แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดีและให้งดสืบพยานจำเลยเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ก่อนศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 (1) จำเลยซึ่งได้โต้แย้งคำสั่งดังกล่าวไว้จะอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้ภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีนั้นเป็นต้นไปตามมาตรา 226 (2) ส่วนการอุทธรณ์จะต้องปฎิบัติอย่างไรต้องพิจารณาตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา 229 มิใช่พิจารณาแต่เฉพาะมาตรา 226 เพียงประการเดียว
จำเลยผู้อุทธรณ์ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาหรือคำสั่งมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 แต่จำเลยมิได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยจึงชอบแล้ว และเมื่อจำเลยอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับอุทธรณ์ แม้จะเป็นการอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยในเรื่องที่ขอให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานจำเลยต่อไป มิใช่อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยตรง ก็ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของการอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ตามมาตรา 234 โดยนำค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงมาวางศาลและนำเงินมาชำระตามคำพิพากษาหรือหาประกันให้ไว้ต่อศาลภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่ศาลได้มีคำสั่ง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยนำเงินค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงมาวางศาลและนำเงินมาชำระตามคำพิพากษาหรือหาประกันให้ไว้ต่อศาลภายในกำหนด 7 วัน ปรากฏว่าจำเลยเพียงแต่ยื่นคำร้องขอใช้หลักทรัพย์ที่ได้จดทะเบียนจำนองไว้กับโจทก์เป็นหลักประกันทั้งที่หนี้จำนองที่จำเลยจะต้องชำระตามคำพิพากษามีข้อตกลงว่าหากบังคับจำนองแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ จำเลยต้องรับผิดในส่วนที่ยังขาดอยู่ และหนี้ตามคำพิพากษามีจำนวนสูงกว่าวงเงินที่จดทะเบียนจำนองเป็นประกันอยู่มาก ถือไม่ได้ว่าหลักทรัพย์ที่จำนองเพียงพอสำหรับหนี้ตามคำพิพากษาและค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงที่จำเลยต้องรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์ การที่ศาลชั้นต้นไม่รับหลักทรัพย์ที่จำนองดังกล่าวเป็นหลักประกันจึงชอบแล้ว เมื่อจำเลยไม่ได้ยื่นหลักประกันอื่นใดภายในกำหนดเวลาที่ศาลชั้นต้นได้กำหนดไว้นั้นอีก จึงต้องถือว่าจำเลยไม่ปฏิบัติตามมาตรา 234 ศาลอุทธรณ์ภาค 4 จึงไม่พิจารณาคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากเมื่อสืบพยานโจทก์เสร็จและอยู่ในระหว่างนัดสืบพยานจำเลยศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดีและงดสืบพยานของจำเลยที่ 1 และที่ 2 สำหรับจำเลยที่ 3 โจทก์ได้ถอนฟ้องไปก่อน แล้วศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 19,922,464.19 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 14,850,009.64 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 24 กันยายน 2542) เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 6563, 7204, 38372, 38373 และ 38374 ตำบลห้วยยาง อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ หากได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 และที่ 2 บังคับชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่งดสืบพยานจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยให้กลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่อไปศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำพิพากษากลับคำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นและให้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป เท่ากับให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและให้สืบพยานต่อไปจึงต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แทนคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาหรือคำสั่งมาวางศาลพร้อมอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่นำค่าธรรมเนียมมาวางศาลพร้อมอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่นำค่าธรรมเนียมมาวางศาลพร้อมอุทธรณ์ดังกล่าว จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าเป็นกรณีผู้อุทธรณ์อุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 234 จึงมีคำสั่งให้ผู้อุทธรณ์นำเงินค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงมาวางศาลและนำเงินมาชำระตามคำพิพากษาหรือหาประกันให้ไว้ต่อศาลภายในกำหนด 7 วัน นับแต่วันนี้ ต่อมาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำร้องขอใช้หลักทรัพย์ที่ได้จดทะเบียนจำนองไว้กับโจทก์เป็นหลักประกัน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ทรัพย์ที่ผู้อุทธรณ์จะนำมาวางประกันให้ไว้ต่อศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 234 นั้น ต้องมิใช่ทรัพย์ที่โจทก์มีสิทธิบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้อยู่แล้ว การที่จำเลยขอนำทรัพย์จำนองวางเป็นประกัน จึงยังถือไม่ได้ว่าได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ปฏิบัติตามคำสั่งลงวันที่ 14 มกราคม 2545 ภายในกำหนด ต่อมาเมื่อครบกำหนดระยะเวลาตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดแล้ว เจ้าหน้าที่รายงานต่อศาลว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลดังกล่าว ศาลชั้นต้นจึงได้ส่งสำนวนไปศาลอุทธรณ์ภาค 4
