คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9384/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 76 ห้ามมิให้นายจ้างหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด เว้นแต่เป็นการหักเพื่อ (1) ชำระภาษีเงินได้ตามจำนวนที่ลูกจ้างต้องจ่ายหรือชำระเงินอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ (3) หนี้ที่เป็นไปเพื่อสวัสดิการที่เป็นประโยชน์แก่ลูกจ้างฝ่ายเดียว โดยได้รับความยินยอมล่วงหน้าจากลูกจ้าง ตามหนังสือที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดตากขอความร่วมมือไปยังนายจ้างที่จ้างแรงงานต่างด้าว ให้จัดหาที่พักให้แก่แรงงานต่างด้าวเพื่อความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยของชุมชนและเป็นไปเพื่อให้ความสะดวกแก่ลูกจ้างในการที่จะทำงานให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้าง ทั้งโจทก์ก็ได้รับประโยชน์เป็นตัวเงินได้เพราะมีผลทำให้จ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดน้อยลงด้วย หนังสือดังกล่าวมิใช่กฎหมายแต่เป็นเพียงหนังสือขอความร่วมมือจากหน่วยงานราชการไปยังผู้ประกอบกิจการเอกชนเท่านั้น ค่าที่พัก ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าอาหาร ค่าตรวจสุขภาพ ค่าประกันสุขภาพ และค่าใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าวจึงมิใช่เงินอื่นตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ให้ลูกจ้างต้องชำระและนายจ้างชำระแทนลูกจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 76 (1) หากแต่เป็นสวัสดิการที่โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างจัดหาให้แก่ลูกจ้าง เพื่อให้ความสะดวกแก่โจทก์สามารถจ้างงานลูกจ้าง ซึ่งเป็นแรงงานต่างด้าวได้อย่างถูกต้องตามที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดตากมีหนังสือขอความร่วมมือโดยโจทก์ได้รับประโยชน์จากการออกค่าใช้จ่ายนั้นด้วย เงินดังกล่าวจึงมิใช่หนี้ที่เป็นไปเพื่อสวัสดิการที่เป็นประโยชน์แก่ลูกจ้างฝ่ายเดียวตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 76 (3) โจทก์จึงไม่สามารถหักเงินค่าใช้จ่ายนั้นออกจากค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดได้
การที่โจทก์นำคดีมาสู่ศาลขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 ย่อมหมายความว่าโจทก์ประสงค์จะให้ศาลแรงงานพิจารณาทบทวนคำสั่งของจำเลยว่าถูกต้องหรือไม่ หากจำเลยมีคำสั่งไม่ถูกต้องศาลแรงงานย่อมมีอำนาจเพิกถอนหรือแก้ไขคำสั่งของจำเลยได้ โจทก์ฟ้องว่าคำสั่งของจำเลยไม่ถูกต้องเพราะหนี้ที่ลูกจ้างใช้สิทธิเรียกร้องบางส่วนขาดอายุความและโจทก์มีสิทธินำค่าใช้จ่ายหักจากหนี้ดังกล่าวโจทก์จะไม่มีเงินค้างจ่ายแก่ลูกจ้างตามคำสั่งของจำเลยและขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลย จำเลยให้การว่าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องยังไม่ขาดอายุความและโจทก์ไม่มีสิทธิหักค่าใช้จ่าย แม้ศาลแรงงานภาค 6 จะมิได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทว่ามีเหตุที่ต้องแก้ไขคำสั่งของจำเลยหรือไม่ แต่การที่ศาลแรงงานภาค 6 วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีสิทธินำค่าใช้จ่ายตามที่อ้างมาหักจากเงินที่ต้องจ่ายแก่ลูกจ้างได้ แต่ที่จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์จ่ายเงินแก่ลูกจ้างโดยนำเอาหนี้ตามสิทธิเรียกร้องบางส่วนที่ขาดอายุความมาคิดคำนวณด้วยไม่ถูกต้องนั้น ก็เกี่ยวเนื่องโดยตรงที่จะวินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงเป็นไปดังคำฟ้องหรือคำให้การว่าคำสั่งของจำเลยถูกต้องหรือไม่ เมื่อเห็นว่าคำสั่งของจำเลยไม่ถูกต้องบางส่วน ศาลแรงงานภาค 6 ย่อมมีอำนาจพิพากษาแก้ไขคำสั่งของจำเลยในส่วนที่ไม่ถูกต้องดังกล่าวโดยมิต้องเพิกถอนคำสั่งของจำเลยทั้งหมดได้ กรณีมิใช่เป็นการวินิจฉัยเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดตาก ที่ 15/2549
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 6 พิพากษาให้แก้ไขคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดตาก ที่ 15/2549 ของจำเลย โดยให้โจทก์จ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดแก่ลูกจ้างทั้ง 85 คน รายละเอียดปรากฏตามคำพิพากษาศาลแรงงานภาค 6 รวมเป็นเงิน 484,452.03 บาท นอกจากที่แก้ไขให้เป็นไปตามคำสั่งของจำเลย
