คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9339/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยจำเลยจึงมีสิทธิอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายได้และจำเลยก็อุทธรณ์ทั้งปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายด้วยในชั้นอุทธรณ์จึงมิใช่มีอุทธรณ์แต่ในปัญหาข้อกฎหมายดังนั้นศาลอุทธรณ์จึงไม่ต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนการที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงแตกต่างกับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นย่อมไม่ขัดต่อบทบัญญัติของมาตรา194แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จำเลยได้ติดต่อให้โจทก์ร่วมทำสัญญาประกันชีวิตกับบริษัทท. แบบระยะเวลาเอาประกันภัย21ปีในวงเงินเอาประกันภัย100,000บาทผู้เอาประกันภัยชำระเบี้ยประกันภัยครั้งเดียวโดยไม่ต้องจ่ายเป็นรายปีและได้รับส่วนลดเป็นพิเศษโจทก์ร่วมตกลงทำสัญญาประกันชีวิตต่อบริษัทท. กับจำเลยโดยโจทก์ร่วมทำสัญญาประกันชีวิตตนเอง1กรมธรรม์และทำสัญญาประกันชีวิตให้ม. อีก1กรมธรรม์โจทก์ร่วมได้ชำระเงินเบี้ยประกันภัยทั้ง2กรมธรรม์ให้แก่จำเลยไปแล้วทั้งหมดรวมเป็นเงิน179,500บาทแต่ปรากฏว่าบริษัทท. ได้รับชำระเบี้ยประกันภัยของโจทก์ร่วมและม. เป็นเงินเพียง10,584บาทและ8,659บาทตามลำดับซึ่งเป็นการชำระเบี้ยประกันภัยแบบเอาประกันภัยในระยะเวลาเพียง1ปีและโจทก์ร่วมกับม. จะต้องชำระเบี้ยประกันภัยเป็นรายปีปีละครั้งแสดงว่าโจทก์ร่วมส่งมอบเงินให้จำเลยไปโดยหลงเชื่อว่าจำเลยจะจัดให้โจทก์ร่วมและม. ทำสัญญาประกันชีวิตกับบริษัทท. แบบชำระเบี้ยประกันภัยครั้งเดียวโดยมีระยะเวลาเอาประกันภัย21ปีแต่จำเลยไม่ได้จัดให้มีการทำสัญญาประกันชีวิตในแบบดังกล่าวกลับนำสืบปฏิเสธว่าจำเลยไม่เคยรับเงินจากโจทก์ร่วมและจำเลยเป็นผู้ออกเงินทดรองจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยให้โจทก์ร่วมและม. ด้วยพฤติการณ์ของจำเลยถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาฉ้อโกงโจทก์ร่วมจำเลยจึงมีความผิดฐานฉ้อโกงตามฟ้องคดีนี้แม้ศาลล่างทั้งสองจะพิพากษาลงโทษจำเลยฐานยักยอกโดยโจทก์และโจทก์ร่วมไม่ได้อุทธรณ์ฎีกาในปัญหานี้ศาลฎีกาก็มีอำนาจปรับบทลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดฐานฉ้อโกงได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา192วรรคสาม เมื่อโจทก์ร่วมรู้ว่ากรมธรรม์ประกันชีวิตไม่ได้เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ดังกล่าวจึงทักท้วงต่อจำเลยจำเลยได้ขอเวลาแก้ไขให้ภายใน1เดือนในระยะเวลาดังกล่าวโจทก์ร่วมย่อมไม่อาจทราบได้ว่าจำเลยมีเจตนากระทำความผิดหรือไม่เพราะการออกกรมธรรม์ประกันชีวิตอาจมีข้อบกพร่องผิดพลาดโดยไม่ได้เจตนาก็เป็นได้ต่อเมื่อโจทก์ร่วมพบกับจำเลยอีกครั้งในวันที่24กันยายน2534และจำเลยได้ปฏิเสธว่าโจทก์ร่วมและม. ไม่ได้ทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยและจำเลยไม่ได้รับเงินค่าเบี้ยประกันภัยจากบุคคลทั้งสองนับแต่วันนั้นจึงถือได้ว่าโจทก์ร่วมรู้ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดเมื่อโจทก์ร่วมไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนในวันที่9ธันวาคม2534คดีของโจทก์ร่วมจึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341, 83 และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้เงินจำนวน179,500 บาทแก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสองไม่ได้ให้การ ถือว่าจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายประสิทธิ์ ทรัพย์สมาน ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352 วรรคแรก ลงโทษจำคุก 1 ปี