คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 935/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การสอบสวนดำเนินคดีนิติบุคคลจำต้องสอบสวนผ่านทางกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน เมื่อพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแก่จำเลยที่ 2 ในฐานะกรรมการผู้จัดการจำเลยที่ 1 แม้ไม่ได้ระบุแจ้งชัดว่าได้แจ้งข้อหาและสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ด้วยก็ถือว่าพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาแก่จำเลยที่ 1 ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 แล้ว เมื่อจำเลยทำการดัดแปลงอาคารหลังจากใบอนุญาตสิ้นอายุจึงเป็นการดัดแปลงอาคารโดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานเป็นความผิดตาม พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 22มิใช่เป็นความผิดตามมาตรา 31 ที่เป็นเรื่องการดัดแปลงภายในระยะเวลาตามใบอนุญาต แต่กระทำผิดไปจากแบบรายการที่ได้รับอนุญาต แม้แบบคำสั่งท้ายกฎกระทรวงจะกำหนดให้มีคำว่า “ตราส่วนราชการ”ไว้ และคำสั่งที่เจ้าพนักงานใช้แจ้งคำสั่งให้จำเลยทั้งสองไม่ปรากฏตราส่วนราชการแต่คำสั่งดังกล่าวมีข้อความครบถ้วนทุกรายการให้จำเลยทั้งสองทราบและเข้าใจคำสั่งแล้ว จึงไม่ทำให้คำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นไม่ชอบแต่อย่างใด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 มาตรา 22, 40, 65, 67, 69, 70, 71, 72ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติ ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 22, 40 วรรคหนึ่ง,65 วรรคหนึ่ง, 67, 69, 70, 71, 72 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันเรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานดัดแปลงอาคารเพื่อพาณิชยกรรมโดยผู้ดำเนินการ ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 จำนวน100,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี ฐานผู้ดำเนินการฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 จำนวน1,130,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี รวมลงโทษปรับจำเลยที่ 1 จำนวน 1,230,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปีจำเลยที่ 2 ไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อน และได้พยายามดำเนินการขออนุญาตให้เป็นไปโดยชอบแล้ว โทษจำคุกให้รอการลงโทษมีกำหนด2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 จำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ตามที่โจทก์และจำเลยทั้งสองนำสืบตรงกันมาว่า จำเลยที่ 1เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการมีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ทำการก่อสร้างดัดแปลงต่อเติมอาคารตามฟ้องเมื่อเดือนมิถุนายน 2530 จนแล้วเสร็จและเปิดใช้แล้ว ที่จำเลยทั้งสองฎีกาในข้อแรกว่า พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาและสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 2 ในฐานะกรรมการผู้จัดการจำเลยที่ 1 โดยไม่ระบุให้แจ้งชัดว่าได้แจ้งข้อหาและสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ด้วย พนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนจำเลยที่ 1โดยมิชอบ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 นั้น ปรากฏว่าหนังสือร้องทุกข์ของนายกเทศมนตรีเมืองนครสวรรค์ เอกสารหมาย จ.2มีข้อความว่า เนื่องจากจำเลยที่ 2 ในฐานะกรรมการผู้จัดการบริษัทวิถีเทพสรรพสินค้า จำกัด ซึ่งเป็นจำเลยที่ 1 ได้กระทำความผิดพระราชบัญญัติ ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และได้ความด้วยว่าในชั้นสอบสวนตามบันทึกคำให้การสอบสวนเพิ่มเติมของจำเลยที่ 2ลงวันที่ 16 สิงหาคม 2531 ตอนท้ายเอกสารหมาย จ.26 พนักงานสอบสวนได้แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบในฐานะเป็นหุ้นส่วนกรรมการผู้จัดการจำเลยที่ 1 และเป็นเจ้าของโรงแรมวิถีเทพได้กระทำความผิดแสดงว่าพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกระทำผิดชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 แล้วเพราะการสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลนั้น จะต้องสอบสวนดำเนินคดีผ่านทางกรรมการผู้จัดการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ถือได้ว่าพนักงานสอบสวนได้สอบสวนจำเลยที่ 1 โดยชอบแล้วโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ได้รับอนุญาตให้ดัดแปลงต่อเติมอาคารที่พิพาทตามเอกสารหมาย ล.3 ถึง ล.6 แล้ว เพียงแต่จำเลยที่ 2 ดัดแปลง ต่อเติมอาคารภายหลังเวลาที่กำหนดในใบอนุญาตสิ้นสุดแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวจึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติ ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 31 มิใช่ผิดตามมาตรา 22 ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 เป็นกฎหมายพิเศษมีวัตถุประสงค์คุ้มครองประโยชน์และความปลอดภัยแก่ประชาชนเป็นสำคัญ ซึ่งจะเห็นได้ว่าตลอดระยะเวลาที่ผู้ได้รับอนุญาตให้ดัดแปลงอาคารดำเนินการดัดแปลงอาคารนั้นนายช่างหรือนายตรวจมีอำนาจตรวจสอบว่าได้มีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติหรือไม่ และเพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายดังกล่าว ใบอนุญาตทุกใบจึงกำหนดระยะเวลาให้ดำเนินการดังที่ปรากฏในใบอนุญาตให้จำเลยที่ 2 ดัดแปลงอาคารเอกสารหมาย ล.3ถึง ล.6 ต่างระบุวันสิ้นอายุของใบอนุญาตไว้ ซึ่งมีความหมายว่าเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาตามใบอนุญาต การอนุญาตเป็นอันสิ้นสุดลงเท่ากับว่าหลังจากใบอนุญาตหมดอายุ จำเลยก็ไม่มีใบอนุญาตที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นอนุญาตให้ดัดแปลงอาคารได้ตามกฎหมายอีกต่อไปหากผู้ได้รับอนุญาตให้ดัดแปลงอาคารไม่สามารถดำเนินการให้เสร็จตามที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต ก็สามารถขอต่ออายุใบอนุญาตต่อไปอีกได้ดังนั้นการที่จำเลยที่ 2 ทำการดัดแปลงอาคารพิพาทใหม่หลังจากใบอนุญาตสิ้นอายุแล้ว จึงเป็นการดัดแปลงอาคารพิพาทโดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 22 มิใช่เป็นความผิดตามมาตรา 31ดังที่จำเลยเข้าใจเพราะมาตรา 31 เป็นกรณีห้ามดัดแปลงอาคารให้ผิดไปจากแผนผังบริเวณแบบแปลน และรายการประกอบแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตตลอดจนวิธีการหรือเงื่อนไขที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนดซึ่งมีความหมายว่า ผู้ได้รับอนุญาตดำเนินการดัดแปลงอาคารภายในระยะเวลาตามใบอนุญาตไว้ แต่ดำเนินการผิดไปจากวิธีการหรือเงื่อนไขที่กำหนดให้ผู้ได้รับอนุญาตปฏิบัติหรืองดเว้นการปฏิบัติฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ได้รับอนุญาตให้ดัดแปลงอาคารพิพาทในฐานะส่วนตัว จึงไม่ชอบที่จะให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ครอบครองอาคารพิพาทรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 2 อีกนั้น ได้ความจากบันทึกคำให้การเพิ่มเติมชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 ลงวันที่ 26เมษายน 2531 ตามเอกสารหมาย จ.26 ซึ่งจำเลยที่ 2 ให้การว่าวันที่ 27 มีนาคม 2537 จำเลยที่ 2 