คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6936/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 นายจ้างจะอ้างเหตุไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามมาตรา 119 ขึ้นต่อสู้ได้หรือไม่นั้น ต้องอยู่ในบังคับของมาตรา 17 วรรคสาม แม้โจทก์กระทำความผิดฐานประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงซึ่งเข้าข้อยกเว้นให้จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามมาตรา 119 (3) แต่เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ได้ระบุเหตุผลในการเลิกจ้างไว้ จำเลยจึงไม่อาจยกเหตุดังกล่าวขึ้นอ้างเพื่อให้พ้นความรับผิดได้ จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของเงินค่าจ้างค้างจ่าย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินบำเหน็จและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายจำนวน 11,250 บาท และค่าชดเชย 337,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 1 พฤษภาคม 2546) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างหรือไม่จะต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 118, 119 แต่นายจ้างจะอ้างเหตุไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามมาตรา 119 ขึ้นต่อสู้ได้หรือไม่ต้องอยู่ในบังคับของมาตรา 17 วรรคสาม เมื่อคดีฟังได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายเลิกจ้างโดยไม่ได้ระบุเหตุผลในการเลิกจ้างไว้ แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าโจทก์กระทำความผิดฐานประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงซึ่งเป็นข้อยกเว้นให้จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามมาตรา 119 (3) จำเลยก็ไม่อาจยกเหตุดังกล่าวขึ้นอ้างเพื่อให้พ้นความรับผิดไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ได้ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์จึงถูกต้องแล้ว ไม่ขัดแย้งกับคำวินิจฉัยว่าจำเลยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแต่อย่างใด อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน.

Share