ให้จำเลยที่ 1 คืนหรือใช้เงินจำนวน 179,500 บาท แก่โจทก์ร่วม ยกฟ้องจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นตามที่คู่ความนำสืบรักกันว่าจำเลยทั้งสอง เป็นตัวแทนของบริษัทไทยสมุทรพาณิชย์ประกันภัย จำกัด โดยจำเลยที่ 1 มีตำแหน่งเป็นผู้จัดการภาค จำเลยที่ 2 มีตำแหน่งเป็นผู้จัดการฝ่ายขายสาขาชลบุรี โจทก์ร่วมและนางมาลี ทรัพย์สมาน ซึ่งเป็นสามีภริยากันได้ยื่นคำขอทำสัญญาประกันชีวิตแบบสำเภาทองต่อบริษัทไทยสมุทรพาณิชย์ประกันภัย จำกัด โดยติดต่อผ่านทางจำเลยทั้งสอง ต่อมาบริษัทดังกล่าวได้ออกกรมธรรม์ประกันภัยให้โจทก์ร่วมและนางมาลี ตามเอกสารหมาย ล.3 และ ล.7คดีสำหรับจำเลยที่ 2 เป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วมีปัญหาขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาเฉพาะข้อหาความผิดของจำเลยที่ 1 และในชั้นนี้จำเลยที่ 1 คงฎีกาได้เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริง ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 222 จำเลยที่ 1 ฎีกาในปัญหากฎหมายข้อแรกว่า โจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายมีอำนาจร้องทุกข์และมีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายโดยมิได้ฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นฟังมาว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนมีอำนาจรับเงินเบี้ยประกันภัยแทนบริษัทไทยสมุทรพาณิชย์ประกันภัยจำกัด มีหน้าที่ต้องนำเงินนั้นส่งบริษัท แต่ได้เบียดบังเอาเงินของโจทก์ร่วมไปโดยทุจริต แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กลับวินิจฉัยว่าเงินเบี้ยประกันภัยที่โจทก์ร่วมส่งมอบให้จำเลยที่ 1 เพราะถูกจำเลยที่ 1 หลอกลวงมิใช่เป็นเงินที่จำเลยที่ 1 รับไว้เกี่ยวด้วยการเป็นตัวแทน ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงวินิจฉัยคดีคลาดเคลื่อนนั้นเห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1จึงมีสิทธิอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายได้ และจำเลยที่ 1ก็อุทธรณ์ทั้งปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายด้วย ในชั้นอุทธรณ์จึงมิใช่มีอุทธรณ์แต่ในปัญหาข้อกฎหมาย ดังนั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 1จึงไม่ต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยข้อเท็จจริงแตกต่างกับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น ย่อมไม่ขัดต่อบทบัญญัติของมาตรา 194 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาตามที่จำเลยที่ 1ฎีกา เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่าโจทก์ร่วมถูกจำเลยที่ 1 หลอกลวงเอาเงินไป โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายมีอำนาจร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนและมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ได้
ปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อต่อไปมีว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดฐานใด โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่า หากฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ร่วมส่งมอบเงินให้จำเลยที่ 1 เพราะถูกจำเลยที่ 1 หลอกลวง การกระทำของจำเลยที่ 1 ก็เป็นความผิดฐานฉ้อโกง ไม่ใช่เป็นความผิดฐานยักยอก พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาของภาค 1 ที่พิพากษามาได้ความว่า จำเลยที่ 1ได้ติดต่อให้โจทก์ร่วมทำสัญญาประกันชีวิตกับบริษัทไทยสมุทรพาณิชย์ประกันภัย จำกัด แบบระยะเวลาเอาประกันภัย 21 ปีในวงเงินเอาประกันภัย 100,000 บาท ผู้เอาประกันภัยชำระเบี้ยประกันภัยครั้งเดียวโดยไม่ต้องจ่ายเป็นรายปี