คำวินิจฉัยที่ 102/2563

แหล่งที่มา : สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีนี้ ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้ององค์การบริหารส่วนตำบล ส. ที่ ๑ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ส. ที่ ๒ กรมที่ดิน ที่ ๓ อธิบดีกรมที่ดิน ที่ ๔ ผู้ถูกฟ้องคดี สรุปคำฟ้องได้ว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๔๗๖๙๙ ซึ่งออกมาจากหลักฐานตาม น.ส. ๓ เลขที่ ๙๘ และ น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๑๑๕ ต่อมามีการออก น.ส.ล. เลขที่ ชย ๑๑๗๓ (ศาลตาปู่สาธารณประโยชน์) ทับซ้อนกับโฉนดที่ดินเลขที่ ๔๗๖๙๙ และเทพื้นถนนคอนกรีตเสริมเหล็กรุกล้ำเข้ามาในที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ ๔๗๖๙๙ ของผู้ฟ้องคดี โดยผู้ฟ้องคดีได้สร้างรั้วลวดหนามปิดกั้นถนนคอนกรีตที่สร้างรุกล้ำเขตที่ดินพิพาท แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีรื้อถอนอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างออกจากที่สาธารณประโยชน์ “ศาลตาปู่” ผู้ฟ้องคดีจึงอุทธรณ์คำสั่งต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ แต่มีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอนการออก น.ส.ล. เลขที่ ชย ๑๑๗๓ และแก้ไขโฉนดที่ดินเลขที่ ๔๗๖๙๙ โดยนำพื้นที่ส่วนที่เพิกถอน น.ส.ล. กลับคืนตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๔๗๖๙๙ และให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินของผู้ฟ้องคดีและปรับที่ดินให้อยู่ในสภาพเดิม ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ให้การว่า ที่ดินสาธารณประโยชน์ “ศาลตาปู่” เป็นที่ดินของรัฐ อยู่ในเขตรับผิดชอบของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถนนคอนกรีตเสริมเหล็กและรั้วลวดหนามพิพาทอยู่ในที่สาธารณประโยชน์ศาลตาปู่ ตาม น.ส.ล. เลขที่ ๑๑๗๓ ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ และที่ ๔ ให้การว่า การออก น.ส.ล. เลขที่ ชย ๑๑๗๓ และโฉนดที่ดินเลขที่ ๔๗๖๙๙ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ และที่ ๔ ได้ดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า แม้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๓ จะเป็นหน่วยงานทางปกครอง และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๔ จะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ และที่ ๔ ออก น.ส.ล. เลขที่ ชย ๑๑๗๓ ทับซ้อนกับโฉนดเลขที่ ๔๗๖๙๙ ของผู้ฟ้องคดี และบริเวณที่ตั้งศาลตาปู่มีการเทพื้นถนนคอนกรีตเสริมเหล็กรุกล้ำเข้ามาในที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ ๔๗๖๙๙ โดยผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ให้การทำนองเดียวกันว่า ที่พิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน อันเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน การที่จะวินิจฉัยว่าการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่ เป็นเพียงผลของการวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ซึ่งหากศาลวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดี การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ กระทำการตามฟ้องก็เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี แต่หากที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน จะเป็นผลให้การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ไม่เป็นละเมิด ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าการที่ผู้ฟ้องคดีใช้สิทธิฟ้องคดีนี้ ก็เพื่อขอให้ศาลรับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของตนเป็นสำคัญ ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

Share