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ปรากฏข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันและศาลแรงงานภาค 6 ฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า นายโกธงกับพวกรวม 85 คน เป็นลูกจ้างโจทก์ ได้ยื่นคำร้องต่อจำเลยว่าโจทก์จ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์จ่ายค่าจ้างที่จ่ายต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำบางส่วน ตามคำสั่งที่ 15/2549 ระยะเวลาในการทำงานของลูกจ้างตามคำสั่งของจำเลยถูกต้องแล้ว ลูกจ้างใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อจำเลยเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2549 ค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด มีกำหนดอายุความ 2 ปี สิทธิเรียกร้องดังกล่าวของลูกจ้างทั้ง 85 คน จึงนับตั้งแต่วันที่ลูกจ้างใช้สิทธิเรียกร้องเอาเงินดังกล่าวจากโจทก์ย้อนหลังไปถึงวันที่ 8 เมษายน 2547 คือตารางการคำนวณที่แยกแยะหนี้ส่วนที่ขาดอายุความกับส่วนที่อยู่ในอายุความว่าเป็นจำนวนเท่าใด ซึ่งเมื่อหักสิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความตามคำสั่งของจำเลยแล้วคงเหลือเงินที่ลูกจ้างแต่ละคนจะได้รับรวมเป็นเงิน 484,452.03 บาท การที่โจทก์ให้ลูกจ้างเข้าพักในที่พักของโจทก์ ออกค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า จัดหาอาหารให้ และค่าใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าวเพื่อให้ความสะดวกแก่ลูกจ้างที่ทำงานให้โจทก์ ซึ่งโจทก์ได้รับประโยชน์อันคิดเป็นตัวเงินได้เพราะมีผลให้จ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดน้อยลงอันเป็นการได้ประโยชน์จากการออกค่าใช้จ่ายดังกล่าว มิใช่สวัสดิการที่เป็นประโยชน์แก่ลูกจ้างฝ่ายเดียวตามข้อยกเว้นแห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 76 (3) การที่โจทก์ถือปฏิบัติตามหนังสือของสำนักงานจัดหางานจังหวัดตากก็ไม่สามารถใช้เป็นข้อยกเว้นการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 76 ที่ห้ามมิให้นายจ้างหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด โจทก์จึงไม่สามารถนำค่าใช้จ่ายตามที่อ้างดังกล่าวไปหักจากเงินค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดที่ต้องจ่ายแก่ลูกจ้างดังกล่าวได้
มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกว่า โจทก์มีสิทธิหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า ค่าตรวจสุขภาพ ค่าประกันสุขภาพและค่าใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าวเป็นเงินที่ลูกจ้างซึ่งเป็นคนต่างด้าวมีหน้าที่ต้องจ่ายตามกฎหมายเพื่อให้มีคุณสมบัติที่จะทำงานในประเทศไทยได้จึงเป็นเงินอื่นตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 76 (1) ที่โจทก์ในฐานะนายจ้างได้จ่ายแทนไปก่อนย่อมมีสิทธิหักจากค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดได้เต็มจำนวน รวมทั้งค่าที่พัก ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าอาหาร ซึ่งโจทก์ได้จ่ายไปก่อนเพื่อเป็นสวัสดิการที่ต้องจัดให้ลูกจ้างตามคำสั่งของสำนักงานจัดหางานจังหวัดตาก เพื่อความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และเป็นหนี้ที่เป็นไปเพื่อสวัสดิการที่เป็นประโยชน์แก่ลูกจ้างฝ่ายเดียว โดยได้รับความยินยอมล่วงหน้าจากลูกจ้าง โจทก์จึงมีสิทธิหักจากค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดของลูกจ้างได้นั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 76 ห้ามมิให้นายจ้างหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด เว้นแต่เป็นการหักเพื่อ (1) ชำระภาษีเงินได้ตามจำนวนที่ลูกจ้างต้องจ่ายหรือชำระเงินอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ (3) หนี้ที่เป็นไปเพื่อสวัสดิการที่เป็นประโยชน์แก่ลูกจ้างฝ่ายเดียว โดยได้รับความยินยอมล่วงหน้าจากลูกจ้าง เมื่อคดีนี้ปรากฏข้อเท็จจริงตามที่ศาลแรงงานภาค 6 รับฟังมาและคู่ความไม่โต้แย้งกันว่า ค่าที่พัก ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าอาหาร ค่าตรวจสุขภาพ ค่าประกันสุขภาพ และค่าใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าว เกิดจากการที่โจทก์ดำเนินการให้แก่ลูกจ้างทั้ง 85 คน