และได้รับส่วนลดเป็นพิเศษ โจทก์ร่วมตกลงทำสัญญาประกันชีวิตต่อบริษัทไทยสมุทรพาณิชย์ประกันภัย จำกัด กับจำเลยที่ 1โดยโจทก์ร่วมทำสัญญาประกันชีวิตตนเอง 1 กรมธรรม์ และทำสัญญาประกันชีวิตให้นางมาลีอีก 1 กรมธรรม์ โจทก์ร่วมได้ชำระเงินเบี้ยประกันภัยทั้ง 2 กรมธรรม์ ให้แก่จำเลยที่ 1 ไปแล้วทั้งหมดรวมเป็นเงิน 179,500 บาท แต่ปรากฏว่าบริษัทไทยสมุทรพาณิชย์ประกันภัย จำกัด ได้รับชำระเบี้ยประกันภัยของโจทก์ร่วมและนางมาลีเป็นเงินเพียง 10,584 บาท และ 8,659 บาทตามลำดับ ซึ่งเป็นการชำระเบี้ยประกันภัยแบบเอาประกันภัยในระยะเวลาเพียง 1 ปี และโจทก์ร่วมกับนางมาลีจะต้องชำระเบี้ยประกันภัยเป็นรายปี ปีละครั้ง จากข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงว่าโจทก์ร่วมส่งมอบเงินให้จำเลยที่ 1 ไปโดยหลงเชื่อว่าจำเลยที่ 1จะจัดให้โจทก์ร่วมและนางมาลีทำสัญญาประกันชีวิตกับบริษัทไทยสมุทรพาณิชย์ประกันภัย จำกัด แบบชำระเบี้ยประกันภัยครั้งเดียวโดยมีระยะเวลาเอาประกันภัย 21 ปี แต่จำเลยที่ 1ไม่ได้จัดให้มีการทำสัญญาประกันชีวิตในแบบดังกล่าว กลับนำสืบปฏิเสธว่าจำเลยที่ 1 ไม่เคยรับเงินจากโจทก์ร่วม และจำเลยที่ 1เป็นผู้ออกเงินทดรองจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยให้โจทก์ร่วมและนางมาลีด้วย พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ถือได้ว่า จำเลยที่ 1 มีเจตนาฉ้อโกงโจทก์ร่วม จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานฉ้อโกงตามฟ้อง คดีนี้แม้ศาลล่างทั้งสองจะพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานยักยอกโดยโจทก์และโจทก์ร่วมไม่ได้อุทธรณ์ ฎีกาในปัญหานี้ ศาลฎีกาก็มีอำนาจปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 ในข้อหาความผิดฐานฉ้อโกงได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสาม
ปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อสุดท้ายมีว่า คดีของโจทก์ร่วมขาดอายุความหรือไม่ จำเลยที่ 1 ฎีกา โจทก์ร่วมควรจะรู้ตัวผู้กระทำความผิดคดีนี้อย่างช้าในวันที่ 24 สิงหาคม 2534 เพราะโจทก์ร่วมเคยให้การต่อพนักงานสอบสวนว่าในวันดังกล่าวจำเลยที่ 1เอากรมธรรม์ประกันชีวิตและใบเสร็จรับเงินมาให้ดู โจทก์ร่วมดูแล้วเห็นว่าผิดจากข้อตกลง โจทก์ร่วมจึงต้องร้องทุกข์ภายใน 3 เดือนนับแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2534 ซึ่งเป็นวาระแรกที่โจทก์ร่วมรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด แต่โจทก์ร่วมไปร้องทุกข์เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2534 คดีของโจทก์ร่วมจึงขาดอายุความแล้วเห็นว่า เมื่อโจทก์ร่วมรู้ว่ากรมธรรม์ประกันชีวิตไม่ได้เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ดังกล่าว จึงทักท้วงต่อจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1ได้ขอเวลาแก้ไขให้ภายใน 1 เดือน ในระยะเวลาดังกล่าวโจทก์ร่วมย่อมไม่อาจทราบได้ว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนากระทำความผิดหรือไม่เพราะการออกกรมธรรม์ประกันชีวิตอาจมีข้อบกพร่องผิดพลาดโดยไม่ได้เจตนาก็เป็นได้ ต่อเมื่อโจทก์ร่วมพบกับจำเลยที่ 1อีกครั้งในวันที่ 24 กันยายน 2534 และจำเลยที่ 1 ได้ปฏิเสธว่าโจทก์ร่วมและนางมาลีไม่ได้ทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยที่ 1และจำเลยที่ 1 ไม่ได้รับเงินค่าเบี้ยประกันภัยจากบุคคลทั้งสองนับแต่วันนั้นจึงถือได้ว่าโจทก์ร่วมรู้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำความผิด เมื่อโจทก์ร่วมไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนในวันที่9 ธันวาคม 2534 คดีของโจทก์ร่วมจึงไม่ขาดอายุความ
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share