คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9350/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อความในหนังสือยืนยันการซื้อขายที่ว่าเมื่อได้มีการทำสัญญาหลักแล้วโจทก์จะแจ้งให้ผู้รับเหมาหลักลงนามในสัญญารับเหมาช่วงกับจำเลยนั้นเป็นข้อความแห่งสัญญาอันโจทก์ผู้เป็นคู่สัญญาแม้เพียงฝ่ายเดียวได้แสดงไว้ว่าเป็นสาระหลักได้ลงนามในสัญญารับเหมาช่วงกับจำเลยสัญญาซื้อขายลิฟต์และอุปกรณ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงยังมิได้มีการตกลงกันได้หมดทุกข้อต้องถือว่าโจทก์กับจำเลยยังมิได้มีสัญญาซื้อขายดังกล่าวต่อกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา366วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นบริษัทในเครือบริษัทโอทิสเอเลเวเทอร์จำกัด ซึ่งจดทะเบียนและประกอบธุรกิจในประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2533 โจทก์ในฐานะผู้ซื้อและจำเลยในฐานะผู้ซื้อและจำเลยในฐานะผู้ขายได้ลงนามในหนังสือยืนยันการซื้อขาย (LETTER OF INTENT) ลิฟต์ความเร็วสูง จำนวน 14ตัว เพื่อติดตั้งและใช้งานในโครงการก่อสร้างอาคารไทยวาพลาซ่าของโจทก์ โดยตกลงราคาซื้อขายพร้อมอุปกรณ์และการติดตั้งเป็นเงิน96,500,000 บาท และค่าแรงในการติดตั้งพร้อมทั้งการทดสอบประสิทธิภาพของการใช้ลิฟต์เป็นเงิน 5,500,000 บาท รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 102,000,000 บาท จำเลยได้รับชำระราคาจากโจทก์แล้วจำนวนร้อยละ 2 คิดเป็นเงิน 1,930,000 บาท โดยจำเลยได้จัดให้ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ จำกัด ออกหนังสือค้ำประกันนำมามอบให้แก่โจทก์ ส่วนค่าลิฟต์ที่เหลือจะจ่ายจำนวนร้อยละ 8เมื่อจำเลยได้ลงนามในสัญญารับเหมาช่วงกับผู้รับเหมาหลักนอกนั้นจะจ่ายให้ตามผลงานที่ทำได้เป็นระยะ สำหรับค่าแรงติดตั้งจะจ่ายเมื่อปฎิบัติงานเสร็จสิ้น ก่อนที่โจทก์จะจ่ายเงินค่าลิฟต์ครั้งสุดท้าย จำเลยจึงต้องมอบหนังสือค้ำประกันของธนาคารจำนวนร้อยละ 10 ของราคาซื้อขายและค่าติดตั้งเพื่อเป็นการสำคัญอันจะต้องตกลงกันหมดทุกข้อ เมื่อไม่ปรากฎว่าผู้รับเหมาค้ำประกันก่อนที่โจทก์กับจำเลยจะลงนามในหนังสือยืนยันการซื้อขาย จำเลยได้พรรณนารายละเอียดเกี่ยวกับคุณสมบัติ ข้อกำหนดเฉพาะทางเทคนิคและได้จัดส่งข้อมูลเป็นลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับเรื่องลิฟต์พร้อมทั้งราคาและการชำระราคาให้โจทก์ทราบจนเป็นที่เข้าใจในเรื่องรายละเอียดในการซื้อขายรายนี้ รวมทั้งในเรื่องที่จะต้องลงนามในสัญญาเป็นผู้รับเหมาช่วงกับผู้รับเหมาหลักภายหลังจากที่โจทก์สามารถว่าจ้างได้ ถือได้ว่าหนังสือยืนยันการซื้อขายนี้เป็นสัญญาซื้อขายที่ถูกต้องตรงตามเจตนาของคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายและชอบด้วยกฎหมายแล้ว ต่อมเมื่อประมาณเดือนพฤศจิกายน 2533 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2534 ก่อนที่โจทก์จะจัดหาผู้รับเหมาหลักได้ จำเลยได้ขอเพิ่มราคาค่าลิฟต์พร้อมค่าอุปกรณ์และค่าติดตั้ง อันเป็นการขัดกับข้อตกลงข้างต้น โจทก์ไม่ยินยอมในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2534 จำเลยได้มีหนังสือขอยกเลิกหนังสือยืนยันการซื้อขายพร้อมทั้งส่งเงินจำนวน 1,930,000 บาท คืนให้แก่โจทก์ และให้โจทก์ส่งหนังสือค้ำประกันของธนาคารคืนแก่จำเลย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายโดยโจทก์ต้องจัดซื้อลิฟต์ที่มีคุณสมบัติ ข้อกำหนด และประสิทธิภาพในการใช้งานเท่าเทียมกันและจำนวนเดียวกันกับลิฟต์ที่โจทก์ตกลงซื้อจากจำเลยในราคา 145,127,100 บาท อันเป็นราคาที่สูงขึ้นเป็นเงิน48,627,100 บาท โจทก์ต้องเสียค่าแรงติดตั้งเป็นเงิน 11,828,000บาท อันเป็นราคาที่สูงขึ้นเป็นเงิน 6,328,000 บาท รวมค่าลิฟต์และค่าแรงสูงขึ้นเป็นเงิน 54,955,100 บาท กับต้องเสียค่าใช้จ่ายในการติดต่อเจรจา ค่าปรับปรุงแบบแปลนการก่อสร้างและค่าตกแต่งภายในเพื่อทำการติดตั้งลิฟต์ที่ได้จัดซื้อมาใหม่เป็นเงิน2,500,000 บาท รวมค่าเสียหายทั้งสิ้นเป็นเงิน 57,455,100บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 57,455,100 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยทำหนังสือยืนยันการซื้อขายกับโจทก์ หนังสือดังกล่าวโจทก์ทำกับบริษัทโอทิสเอเลเวเทอร์จำกัด ซึ่งเป็น คนละบริษัทกับบริษัทจำเลย ทั้งหนังสือนั้นก็มิได้ประทับตราของบริษัท ถือว่าผู้ลงนามไม่มีอำนาจทำการแทนบริษัทจำเลยจึงไม่มีความผูกพันตามหนังสือดังกล่าว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง หนังสือยืนยันการซื้อขายตามฟ้องเป็นเพียงคำเสนอจะทำสัญญาซื้อขายที่มีเงื่อนไขบังคับก่อนกับโจทก์ ยังไม่เป็นสัญญาซื้อขายเพราะยังอยู่ในเงื่อนไขบังคับก่อนที่ว่าโจทก์จะต้องจัดหาผู้รับเหมาหลักมาทำสัญญากับบริษัทจำเลยภายในเวลาอันสมควรก่อน เมื่อมีการทำสัญญาดังกล่าวอันถือว่าเงื่อนไขบังคับก่อนสำเร็จแล้ว สัญญาซื้อขายลิฟต์ระหว่างโจทก์กับบริษัทจำเลยจึงจะเกิดมีผลผูกพันกันตามกฎหมาย แต่ปรากฎว่าหลังจากทำหนังสือยืนยันการซื้อขายกันนานถึง 8 เดือน โจทก์ยังไม่สามารถจัดหาผู้รับเหมาหลักมาทำสัญญากับบริษัทจำเลยได้ บริษัทจำเลยได้มีหนังสือเร่งรัดให้โจทก์ดำเนินการดังกล่าวภายในวันที่ 