ได้รับอนุญาตให้ดัดแปลงอาคารห้างสรรพสินค้าและโรงแรมวิถีเทพส่วนตรงกลางซึ่งเดิมมีเพียงชั้นเดียวใช้เป็นที่ตั้งห้างสรรพสินค้าวิถีเทพ โดยจำเลยที่ 2จะปลูกสร้างเพิ่มเติมเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 3 ชั้น ชั้นที่ 2และชั้นที่ 3 จะใช้เป็นห้องพักของโรงแรม จำเลยที่ 2 และหุ้นส่วนของบริษัทจำเลยที่ 1 ประชุมปรึกษากันแล้วจึงได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารดังกล่าวไปได้ประมาณร้อยละ 20 การค้าของจำเลยที่ 1 ประสบภาวะเศรษฐกิจไม่ดีจึงหยุดทำการก่อสร้าง และตกลงว่าหากจำเลยที่ 1มีเงินเพียงพอจึงค่อยสร้างให้เสร็จ ต่อมาประมาณเดือนมิถุนายน2530 จำเลยที่ 2 และหุ้นส่วนของจำเลยที่ 1 เห็นว่าฐานะการเงินของจำเลยที่ 1 ดีขึ้นจึงได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารส่วนที่ค้างอยู่จากคำให้การดังกล่าวเห็นได้ว่าเงินที่ใช้ลงทุนดัดแปลงอาคารพิพาทเป็นเงินของจำเลยที่ 1 และได้มีการตกลงกับหุ้นส่วนให้ดำเนินการดัดแปลงอาคาร และได้ความจากหนังสือรับรองของจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย ป.จ.1 ระบุว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ร่วมก่อตั้งจำเลยที่ 1และเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ตลอดมาแต่ผู้เดียวจำเลยที่ 1 มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการจำหน่ายสรรพสินค้าและกิจการโรงแรมด้วยทั้งกิจการพาณิชย์ที่ดำเนินการอยู่ในอาคารหลังเดิมก่อนการขออนุญาตดัดแปลงก็ล้วนเป็นกิจการของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2ในฐานะกรรมการผู้จัดการเป็นผู้ดำเนินการแทนทั้งสิ้น แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ลงทุนดัดแปลงอาคารพิพาท จำเลยที่ 2 มิได้ลงทุนดัดแปลงอาคารพิพาทด้วยเงินส่วนตัว หากแต่จำเลยที่ 2 กระทำการร่วมและแทนจำเลยที่ 1 ถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวการผู้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 2 ตามฟ้อง ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า สำนักงานแห่งใหญ่ของจำเลยที่ 1 ตั้งอยู่ที่เลขที่ 159 ถนนสวรรค์วิถี ตำบลปากน้ำโพอำเภอเมืองนครสวรรค์จังหวัดนครสวรรค์ เพียงแห่งเดียว จำเลยที่ 2 มีภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ 10/2-3 ถนนศวิตชาต ตำบลปากน้ำโพ อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ เจ้าพนักงานท้องถิ่นแจ้งคำสั่งให้ระงับการดัดแปลงอาคารตามเอกสารหมาย จ.4 โดยส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนไปให้จำเลยทั้งสองที่เลขที่ 159/1 ถนนสวรรค์วิถี ตำบลปากน้ำโพอำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ จึงไม่ชอบตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 47 นั้น ได้ความจากคำเบิกความของพันตำรวจตรีจารึก โชติโก พนักงานสอบสวนว่า ชั้นสอบสวนนายกเทศมนตรีเมืองนครสวรรค์ได้ส่งเอกสารหมาย จ.1, จ.3 ถึง จ.25 มาให้เพื่อประกอบหลักฐานในการดำเนินคดี ปรากฏว่าเอกสารหมาย จ.24 ซึ่งเป็นสำเนาหนังสือที่จำเลยที่ 2 มีถึงนายกเทศมนตรีเมืองนครสวรรค์เรื่องขอใช้อาคารพิพาทก่อนได้รับอนุญาต ฉบับลงวันที่ 2 พฤศจิกายน2531 นั้น หนังสือดังกล่าวใช้กระดาษแบบพิมพ์ซึ่งมีข้อความที่หัวกระดาษระบุสำนักงานของจำเลยที่ 1 ว่า บริษัทวิถีเทพสรรพสินค้าจำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 159/1 ถนนสวรรค์วิถี อำเภอเมืองนครสวรรค์จังหวัดนครสวรรค์ และจำเลยทั้งสองก็มิได้นำสืบคัดค้านแต่อย่างใดและในชั้นพิจารณาจำเลยที่ 2 ก็เบิกความตอบอัยการโจทก์ถามค้านว่าบริษัทจำเลยที่ 1 ตั้งอยู่ที่เลขที่ 159/1 ถนนสวรรค์วิถีตำบลปากน้ำโพ อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ แสดงว่าสำนักงานหรือที่ตั้งทำการของจำเลยที่ 1 ที่แท้จริงแล้วตั้งอยู่ที่เลขที่ 159/1 ด้วย มิได้จำกัดอยู่เฉพาะที่เลขที่ 159 ตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย ป.