ตามหนังสือที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดตากขอความร่วมมือไปยังนายจ้างที่จ้างแรงงานต่างด้าวให้จัดหาที่พักให้แก่แรงงานต่างด้าวเพื่อความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยของชุมชนและเป็นไปเพื่อให้ความสะดวกแก่ลูกจ้างในการที่จะทำงานให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้าง ทั้งโจทก์ก็ได้รับประโยชน์เป็นตัวเงินได้เพราะมีผลทำให้จ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดน้อยลงด้วย เมื่อหนังสือดังกล่าวมิใช่กฎหมายแต่เป็นเพียงหนังสือขอความร่วมมือจากหน่วยงานราชการไปยังผู้ประกอบกิจการเอกชนเท่านั้น ดังนั้น ค่าที่พัก ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าอาหาร ค่าตรวจสุขภาพ ค่าประกันสุขภาพ และค่าใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าวจึงมิใช่เงินอื่นตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ให้ลูกจ้างต้องชำระและนายจ้างชำระแทนลูกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 76 (1) หากแต่เป็นสวัสดิการที่โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างจัดหาให้แก่ลูกจ้างทั้ง 85 คน เพื่อให้ความสะดวกแก่โจทก์สามารถจ้างงานลูกจ้างทั้ง 85 คน ซึ่งเป็นแรงงานต่างด้าวได้อย่างถูกต้องตามที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดตากมีหนังสือขอความร่วมมือโดยโจทก์ได้รับประโยชน์จากการออกค่าใช้จ่ายดังกล่าวด้วย เงินดังกล่าวจึงมิใช่หนี้ที่เป็นไปเพื่อสวัสดิการที่เป็นประโยชน์แก่ลูกจ้างฝ่ายเดียวตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 76 (3) โจทก์จึงไม่สามารถหักเงินดังกล่าวออกจากค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดได้ ที่ศาลแรงงานภาค 6 พิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการต่อมาว่า คำพิพากษาศาลแรงงานภาค 6 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน ศาลแรงงานภาค 6 กำหนดประเด็นข้อพิพาทว่ามีเหตุเพิกถอนคำสั่งจำเลยหรือไม่ เมื่อศาลแรงงานภาค 6 เห็นว่าคำสั่งจำเลยไม่ถูกต้องจึงต้องพิพากษาเพียงเพิกถอนคำสั่งของจำเลยหรือไม่เท่านั้น การที่ศาลแรงงานภาค 6 พิพากษาให้แก้ไขคำสั่งของจำเลยจึงเป็นการพิพากษาที่เกินไปกว่าหรือนอกจากคำขอท้ายฟ้อง ทั้งไม่ได้ระบุเหตุอันสมควรเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความฝ่ายใดจึงเป็นคำพิพากษาที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52 นั้น เห็นว่า การที่โจทก์นำคดีมาสู่ศาลเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 ย่อมหมายความว่าโจทก์ประสงค์จะให้ศาลแรงงานพิจารณาทบทวนคำสั่งของจำเลยว่าถูกต้องหรือไม่ โดยหากจำเลยมีคำสั่งไม่ถูกต้องศาลแรงงานย่อมมีอำนาจเพิกถอนหรือแก้ไขคำสั่งของจำเลยได้ เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าคำสั่งของจำเลยไม่ถูกต้องเพราะหนี้ที่ลูกจ้างใช้สิทธิเรียกร้องบางส่วนขาดอายุความและโจทก์มีสิทธินำค่าใช้จ่ายหักจากหนี้ดังกล่าวโจทก์จะไม่มีเงินค้างจ่ายแก่ลูกจ้างตามคำสั่งของจำเลยและขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลย และจำเลยให้การว่าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องยังไม่ขาดอายุความและโจทก์ไม่มีสิทธิหักค่าใช้จ่าย ดังนั้น แม้ศาลแรงงานภาค 6 จะมิได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทว่ามีเหตุที่ต้องแก้ไขคำสั่งของจำเลยหรือไม่ แต่การที่ศาลแรงงานภาค 6 วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีสิทธินำค่าใช้จ่ายตามที่อ้างมาหักจากเงินที่ต้องจ่ายแก่ลูกจ้างได้ แต่ที่จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์จ่ายเงินแก่ลูกจ้างโดยนำเอาหนี้ตามสิทธิเรียกร้องบางส่วนที่ขาดอายุความมาคิดคำนวณด้วยไม่ถูกต้องนั้น ก็เกี่ยวเนื่องโดยตรงที่จะวินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงเป็นไปดังคำฟ้องหรือคำให้การว่าคำสั่งของจำเลยถูกต้องหรือไม่ เมื่อเห็นว่าคำสั่งของจำเลยไม่ถูกต้องบางส่วน ศาลแรงงานภาค 6 ย่อมมีอำนาจพิพากษาแก้ไขคำสั่งของจำเลยในส่วนที่ไม่ถูกต้องดังกล่าวโดยมิต้องเพิกถอนคำสั่งของจำเลยทั้งหมดได้ กรณีมิใช่เป็นการวินิจฉัยเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52 ที่ศาลแรงงานภาค 6 พิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน

Share