คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9372/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คำฟ้องระบุว่าได้มีการเบิกจ่ายเงินตามตั๋วแลกเงินโดยความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เมื่อข้อเท็จจริงฟังว่า ม. ก็เป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 เช่นเดียวกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 การที่ศาลวินิจฉัยว่าเป็นความประมาทเลินเล่อของ ม. จึงเป็นการวินิจฉัยว่ามีการเบิกจ่ายเงินตามตั๋วแลกเงินโดยความประมาทเลินเล่อของพนักงานของจำเลยที่ 1 ตามคำฟ้องนั่นเอง จึงมิได้วินิจฉัยนอกคำฟ้อง โจทก์ไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับการส่งตั๋วแลกเงินมาแสดงโดยอ้างว่าทำหาย และยังได้ความต่อไปว่าหลังจากส่งตั๋วแลกเงินไปแล้ว โจทก์ทราบว่ามีผู้รับเงินตามตั๋วแลกเงินไปโดยใช้บัตรประจำตัวคนญวนอพยพของ ก. ที่หมดอายุเป็นหลักฐานในการเรียกเก็บเงินและลายมือชื่อ ก.ที่ด้านหลังตั๋วแลกเงินเป็นลายมือชื่อปลอม แต่โจทก์เพิ่งแจ้งความหลังจากทราบเหตุแล้วหลายวันซึ่งนับว่าเป็นข้อพิรุธอย่างยิ่ง ส่วนเรื่องการทำบัตรประจำตัวคนญวนอพยพนั้นการออกบัตรใหม่ให้ ทางสำนักงานทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลจะต้องเรียกบัตรเดิมคืน แสดงว่าถ้า ก.ยังไม่มารับบัตรใหม่ก็ยังไม่ต้องคืนบัตรเก่า จึงน่าเชื่อว่าบัตรเก่ายังคงอยู่ที่ ก.การที่ม. พนักงานรับเงินธนาคารจำเลยที่ 1 เบิกความยืนยันว่าก. กับพวกได้นำตั๋วแลกเงินมาเรียกเก็บเงินโดยนำบัตรประจำตัวที่เป็นบัตรเก่าหมดอายุแล้วมาแสดงจึงมีน้ำหนักน่าเชื่อ ส่วนเหตุที่ด้านหลังตั๋วแลกเงินมีชื่อ ก. นั้น เมื่อได้พิเคราะห์ตั๋วแลกเงินกับบัตรประจำตัวของ ก. แล้วปรากฏว่ามีการลงรายการดังกล่าวที่ด้านหลังตั๋วแลกเงินจริง และตรงกับข้อความในบัตรประจำตัวของ ก. ทุกประการลายมือชื่อของ ก.ที่ลงในตั๋วแลกเงินกับที่ลงในบัตรประจำตัวคนญวนอพยพของก. ก็มีความคล้ายคลึงกันอยู่มาก พยานหลักฐานของจำเลยที่ 1จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้จ่ายเงินตามตั๋วแลกเงินให้แก่ ก. โดยถูกต้องตามระเบียบแล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ซื้อตั๋วแลกเงินของธนาคารจำเลยที่ 1สาขาท่าเรือสาธุประดิษฐ์ เลขที่ 5596028 ลงวันที่23 พฤษภาคม 2534 จำนวนเงิน 105,545.33 บาท สั่งจ่ายในนามนางกิม เตริ่นถิ และส่งทางไปรษณีย์ไปให้นางกิมที่จังหวัดหนองคาย ต่อมาประมาณปลายเดือนพฤษภาคม 2534มีผู้เบิกเงินตามตั๋วแลกเงินดังกล่าวไปจากธนาคารจำเลยที่ 1สาขาหนองคาย ด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยนางกิมมิได้รับเงินไป ทำให้โจทก์เสียหาย จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3จึงต้องร่วมกันรับผิดชำระเงินตามตั๋วแลกเงินแก่โจทก์ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 105,545.33 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การว่า ในการจ่ายเงินตามตั๋วแลกเงินจำเลยที่ 1 ได้จ่ายให้นางกิม เตริ่นถี่ ไปถูกต้องตามระเบียบของธนาคารแล้วในวันจ่ายเงินจำเลยที่ 2 และที่ 3มิได้อยู่ปฏิบัติงานที่สำนักงานของจำเลยที่ 1 สาขาหนองคายขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 105,545.33 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (29 พฤศจิกายน 2534) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2534 โจทก์ซื้อตั๋วแลกเงินจากธนาคารจำเลยที่ 1 สาขาท่าเรือสาธุประดิษฐ์ ลงวันที่23 พฤษภาคม 2534 สั่งจ่ายเงิน 105,545.33 บาท ให้นางกิม เตริ่นถิ ตามตั๋วแลกเงินเอกสารหมาย ล.1 ต่อมาวันที่ 31 พฤษภาคม 2534 มีผู้นำตั๋วแลกเงินดังกล่าวไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารจำเลยที่ 1 สาขาหนองคาย ซึ่งมีจำเลยที่ 2 และที่ 3เป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ตำแหน่งสมุห์บัญชีและผู้จัดการนางมันทิราพนักงานบัญชีของจำเลยที่ 1 เป็นผู้ตรวจลายมือชื่อผู้ที่นำตั๋วแลกเงินมาเรียกเก็บเงิน มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อแรกว่าศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยนอกคำฟ้องหรือไม่ จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า คำฟ้องระบุว่าได้มีการเบิกจ่ายเงินตามตั๋วแลกเงินโดยความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นสมุห์บัญชีและจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้จัดการของจำเลยที่ 1การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า เป็นความประมาทเลินเล่อของนางมันทิรา จึงเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนั้นเห็นว่าข้อเท็จจริงฟังได้ว่านางมันทิราก็เป็นพนักงานของจำเลยที่ 1เช่นเดียวกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1วินิจฉัยดังกล่าวจึงเป็นการวินิจฉัยว่ามีการเบิกจ่ายเงินตามตั๋วแลกเงินโดยความประมาทเลินเล่อของพนักงานของจำเลยที่ 1ตามคำฟ้องนั่นเอง ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงมิได้วินิจฉัยนอกคำฟ้องดังที่จำเลยที่ 1 ฎีกาแต่อย่างใด ส่วนปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1ข้อต่อไปที่ว่า จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่นั้น โจทก์นายกิม เหงียนโม่ง และนางกิม เตริ่นถิเบิกความได้ความว่าเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2534 โจทก์ได้ซื้อตั๋วแลกเงินพิพาทของธนาคารจำเลยที่ 1 สาขาท่าเรือสาธุประดิษฐ์ สั่งจ่ายเงินให้นางกิมเป็นผู้รับแล้วส่งตั๋วแลกเงินดังกล่าวไปให้นางกิมที่จังหวัดหนองคายทางไปรษณีย์โดยระบุจ่าหน้าซองถึงนายกิมเป็นผู้รับ ทั้งนี้เพื่อให้นางกิมนำตั๋วแลกเงินไปเรียกเก็บเงินที่ธนาคารจำเลยที่ 1 สาขาหนองคาย ต่อมาตั๋วแลกเงินเกิดสูญหายระหว่างทาง แต่โจทก์ได้ไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับการส่งตั๋วแลกเงินมาแสดงโดยอ้างว่าทำหายและยังได้ความต่อไปว่าหลังจากส่งตั๋วแลกเงินไปแล้ว โจทก์ นายกิม และนางกิมมีการโทรศัพท์ติดต่อกันและทราบเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม2534 ว่ามีผู้รับเงินตามตั๋วแลกเงินไปแล้ว โดยใช้บัตรประจำตัวคนญวนอพยพของนางกิมที่หมดอายุแล้วซึ่งทางสำนักงานทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลเมืองหนองคายเรียกคืนไปแล้วเป็นหลักฐานในการเรียกเก็บเงิน และลายมือชื่อนางกิมที่ลงด้านหลังตั๋วแลกเงินเป็นลายมือชื่อปลอม แต่โจทก์เพิ่งไปแจ้งความที่สถานีตำรวจเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2534 หลังจากทราบเหตุแล้วหลายวันซึ่งนับว่าเป็นข้อพิรุธอย่างยิ่ง ส่วนเรื่องการทำบัตรประจำตัวคนญวนอพยพนั้น นางสุวภา ตัณทะมงคล