จำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 4 ได้ทำสัญญาค้ำประกันสัญญาขายลดเช็คดังกล่าวปรากฏตามเอกสารหมาย จ.6 ในเบื้องแรกเห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า จำเลยที่ 5 ทำสัญญาค้ำประกันการขายลดเช็คดังกล่าวปรากฎตามเอกสารหมาย จ. 5 ด้านหลังหรือไม่ ข้อนี้โจทก์มีพยานคือนายจักรพงศ์ กิติศรีวรพันธ์ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความว่าจำเลยที่2 กับจำเลยที่ 5 เป็นสามีภริยากันดังปรากฏตามสำเนาทะเบียนบ้านเอกสารหมาย จ.12 ได้ส่งหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 5 ชำระหนี้แล้วตามเอกสารหมาย จ.10 และใบตอบรับหมาย จ.11 นายปกรณ์ กิดาการ เจ้าหน้าที่ของโจทก์ตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการสินเชื่อเบิกความประกอบสัญญาขายลดเช็คและสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.5 ว่า เดิมจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2ได้ทำสัญญาขายลดเช็คลงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2519 มีจำเลยที่ 5ทำสัญญาค้ำประกันในวงเงิน 200,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.13 ต่อมาจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 จึงได้มาทำสัญญาขายลดเช็คและจำเลยที่ 5เป็นผู้ค้ำประกันแต่เพิ่มวงเงินเป็น 1,000,000 บาท ตามเอกสารหมายจ.5 จำเลยที่ 2 เป็นผู้นำเอกสารหมาย จ.5 ไปให้จำเลยที่ 5 ลงลายมือชื่อแล้วจึงนำมามอบให้นายปกรณ์ นายปกรณ์ตรวจสอบลายมือชื่อของจำเลยที5 และเห็นว่าเหมือนกับลายมือชื่อของจำเลยที่ 5 ในเอกสารหมาย จ.13จึงอนุมัติการขายลดเช็ค ทราบจากจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 5 เป็นภริยาปรากฏว่าคดีนี้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา คงมีจำเลยที่ 5 ยื่นคำให้การและนำสืบต่อสู้คดีว่าลายมือชื่อจำเลยที่ 5 ในสัญญาค้ำประกันด้านหลังเอกสารหมาย จ.5 เป็นลายมือชื่อปลอม โดยจำเลยที่ 5 เบิกความปฏิเสธว่า ไม่ได้ลงลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.5 และ จ.13 จำเลยที่ 2 เป็นเพียงพี่เขยมิใช่สามี และมีนางลัดดา ศรีมงคล พิทักษ์ เบิกความว่า ลายมือชื่อของจำเลยที่ 5 ในสัญญาค้ำประกันเอกสารท้ายฟ้องหมาย จ.5 และในการ์ดตัวอย่างลายมือชื่อกับคำขอเปิดบัญชีกระแสรายวันเอกสารหมาย ล.4,ล.5 ไม่เหมือนกัน เห็นว่าในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 5 นั้น โจทก์มีสำเนาทะเบียนบ้านระบุว่าจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 5 เป็นบิดามารดาของบุตรหญิงรวม 6 คน ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.12จึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 5 เป็นสามีภริยากัน สำหรับลายมือชื่อของจำเลยที่ 5 ในสัญญาค้ำประกันด้านหลังเอกสารหมาย จ.5ซึ่งจำเลยที่ 5 ปฏิเสธว่าไม่ใช่ลายมือชื่อของตนและลายมือชื่อในเอกสารหมาย ล.4 และ ล.5 ซึ่งจำเลยที่ 5 รับว่าเป็นลายมือชื่อของตนนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คล้ายคลึงกันและสีหมึกก็เป็นสีเดียวกันเมื่อพิเคราะห์ถึงความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 5ในฐานะสามีภริยาแล้ว น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 5 ลงลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกันด้านหลังเอกสารหมาย จ.5 จริงดังที่โจทก์นำสืบ
ปัญหาวินิจฉัยข้อที่สองมีว่า การที่โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เชิดหรือยอมให้จำเลยที่ 2 เชิดตนเองเป็นตัวแทนจำเลยที่ 1นั้น ศาลจะวินิจฉัยให้จำเลยที่ 1 รับผิดในการกระทำของจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นตัวแทนเชิดได้หรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้แล้วว่า จำเลยที่ 2 กระทำการแทนจำเลยที่ 1 ในฐานะที่เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ หากข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนเชิดศาลก็ย่อมวินิจฉัยให้จำเลยที่ 1 รับผิดในการกระทำของจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นตัวแทนเชิดได้ เพราะความรับผิดของตัวแทนกับตัวแทนเชิดมีลักษณะอย่างเดียวกัน ไม่เป็นการนอกฟ้องนอกประเด็นแต่อย่างใด ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยข้อสุดท้ายมีว่า การที่จำเลยที่ 5 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาค้ำประกันการขายลดเช็กเอกสารหมายจ.5 ที่จำเลยที่ 2 อ้างว่า ทำแทนจำเลยที่ 1 นั้น ถือได้หรือไม่ว่าจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 5 หุ้นส่วนผู้จัดการได้เชิดจำเลยที่ 2เป็นตัวแทนหรือยอมให้จำเลยที่ 2 เชิดตนเองเป็นตัวแทนจำเลยที่ 1พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่จำเลยที่ 5 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 1 ยอมให้จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในสัญญาขายลดเช็คเอกสารหมาย จ.5 ในฐานะเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 1 และประทับตราห้างจำเลยที่ 1 ในเอกสารดังกล่าวด้วยทั้ง ๆ ที่จำเลยที่ 5 ทราบดีว่าจำเลยที่ 2 เป็นเพียงหุ้นส่วนจำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 เท่านั้นย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 5 หุ้นส่วนผู้จัดการได้เชิดจำเลยที่ 2 หรือยอมให้จำเลยที่ 2 เชิดตนเองเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดตามสัญญาขายลดเช็คเอกสารหมาย จ.5 ต่อโจทก์ผู้สุจริตและมิได้ล่วงรู้ถึงความจริงเสมือนว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 4 ในฐานะผู้ค้ำประกันสัญญาขายลดเช็คดังกล่าว และผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.7 และ จ.8ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ด้วย สำหรับจำเลยที่ 5 ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยดังกล่าว ในฐานะผู้ค้ำประกัน ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้นอีกเช่นกัน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ร่วมกับจำเลยที่ 2 รับผิดชำระเงิน 726,534 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีในต้นเงิน 690,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์”.

Share