15ธันวาคม 2533 มิฉะนั้นจะต้องปรับราคาลิฟต์ใหม่ตามภาวะของราคาในท้องตลาดซึ่งสูงขึ้น แต่โจทก์ก็เพิกเฉย บริษัทจำเลยจึงมีหนังสือบอกเลิกหนังสือยืนยันการซื้อขายพร้อมส่งเงิน 1,930,000บาท คืนแก่โจทก์ ต่อมในปี 2534 เมื่อได้รับหนังสือแจ้งให้ไปทำสัญญากับผู้รับเหมาแล้ว บริษัทจำเลยจึงได้ตอบปฎิเสธไป โจทก์กับบริษัทจำเลยยังไม่ได้ทำสัญญาซื้อขายกัน ค่าเสียหายตามฟ้องเป็นค่าเสียหายที่โจทก์กำหนดขึ้นเองและสูงเกินไป จำเลยไม่ต้องรับผิดขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษายก ฟ้อง
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าจำเลยเป็นบริษัทในเครือบริษัทโอทิสเอเลเวเทอร์ จำกัด ซึ่งจดทะเบียนและประกอบธุรกิจในประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่20 มีนาคม 2533 นายไพฑูรย์ สมบัติพิบูลย์ กรรมการผู้จัดการของจำเลยในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากบริษัทโอทิสเอเลเวเทอร์(ประเทศสหรัฐอเมริกา) จำกัด ได้ลงนามในหนังสือยืนยันการซื้อขายตามเอกสารหมาย จ.5 (พร้อมคำแปลภาษาไทย) เพื่อตกลงขายลิฟต์ความเร็วสูงจำนวน 14 ตัว ในราคาพร้อมอุปกรณ์และค่าติดตั้งเป็นเงิน 102,000,000 บาท ให้แก่โจทก์ เพื่อประโยชน์ในการใช้งานโครงการก่อสร้างอาคารไทยวาพลาซ่าของโจทก์ ต่อมาจำเลยไม่ส่งมอบลิฟต์ดังกล่าวให้โจทก์ ทำให้โจทก์เสียหายโดยต้องซื้อลิฟต์จากบุคคลอื่นซึ่งมีราคาแพงกว่าที่ตกลงซื้อจากจำเลยมาติดตั้งในอาคารของโจทก์มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในประการแรกว่า หนังสือยืนยันการซื้อขายตามเอกสาร จ.5 เป็นสัญญาที่สมบูรณ์ใช้บังคับได้ตามกฎหมายแล้ว เพราะเมื่อพิจารณาข้อเสนอของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.9 (คำแปลภาษาไทยเอกสารหมายล.10) แล้ว จำเลยได้ระบุรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับลิฟต์ที่เสนอขายไว้ครบถ้วน และหลังจากทำหนังสือยืนยันการซื้อขายจำเลยได้มอบหนังสือค้ำประกันของธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ จำกัดตามเอกสารพร้อมคำแปลหมาย จ.7 เพื่อค้ำประกันการปฎิบัติตามสัญญาของจำเลยให้แก่โจทก์ และต่อมาจำเลยได้เรียกเก็บค่าลิฟต์บางส่วนร้อยละ 2 จากโจทก์เป็นเงิน 1,930,000 บาท ตามใบเรียกเก็บเงินเอกสารหมาย จ.8 และโจทก์ได้ชำระเงินให้แก่จำเลยแล้วตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.9 จึงเป็นการที่โจทก์ได้ตกลงรายละเอียดกับจำเลยโดยครบถ้วนแล้ว ทั้งสัญญาตามเอกสารหมาย จ.5 ข้อ 1 