แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ข้อกฎหมายเกี่ยวกับกำหนดเวลาฟ้องคดีต่อศาลนับเป็นข้อสาระสำคัญในการฟ้องคดีเรียกเงินค่าทดแทนการเวนคืน เพราะหากล่วงพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวไปแล้ว ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนย่อมไม่มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จำเลยทั้งสามในฐานะผู้ร่วมกันประกอบวิชาชีพทางกฎหมายและรับจ้างโจทก์ดำเนินคดีฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนควรจะต้องรู้ข้อกฎหมายเกี่ยวกับกำหนดเวลาดังกล่าวเป็นอย่างดีทำนองเดียวกับต้องรู้ข้อกฎหมายเกี่ยวกับกำหนดเวลาในการยื่นคำให้การต่อสู้คดีหรือกำหนดเวลาในการยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาเป็นต้น จำเลยทั้งสามมีความสำคัญผิดในข้อกฎหมายเกี่ยวกับกำหนดเวลาในการฟ้องคดีเรียกเงินค่าทดแทนและไม่ได้คำนึงว่าจะต้องยื่นคำฟ้องต่อศาลให้ทันกำหนดเวลาที่มีสิทธิฟ้องคดี การที่จำเลยที่ 3 ยื่นฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดเวลาที่มีสิทธิฟ้องคดีแล้ว ทำให้โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ และศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องคดีดังกล่าว ถือได้ว่าจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้รับจ้างดำเนินคดีก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์เป็นการผิดสัญญา จำเลยทั้งสามจึงต้องรับผิดต่อโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อกลางเดือนเมษายน 2535 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการและในฐานะส่วนตัวกับจำเลยที่ 3 ได้ร่วมกันให้คำปรึกษาและรับจ้างว่าความให้แก่โจทก์ในคดีเวนคืนซึ่งที่ดินโจทก์ถูกกรมทางหลวงและกระทรวงคมนาคมเวนคืนเพื่อตัดถนน โจทก์ควรได้รับค่าทดแทนเพิ่มอีก 3,507,125.88 บาท จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันเรียกร้องค่าจ้างว่าความกับค่าธรรมเนียมศาลเป็นเงิน 122,000 บาท โดยจำเลยทั้งสามร่วมกันแสดงข้อความอันเป็นเท็จและปกปิดข้อความจริงแก่โจทก์ว่าเมื่อปลายเดือนเมษายน 2535 จำเลยทั้งสามได้ฟ้องคดีให้แก่โจทก์แล้วต่อมาอ้างว่าส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยไม่ได้ ได้เรียกค่าใช้จ่ายเพิ่มจากโจทก์อีก 15,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 137,000 บาทความจริงแล้วจำเลยทั้งสามยังมิได้ฟ้องคดีตามที่แจ้งให้โจทก์ทราบแต่นำคดีมาฟ้องวันที่ 30 พฤศจิกายน 2535 อันเป็นเวลาภายหลังที่คดีขาดอายุความแล้ว (ที่ถูกเกินระยะเวลาที่มีสิทธิจะฟ้องคดี) ครั้นต่อมาวันที่ 3 มีนาคม 2537 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้องเนื่องจากคดีขาดอายุความ (ที่ถูกเกินระยะเวลาที่มีสิทธิจะฟ้องคดี) การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการปฏิบัติผิดสัญญาจ้างทำของ และจงใจทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงต้องคืนเงินจำนวน 137,000 บาท แก่โจทก์ และร่วมกันชำระเงิน 3,507,125.88 บาท ซึ่งเป็นค่าทดแทนที่โจทก์ควรได้รับเพิ่ม พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 มีนาคม 2537เป็นต้นไป คำนวณดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 5,348.63 บาท และ136,922.03 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 3,786,396.54 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 3,644,125.88 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ 3 ยื่นฟ้องคดีภายในกำหนดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530โดยโจทก์และจำเลยทั้งสามมีความเห็นร่วมกันว่า การโต้แย้งสิทธิของโจทก์เริ่มเกิดขึ้นในวันที่ 6 มีนาคม 2535 