เจ้าหน้าที่สำนักงานทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลเมืองหนองคายพยานโจทก์เบิกความว่า เทศบาลเมืองหนองคายเป็นผู้จัดทำบัตรประจำตัวคนญวนอพยพโดยกำหนดให้คนญวนมาทำตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2533ถึงวันที่ 9 สิงหาคม 2533 เมื่อคนญวนมาขอมีบัตรแล้วหลังจากนั้น45 วัน จึงจะมาขอรับบัตรได้ แต่ตามใบรับคำขอมีบัตรของนางกิมปรากฏว่านางกิมได้ยื่นคำขอมีบัตรเมื่อวันที่30 กรกฎาคม 2533 และในใบรับคำขอมีบัตรนั้นเองระบุว่าให้ผู้ยื่นคำขอมารับบัตรวันที่ 31 ธันวาคม 2533 คำเบิกความของนางสุวภาจึงขัดแย้งกับเอกสารดังกล่าว ดังนั้นที่นางกิมเบิกความว่า ไปรับบัตรเมื่อเดือนพฤษภาคม แต่อ้างว่าปี พ.ศ.ไม่ได้นั้น เห็นว่า นางกิมน่าจะไปรับบัตรเมื่อเดือนพฤษภาคม2534 เพราะเป็นไปไม่ได้ที่นางกิมจะไปรับบัตรใหม่ก่อนยื่นคำขอคือวันที่ 30 กรกฎาคม 2533 ส่วนที่นางกิมเบิกความว่าเมื่อทำบัตรใหม่แล้วเจ้าหน้าที่เทศบาลได้ยึดบัตรเก่าไว้และออกใบแทนให้ก่อน ใบแทนดังกล่าวไม่มีรูปถ่ายติดไว้หากใช้ใบแทนไปติดต่อกับหน่วยงานราชการหรือหน่วยงานอื่น เจ้าหน้าที่มักจะไม่ยอมรับ แต่ตามหนังสือของสำนักงานทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลเมืองหนองคายเอกสารหมาย ล.2 ที่ชี้แจงขั้นตอนเกี่ยวกับบัตรประจำตัวคนญวนอพยพกลับปรากฏว่าเมื่อมีการออกบัตรรูปแบบใหม่ให้ทางสำนักงานทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลเมืองหนองคายจะต้องเรียกบัตรเดิมคืน แสดงว่าถ้านางกิมยังไม่มารับบัตรใหม่ก็ยังไม่ต้องคืนบัตรเก่า จึงน่าเชื่อว่าในเดือนพฤษภาคม 2534 บัตรเก่ายังคงอยู่ที่นางกิมการที่นางมันทิรา มงคลภูมิรัตน์ พนักงานรับเงินธนาคารจำเลยที่ 1 สาขาหนองคาย เบิกความยืนยันว่านางกิมกับพวกซึ่งเป็นชาย 1 คน กับหญิงอีก 1 คน ได้นำตั๋วแลกเงินมาเรียกเก็บเงินในเดือนพฤษภาคม 2534 โดยนำบัตรประจำตัวคนญวนอพยพซึ่งเป็นบัตรเก่าที่หมดอายุแล้วมาแสดงจึงมีน้ำหนักน่าเชื่อ ส่วนเหตุที่ด้านหลังตั๋วแลกเงินมีชื่อโอนวน เล็กฉลาดกับชื่อนางกิมปรากฏอยู่นั้นก้ได้ความจากนางมันทิราว่า เมื่อพยานได้รับตั๋วแลกเงินแล้วได้ใช้ตรายางประทับที่ด้านหลังตั๋วแลกเงินเพื่อให้ผู้เรียกเก็บเงินลงชื่อ หญิงซึ่งมากับนางกิมได้มาลงชื่อว่าโอนวน เล็กฉลาด พยานตรวจดูปรากฏว่าไม่ตรงกับชื่อผู้รับเงินที่ระบุไว้ด้านหน้าตั๋วแลกเงิน พยานจึงบอกให้ผู้ที่มีชื่อด้านหน้าตั๋วแลกเงินมาลงชื่อ นางกิมจึงได้มาลงชื่อเป็นภาษาญวน จากนั้นพยานได้ขอดูบัตรประจำตัว นางกิมส่งบัตรประจำตัวคนญวนอพยพเอกสารหมาย จ.4 ให้ พยานตรวจดูชื่อดูใบหน้าเทียบกับรูปถ่ายในบัตรแล้วจดที่อยู่กับเลขหมายบัตรประจำตัวลงที่ด้านหลังตั๋วแลกเงินตามระเบียบของธนาคารเกี่ยวกับการจ่ายเงินตามตั๋วแลกเงิน ศาลได้พิเคราะห์ตั๋วแลกเงินเอกสารหมาย จ.1 กับบัตรประจำตัวคนญวนอพยพเอกสารหมาย จ.4ของนางกิมแล้วปรากฏว่ามีการลงรายการดังกล่าวที่ด้านหลังตั๋วแลกเงินจริง และตรงกับข้อความในบัตรประจำตัวคนญวนอพยพของนางกิมทุกประการ ลายมือชื่อของนางกิมที่ลงในตั๋วแลกเงินกับที่ลงในบัตรประจำตัวคนญวนอพยพของนางกิมก็มีความคล้ายคลึงกันอยู่มาก พยานหลักฐานของจำเลยที่ 1จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้จ่ายเงินตามตั๋วแลกเงินให้แก่นางกิมโดยถูกต้องตามระเบียบแล้วจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์

Share