มีลักษณะเป็นข้อบังคับที่ให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะกำหนดให้ฝ่ายจำเลยต้องทำสัญญารับเหมาช่วงกับผู้รับเหมาหลักเป็นข้อกำหนดต่างหากเมื่อสัญญาซื้อขายและติดตั้งลิฟต์มีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมายแล้วจึงไม่จำเป็นที่จำเลยจะต้องทำสัญญาซื้อขายลิฟต์ซ้ำซ้อนกับเอกสาร จ.5 อีก และหนังสือของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.6 ที่จำเลยแจ้งต่อโจทก์ว่าจำเลยกำลังร่างเอกสารสัญญาเพื่อให้โจทก์พิจารณาก็มิได้หมายถึงสัญญายืนยันการซื้อขายเอกสารหมาย จ.5 แต่อย่างใดเป็นเพียงสัญญาประสานการปฎิบัติงานในระหว่างติดตั้งลิฟต์กับผู้รับเหมานั้น จากพยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยนำสืบมา เมื่อพิจารณาหนังสือยืนยันการซื้อขายตามเอกสาร จ.5 ข้อ 1 ที่ระบุว่า”บริษัทท่านจะถูกกำหนดให้เป็นผู้รับเหมาช่วงของผู้รับเหมาหลัก(ผู้ซึ่งยังจะต้องมีการตกลงทำสัญญากับบริษัทของข้าพเจ้าต่อไป)เมื่อได้มีการทำสัญญาหลักแล้ว เราจะแจ้งให้ผู้รับเหมาหลักลงนามสัญญารับเหมาช่วงกับบริษัทท่าน” แล้ว เห็นว่า ข้อสัญญาดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าบริษัทจำเลยถูกกำหนดให้เป็นผู้รับเหมาช่วงของผู้รับเหมาหลักซึ่งโจทก์เป็นผู้จัดหาเมื่อโจทก์ทำสัญญากับผู้รับเหมาหลักแล้ว จึงจะมีการทำสัญญารับเหมาช่วงกับบริษัทโอทิสเอเลเวเทอร์ จำกัด ที่จดทะเบียนในประเทศสหรัฐอเมริกาต่อไป ซึ่งจำเลยก็ได้มีหนังสือยืนยันไปยังโจทก์ตามเอกสารหมายจ.6 อีก ความว่าฝ่ายจำเลยกำลังร่างเอกสารตามนัยของข้อกำหนดเฉพาะและข้อตกลงตลอดจนเงื่อนไขต่าง ๆ ที่ได้ตกลงกันไว้แล้วเพื่อให้โจทก์พิจารณาในเวลาข้างหน้าอันใกล้นี้ ดังนี้ ตามหนังสือยืนยันการซื้อขายเอกสารหมาย จ.5 ข้อ 1 ดังกล่าว โจทก์และจำเลยต่างก็มีเจตนาว่ายังจะต้องมีสัญญาระหว่างฝ่ายจำเลยกับผู้รับเหมาหลักของโจทก์อีกชั้นหนึ่งก่อนเป็นสาระสำคัญ ส่วนที่จำเลยได้มอบหนังสือสัญญาค้ำประกันของธนาคารฮ่องกงและเซึ่ยงไฮ้ จำกัด เพื่อค้ำประกันการปฎิบัติตามสัญญาแก่โจทก์ และจำเลยได้เรียกเก็บเงินค่าลิฟต์บางส่วนร้อยละ 2 จากโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.8 และ จ.9เป็นเงื่อนไขการชำระเงินอันเป็นส่วนหนึ่งของหนังสือยืนยันการซื้อขายเอกสารหมาย จ.5 โดยที่เอกสารดังกล่าวนี้ยังมีเงื่อนไขตามสัญญาข้อ 1 ที่โจทก์ต้องปฎิบัติและที่โจทก์อ้างว่าเอกสารจ.5 ข้อ 1 มีลักษณะเป็นข้อบังคับให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะกำหนดให้จำเลยต้องทำสัญญารับเหมาช่วงกับผู้รับเหมาหลักต่างหากเป็นข้อกำหนดที่ไม่เกี่ยวกับการซื้อขายลิฟต์ จึงไม่จำต้องทำสัญญาซื้อขายลิตฟ์ซ้ำซ้อนกับเอกสารหมาย จ.5 อีก นั้น ข้อนี้ปรากฎว่านายชนันท์ ณ เกาะลอย ทนายความผู้รับมอบอำนาจโจทก์ได้มีหนังสือลงวันที่ 3 ตุลาคม 2534 ตามเอกสารหมาย จ.14 มาถึงจำเลยมีข้อความว่า “บริษัทไทยวาพลาซ่า” จำกัด ได้จัดหาผู้รับเหมาก่อสร้างหลักได้แล้วและได้แจ้งให้บริษัทท่านเข้าทำสัญญาตามเงื่อนไข จึงเรียนมายังบริษัทท่านเพื่อจัดการเกี่ยวกับสัญญาและเข้าทำสัญญาซื้อขายลิฟต์พร้อมอุปกรณ์และติดตั้งบริการตามเงื่อนไขข้อตกลงแห่งสัญญายืนยันการซื้อขาย” จึงเป็นข้อชี้ให้เห็นแน่ชัดว่า โจทก์ทราบเป็นอย่างดีว่าสัญญาซื้อขายลิฟต์และอุปกรณ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยยังไม่มีต่อกันจนกว่าจะได้มีการทำสัญญาหลักและผู้รับเหมาหลักได้ลงนามในสัญญารับเหมาช่วงกับจำเลยตามหนังสือยืนยันขายเอกสารหมาย จ.5 ข้อ 1 ให้เสร็จเรียบร้อยก่อน และเกี่ยวกับการที่โจทก์จัดหาผู้รับเหมาหลักได้เมื่อวันที่ 3ตุลาคม 2534 นี้ก็เป็นระยะห่างจากวันที่ 20 มีนาคม 2533อันเป็นวันทำหนังสือยืนยันการซื้อขายถึง 1 ปี 6 เดือนเศษทั้งที่จำเลยกำหนดเวลาให้โจทก์จัดหาผู้รับเหมาหลักมาทำสัญญาภายในวันที่ 15 ธันวาคม 2533 มิฉะนั้นจะปรับราคาลิฟต์พร้อมอุปกรณ์และค่าติดตั้ง เนื่องจากช่วงเวลาที่ยืดออกไปนั้น ต้นทุนลิฟต์พร้อมอุปกรณ์และค่าแรงสูงขึ้น และรุ่นหรือแบบลิฟต์ต้องเปลี่ยนเป็นรุ่นใหม่ตามวิถีทางการค้าตามหนังสือ บริษัทโอทิสเอเลเวเทอร์ จำกัด พร้อมคำแปลเอกสารหมาย ล.5 แต่โจทก์บอกปัดข้อเสนอของจำเลยดังกล่าวทำนองว่าจำเลยควรจะสั่งซื้อลิฟต์มาเก็บรักษาไว้ก่อนตามบันทึกข้อตกลงในที่ประชุมเอกสารหมายล.11 จำเลยจึงแจ้งยกเลิกเอกสารหมาย จ.5 พร้อมส่งเงินจำนวน1,930,000 บาท คืนโจทก์ ตามสำเนาหนังสือของจำเลยเอกสารหมายจ.11 ดังนี้ ข้อความในหนังสือยืนยันการซื้อขายเอกสารหมาย จ.5ที่ว่า เมื่อได้มีการทำสัญญาหลักแล้วโจทก์จะแจ้งให้ผู้รับเหมาหลักลงนามในสัญญารับเหมาช่วงกับจำเลยนั้น เป็นข้อความแห่งสัญญาอันโจทก์ผู้เป็นคู่สัญญาแม้เพียงฝ่ายเดียวได้แสดงไว้ว่าเป็นสาระสำคัญอันจะต้องตกลงกันหมดทุกข้อ เมื่อไม่ปรากฎว่าผู้รับเหมาหลักได้ลงนามในสัญญารับเหมาช่วงกับจำเลย สัญญาซื้อขายลิตฟ์และอุปกรณ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงยังมิได้มีการตกลงกันได้หมดทุกข้อต้องถือว่าโจทก์กับจำเลยยังมิได้มีสัญญาซื้อขายดังกล่าวต่อกัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 366 วรรคหนึ่งไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับค่าเสียหายตามฎีกาของโจทก์ต่อไป
พิพากษายืน

Share