ซึ่งเป็นวันที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้โจทก์ทราบที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องเป็นเพียงดุลพินิจในการวินิจฉัยข้อกฎหมายซึ่งโจทก์สามารถโต้แย้งโดยใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาต่อไปได้ แต่โจทก์ไม่ยอมใช้สิทธิดังกล่าว ค่าเสียหายจากค่าทดแทนการเวนคืนที่โจทก์เรียกร้องเกินความเป็นจริง เพราะทุนทรัพย์ที่ฟ้องมีเพียง 2,467,095.23 บาททั้งเป็นค่าเสียหายที่ไม่แน่นอนว่าโจทก์จะได้รับตามคำพิพากษาเพียงใด จำเลยที่ 2 ไม่เคยเรียกค่าว่าความเพิ่มอีก 15,000 บาทขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน1,500,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้อง เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินให้โจทก์ 800,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ที่ดินของโจทก์แปลงเดิมตามโฉนดเลขที่ 1138 เนื้อที่ 8 ไร่ 1 งาน 32 ตารางวาถูกทางราชการเวนคืนบางส่วนจำนวน 4 ไร่ 3 งาน 60 ตารางวา โจทก์จึงขอแบ่งแยกโฉนดที่ดินเป็นแปลงย่อย 2 แปลง คือ ในส่วนที่ดินไม่ถูกเวนคืนเป็นโฉนดเลขที่ 15174 กับแปลงที่ดินถูกเวนคืนเป็นโฉนดเลขที่15175 ตามฟ้อง กรมทางหลวงได้จ่ายเงินค่าทดแทนให้โจทก์จำนวน786,800 บาท โจทก์ไม่พอใจในจำนวนเงินค่าทดแทนดังกล่าว จึงอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีได้รับคำอุทธรณ์ของโจทก์เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2534 แล้วไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์ ต่อมารัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามแจ้งผลการวินิจฉัยอุทธรณ์เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2535 โจทก์จึงว่าจ้างจำเลยทั้งสามให้ดำเนินคดีเวนคืนให้แก่โจทก์โดยจ่ายค่าจ้างว่าความจำนวน 30,000บาท เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2535 ต่อมาวันที่ 27 เมษายน 2535 โจทก์จ่ายเงินให้แก่จำเลยทั้งสามอีกจำนวน 92,000 บาท เป็นค่าวางศาลและค่าใช้จ่ายในการฟ้องเรียกค่าเสียหายและค่าที่ดินจำเลยที่ 3ได้ร่างคำฟ้องลงวันที่ 24 เมษายน 2535 เรียกค่าทดแทนพร้อมดอกเบี้ยเป็นเงิน 3,507,125.88 บาท วันที่ 30 พฤศจิกายน 2535 จำเลยที่ 3ยื่นฟ้องกรมทางหลวงและกระทรวงคมนาคมเรียกค่าทดแทนพร้อมดอกเบี้ยให้โจทก์รวมเป็นเงิน 2,467,095.23 บาท ต่อมาวันที่ 3 มีนาคม2537 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โดยวินิจฉัยว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้รับอุทธรณ์ของโจทก์เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2534แต่มิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ให้เสร็จสิ้นภายในหกสิบวัน คือ ภายในวันที่ 8 มิถุนายน 2534 โจทก์ต้องฟ้องคดีต่อศาลภายในกำหนด 1 ปีนับแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2534 การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 30พฤศจิกายน 2535 พ้นกำหนด 1 ปีแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องคดีตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 26 คดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการแรกว่าจำเลยทั้งสามกระทำผิดสัญญาหรือไม่ เห็นว่า ในกรณีที่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้ใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีนั้น พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 25 วรรคสอง บัญญัติว่า”ให้รัฐมนตรีวินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์” และมาตรา 26 บัญญัติว่า “ในกรณีที่รัฐมนตรีมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 25 วรรคสองให้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาดังกล่าว” จากบทบัญญัตินี้แสดงว่าในกรณีที่รัฐมนตรีมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลาหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนซึ่งอุทธรณ์มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาหกสิบวันดังกล่าว