จ.1 เท่านั้น สำหรับจำเลยที่ 2 นั้นได้ความจากคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 ซึ่งพันตำรวจตรีจารึก บันทึกไว้ตามเอกสารหมาย จ.26 ว่า จำเลยที่ 2 มีอาชีพทำการค้า โดยเปิดกิจการค้าประเภทโรงแรมชื่อว่าโรงแรมวิถีเทพ และห้างสรรพสินค้าชื่อว่า ห้างสรรพสินค้าวิถีเทพ จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการได้ใช้สถานที่โรงแรมและห้างสรรพสินค้าตั้งอยู่เลขที่ 159/1 ถนนสวรรค์วิถี ตำบลปากน้ำโพ อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์เป็นที่พักอาศัยหลับนอนประจำอยู่ด้วยจากคำให้การดังกล่าวแสดงว่าจำเลยที่ 2 ใช้สถานที่เลขที่ 159/1 เป็นที่อยู่อาศัยที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง ฉะนั้นจึงถือได้ว่าสถานที่เลขที่ดังกล่าวเป็นภูมิลำเนาของจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 45 ด้วยดังนั้น การที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นส่งคำสั่งให้ระงับการดัดแปลงอาคารพิพาทตามเอกสารหมาย จ.4 ให้แก่จำเลยทั้งสอง ณ เลขที่ 159/1โดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับและปรากฏว่าผู้ลงลายมือชื่อรับไว้ซึ่งเป็นพนักงานของจำเลยทั้งสอง จึงเป็นการแจ้งคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ชอบตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 มาตรา 47 แล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า คำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นสั่งให้จำเลยทั้งสองระงับการดัดแปลงอาคารพิพาทตามเอกสารหมาย จ.4เจ้าพนักงานท้องถิ่นใช้แบบคำสั่งแบบ ค.3 แต่ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 8(พ.ศ. 2528) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522กำหนดให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นใช้แบบคำสั่งแบบ ค.5 จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบนั้น ได้ความจากกฎกระทรวงดังกล่าวข้อ 2 ให้กำหนดแบบของคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามแบบท้ายกฎกระทรวงนี้ดังต่อไปนี้ ฯลฯ(3) คำสั่งให้ระงับการก่อสร้าง ดัดแปลงหรือเคลื่อนย้ายอาคาร ฯลฯ(กรณีที่กระทำโดยไม่ได้รับอนุญาต) ให้ใช้แบบคำสั่งแบบ ค.3 คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองดัดแปลงอาคารพิพาทโดยไม่ได้รับอนุญาต ดังนั้น ที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีคำสั่งให้จำเลยทั้งสองระงับการดัดแปลงอาคารดังกล่าวโดยใช้แบบคำสั่งแบบ ค.3 ชอบแล้วส่วนแบบคำสั่งแบบ ค.5 นั้นตามกฎกระทรวงฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2528)ข้อ 2 (5) กำหนดให้ใช้กับคำสั่งให้ระงับการก่อสร้าง ดัดแปลงหรือเคลื่อนย้ายอาคาร ฯลฯ (กรณีที่กระทำผิดไปจากที่ได้รับใบอนุญาต)และที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า แบบของคำสั่งแบบ ค.3 ท้ายกฎกระทรวงดังกล่าวมีคำว่า “ตราส่วนราชการ” อยู่ส่วนบนสุดของคำสั่ง แต่คำสั่งเอกสารหมาย จ.4 ไม่ปรากฏว่ามีตราส่วนราชการที่ส่วนบนสุดของคำสั่งด้วยนั้น ปรากฏว่าคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามเอกสารหมาย จ.4 มีข้อความครบถ้วนทุกรายการตามคำสั่งแบบ ค.3 รวมทั้งส่วนราชการที่ออกคำสั่ง กล่าวคือ สำนักงานเทศบาลเมืองนครสวรรค์จำเลยทั้งสองทราบและเข้าใจคำสั่งดังกล่าวแล้ว ดังจะเห็นได้จากจำเลยที่ 2 มีหนังสือฉบับลงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2531 ถึงนายกเทศมนตรีเมืองนครสวรรค์ขอใช้อาคารพิพาทก่อนอนุญาตตามเอกสารหมาย จ.24 ดังนั้นเพียงแต่คำสั่งเอกสารหมาย จ.4 ไม่มีตราส่วนราชการอยู่ส่วนบนสุดของคำสั่งจึงไม่ถึงกับทำให้คำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นไม่ชอบแต่อย่างใด ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์ไม่มีพยานมาสืบพิสูจน์ได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำการฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นติดต่อกันตลอดเวลา113 วัน ศาลจึงไม่อาจนับโทษปรับวันละ 10,000 บาท ติดต่อกันทั้ง113 วันได้นั้น พยานโจทก์มีนายสมยศ ส่งตระกูล เทศมนตรีเมืองนครสวรรค์ผู้ได้รับมอบหมายให้ควบคุมและรับผิดชอบในกองช่างนายพิชิต เจริญกาศ เจ้าหน้าที่เขตตรวจการก่อสร้างเทศบาลเมืองนครสวรรค์ผู้มีหน้าที่ตรวจงานก่อสร้างบริเวณเขตถนนสวรรค์วิถีและนายสุเทพ ชูประสิทธิ์ ผู้อำนวยการกองช่างเทศบาลเมืองนครสวรรค์เบิกความประกอบกันได้ความว่า เมื่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นแจ้งคำสั่งให้ระงับการดัดแปลงอาคารพิพาทให้จำเลยทั้งสองทราบในเดือนมิถุนายน2530 ตามเอกสารหมาย จ.4 แล้ว เจ้าหน้าที่เขตไปตรวจสอบหลายครั้งตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคม 2530 จนถึงเดือนตุลาคม 2530 ตามรายงานการตรวจและภาพถ่ายหมาย จ.7, จ.8, จ.10 และ จ.11 ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองยังคงดำเนินการดัดแปลงอาคารพิพาทตลอดมา แม้จำเลยที่ 2จะเคยมีหนังสือฉบับลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2530 แจ้งนายกเทศมนตรีเมืองนครสวรรค์ว่าได้หยุดการก่อสร้างแล้วตามเอกสารหมาย จ.12 ก็ตามแต่เมื่อเจ้าหน้าที่เขตไปตรวจสอบอีกปรากฏว่าจำเลยทั้งสองยังคงดำเนินการดัดแปลงอาคารพิพาทอยู่ตามรายงานการตรวจสอบเอกสารหมาย จ.13และจากภาพถ่ายหมาย จ.14 จำนวน 9 ภาพ ซึ่งนายพิชิต ได้ถ่ายภาพอาคารพิพาทไว้เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2530 เห็นได้ชัดว่าอาคารดังกล่าวอยู่ในระหว่างดัดแปลงโดยมีคนงานกำลังทำงานอยู่ ต่อมาในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2530 เจ้าหน้าที่จากกองช่างหลายคนได้ไปตรวจดูสถานที่ก่อสร้างโรงแรมและห้างสรรพสินค้าวิถีเทพ โดยมีจำเลยที่ 2เป็นผู้นำตรวจตามภาพถ่ายหมาย จ.17 จำนวน 4 ภาพ ปรากฏว่ามีอาคารบางส่วนก่อสร้างเสร็จแล้วและบางส่วนอยู่ในระหว่างก่อสร้างแสดงว่าจำเลยทั้งสองทำการดัดแปลงอาคารติดต่อกันทุกวัน จึงมีผลงานการก่อสร้างก้าวหน้าตลอดมา จำเลยทั้งสองไม่เคยปฏิเสธในเรื่องจำนวนวันที่ทำการก่อสร้าง ดัดแปลงอาคารพิพาทฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานตามที่โจทก์กล่าวมาในฟ้อง จำเลยที่ 2 เองก็เบิกความรับว่า ได้ทำการดัดแปลงอาคารตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2530 เสร็จในเดือนพฤศจิกายน2530 โดยจำเลยทั้งสองมิได้นำสืบแก้ให้เห็นว่ามีการหยุดทำงานเป็นบางวันหรือไม่แต่อย่างใด ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองทำการดัดแปลงอาคารพิพาทจนเสร็จโดยฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตลอดเวลาที่ทำการดัดแปลงเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 113 วัน ตามที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกันสรุปแล้วฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้นทุกข้อ แต่ขณะที่คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา มีพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ออกใช้บังคับ โดยมาตรา 22 