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้นำเงินมาชำระตามคำพิพากษาหรือหาประกันให้ไว้ต่อศาลภายในกำหนดอันเป็นการไม่ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 234 คำร้องอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เลื่อนคดีและให้งดสืบพยานจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ก่อนศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 (1) จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งได้โต้แย้งคำสั่งดังกล่าวไว้จะอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้ภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ชาดตัดสินคดีนั้นเป็นต้นไปตามมาตรา 226 (2) ซึ่งบทบัญญัติมาตรา 226 ดังกล่าวจึงคงเป็นเพียงบทบัญญัติที่กำหนดระยะเวลาที่จะอุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณาที่คู่ความได้โต้แย้งคำสั่งไว้แล้วเท่านั้น ส่วนการอุทธรณ์จะต้องปฏิบัติอย่างไร ต้องพิจารณาตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 มิใช่พิจารณาแต่เฉพาะมาตรา 226 ดังที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กล่าวอ้างเพียงประการเดียว และเมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำพิพากษากลับคำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นและให้สืบพยานต่อไป ซึ่งมีผลเท่ากับให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและให้ศาลชั้นต้นสืบพยานต่อไปแล้วมีคำพิพากษาใหม่ ประกอบกับบทบัญญัติในมาตรา 229 ก็กำหนดเงื่อนไขให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ผู้อุทธรณ์ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาหรือคำสั่งมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์ แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 นั้นจึงเป็นการชอบแล้ว และเมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ แม้จะเป็นการอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในเรื่องที่ขอให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่อไป มิใช่อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยตรงก็ตาม จำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของการอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 234 กล่าวคือ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องนำค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงมาวางศาลและนำเงินมาชำระตามคำพิพากษาหรือหาประกันให้ไว้ต่อศาลภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่ศาลได้มีคำสั่ง หาใช่ไม่ต้องนำเงินมาชำระหรือหาประกันให้ไว้ต่อศาลดังที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาไม่ และเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำเงินค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงมาวางศาลและนำเงินมาชำระตามคำพิพากษาหรือหาประกันให้ไว้ต่อศาลภายในกำหนด 7 วัน และปรากฏว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 เพียงแต่ยื่นคำร้องขอใช้หลักทรัพย์ที่ได้จดทะเบียนจำนองไว้กับโจทก์เป็นหลักประกัน ทั้งที่หนี้จำนองที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะต้องชำระตามคำพิพากษามีข้อตกลงว่าหากบังคับจำนองแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องรับผิดในส่วนที่ยังขาดอยู่ และหนี้ตามคำพิพากษาก็มีจำนวนสูงกว่าวงเงินที่จดทะเบียนจำนองเป็นประกันอยู่มาก ถือไม่ได้ว่าหลักทรัพย์ที่จำนองเพียงพอสำหรับหนี้ตามคำพิพากษาและค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องรับผิดชำระให้แก่โจทก์นั้นแล้ว การที่ศาลชั้นต้นไม่รับหลักทรัพย์ที่จำนองดังกล่าวเป็นหลักประกันจึงชอบแล้ว และเมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ยื่นหลักประกันอื่นใดภายในกำหนดเวลาที่ศาลชั้นต้นได้กำหนดไว้นั้นอีก กรณีจึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามบทบังคับให้ผู้อุทธรณ์ต้องปฏิบัติตามที่บทบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 234 ศาลอุทธรณ์ภาค 4 จึงไม่อาจพิจารณาคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายได้ ต้องยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 1 และที่ 2 นั้นเสีย คำสั่งของศาลล่างทั้งสองที่เกี่ยวด้วยกระบวนพิจารณาในชั้นอุทธรณ์ดังกล่าวจึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.