สำหรับกรณีของโจทก์ปรากฏว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้รับคำอุทธรณ์ของโจทก์เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2534 แล้วมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในหกสิบวัน คือ ภายในวันที่ 8 มิถุนายน 2534 ดังนั้น โจทก์จะต้องฟ้องคดีต่อศาลภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2534 อันเป็นวันพ้นกำหนดเวลาหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์ กล่าวคือจะต้องฟ้องภายในวันที่ 9 มิถุนายน 2535 ข้อกฎหมายเกี่ยวกับกำหนดเวลาดังกล่าวนับเป็นข้อสาระสำคัญในการฟ้องคดีเรียกเงินค่าทดแทนเพราะหากล่วงพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวไปแล้ว ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนย่อมไม่มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จำเลยทั้งสามในฐานะผู้ร่วมกันประกอบวิชาชีพทางกฎหมายและรับจ้างโจทก์ดำเนินคดีฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนควรจะต้องรู้ข้อกฎหมายเกี่ยวกับกำหนดเวลาดังกล่าวเป็นอย่างดีทำนองเดียวกับต้องรู้ข้อกฎหมายเกี่ยวกับกำหนดเวลาในการยื่นคำให้การต่อสู้คดีหรือกำหนดเวลาในการยื่นอุทธรณ์หรือฎีกา เป็นต้นและมีหน้าที่ต้องจัดทำคำฟ้องไปยื่นต่อศาลให้ทันภายในวันที่ 9 มิถุนายน2535 ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ว่าจ้างจำเลยทั้งสามให้ดำเนินคดีเวนคืนให้แก่โจทก์ โดยได้จ่ายค่าจ้างว่าความจำนวน 30,000 บาทเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2535 จ่ายค่าวางศาลและค่าใช้จ่ายในการฟ้องคดีอีกจำนวน 92,000 บาทเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2535 ให้แก่จำเลยทั้งสาม และจำเลยที่ 3 ได้ร่างคำฟ้องลงวันที่ 24 เมษายน 2535เรียกค่าทดแทนพร้อมดอกเบี้ยเป็นเงิน 3,507,125.88 บาท ซึ่งคิดคำนวณเป็นเงินค่าขึ้นศาลเพียง 87,677.50 บาท ค่าวางศาลและค่าใช้จ่ายในการฟ้องคดีจำนวน 92,000 บาท ที่โจทก์ได้จ่ายให้จำเลยทั้งสามไปแล้วจึงเพียงพอที่จะนำคำฟ้องดังกล่าวไปยื่นฟ้องต่อศาลได้ทันกำหนดเวลาที่มีสิทธิฟ้องคดี ที่จำเลยทั้งสามอ้างว่าความล่าช้าเกิดจากโจทก์นำเอกสารมามอบให้เมื่อล่วงพ้นกำหนดเวลาที่มีสิทธิฟ้องคดีแล้วนั้นก็ปรากฏว่าเป็นเอกสารที่จะต้องอ้างส่งในชั้นพิจารณา หาใช่เอกสารที่กฎหมายบังคับว่าจะต้องยื่นพร้อมคำฟ้องไม่ จึงไม่ใช่ข้อขัดข้องที่ทำให้ไม่อาจยื่นฟ้องได้ นอกจากนั้นตามคำให้การของจำเลยทั้งสามก็ยืนยันว่าการที่จำเลยที่ 3 ยื่นฟ้องคดีเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2535 เป็นการยื่นฟ้องภายในกำหนดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 โดยจำเลยทั้งสามเห็นว่า การโต้แย้งสิทธิของโจทก์เริ่มเกิดขึ้นในวันที่ 6 มีนาคม 2535 ซึ่งเป็นวันที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้โจทก์ทราบ แสดงว่าจำเลยทั้งสามมีความสำคัญผิดในข้อกฎหมายเกี่ยวกับกำหนดเวลาในการฟ้องคดีเรียกเงินค่าทดแทนและไม่ได้คำนึงว่าจะต้องยื่นคำฟ้องต่อศาลให้ทันภายในวันที่ 9 มิถุนายน2535 อันเป็นกำหนดเวลาที่มีสิทธิฟ้องคดี การที่จำเลยที่ 3 ยื่นฟ้องคดีเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2535 ซึ่งพ้นกำหนดเวลาที่มีสิทธิฟ้องคดีแล้วทำให้โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ และศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องคดีดังกล่าว ถือได้ว่าจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้รับจ้างดำเนินคดีก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ เป็นการผิดสัญญา จำเลยทั้งสามจึงต้องรับผิดต่อโจทก์”
พิพากษายืน