ให้ยกเลิกความในมาตรา 65 และ มาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522และมาตรา 25 ให้ยกเลิกความในมาตรา 70 และมาตรา 71 แห่งพระราชบัญญัติ ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และให้ใช้ความใหม่แทน บทกำหนดโทษตามมาตรา 65 วรรคหนึ่ง เดิมซึ่งเป็นบทกำหนดโทษผู้ดัดแปลงอาคารโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นรวมอยู่ด้วยระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท แต่มาตรา 65 วรรคหนึ่งที่แก้ไขใหม่ ระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนบทกำหนดโทษตามมาตรา 67 เดิมซึ่งเป็นบทกำหนดโทษผู้ฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้ระงับการดัดแปลงอาคารรวมอยู่ด้วยระวางโทษปรับวันละห้าร้อยบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืน แต่มาตรา 67 ที่แก้ไขใหม่กำหนดโทษไว้เป็นสองส่วนส่วนแรกตามวรรคหนึ่งระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนที่สองตามวรรคสองกำหนดว่านอกจากต้องระวางโทษตามวรรคหนึ่งแล้วผู้ฝ่าฝืนยังต้องระวางโทษปรับอีกวันละไม่เกินสามหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้องส่วนมาตรา 70 เดิม ซึ่งเป็นบทกำหนดโทษให้หนักขึ้นในการกระทำผิดอันเกี่ยวกับอาคารเพื่อพาณิชยกรรมระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับเป็นสิบเท่าของโทษที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่มาตรา 70 ที่แก้ไขใหม่ระวางโทษเป็นสองเท่าของโทษที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆอันเป็นกรณีที่กฎหมายซึ่งใช้ในขณะกระทำผิดแตกต่างกับกฎหมายซึ่งใช้ในภายหลังกระทำผิดอันมีทั้งเป็นคุณและเป็นโทษแก่ผู้กระทำความผิด ซึ่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำผิดไม่ว่าในทางใด ๆ ดังนั้นจึงต้องนำมาตรา 70ที่แก้ไขใหม่อันเป็นคุณแก่จำเลยทั้งสองยิ่งกว่ามาตรา 70 เดิมมาใช้บังคับแก่จำเลยทั้งสอง และยังคงต้องใช้มาตรา 65 วรรคหนึ่งเดิมและมาตรา 67 เดิม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดอันเป็นคุณแก่จำเลยทั้งสองยิ่งกว่ามาตรา 65 ที่แก้ไขใหม่และมาตรา 67 ที่แก้ไขใหม่มาใช้บังคับแก่จำเลยทั้งสอง สำหรับจำเลยที่ 2 ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 โดยอาศัยมาตรา 70 เดิม ซึ่งมีระวางโทษจำคุกด้วย แต่มาตรา 70 ที่แก้ไขใหม่ ไม่ได้กำหนดโทษจำคุกไว้ต่างหากจากบทกำหนดโทษหลัก โดยกำหนดไว้ว่าผู้กระทำต้องระวางโทษเป็นสองเท่าของโทษที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ ดังนั้นเมื่อนำกฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยคือ มาตรา 65 วรรคหนึ่งเดิมมาตรา 67 เดิม ซึ่งไม่มีระวางโทษจำคุกมีแต่โทษปรับ และมาตรา 70 ที่แก้ไขใหม่มาใช้บังคับแก่จำเลยที่ 2จึงไม่มีโทษจำคุกที่จะลงแก่จำเลยที่ 2 จึงต้องลงโทษปรับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นโทษที่เบากว่าโทษจำคุก”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 วรรคหนึ่งเดิม, 67 เดิม,69 และมาตรา 70 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 25 ลงโทษฐานเป็นผู้ดำเนินการดัดแปลงอาคารเพื่อพาณิชยกรรม โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นปรับคนละ 20,000 บาท ฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้ระงับการการดัดแปลงอาคารเพื่อพาณิชยกรรมโดยเป็นผู้ดำเนินการโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นปรับคนละ 226,000 บาทรวมสองกระทงปรับคนละ 246,000 บาท หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 หากจะต้องกักขังแทนค่าปรับให้กักขังมีกำหนด 2 ปี

Share