แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ฎีกาว่า จำเลยชิงทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำผิดขอให้ลงโทษหนักขึ้น ปรากฏว่าขณะจำเลยกระทำผิดมิได้ใช้ยานพาหนะเจ้าพนักงานจับจำเลยได้ภายหลังความผิดสำเร็จแล้วขณะจำเลยใช้ยานพาหนะ ศาลอุทธรณ์มิได้ลงโทษหนักขึ้นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340 ตรี ด้วยเหตุดังกล่าวจึงชอบแล้ว แต่การที่จำเลยกระทำผิดโดยมีอาวุธปืน กรณีจึงต้องลงโทษหนักขึ้นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340 ตรี
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 32, 33, 83, 91, 339 วรรคสอง, 340 ตรี, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคแรก, 72, 72 ทวิ วรรคสองคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม2519 ข้อ 3, 6, 7 ริบอาวุธปืนและซองพกในของกลาง นับโทษจำเลยต่อจากคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 8139/2531 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การรับสารภาพข้อหามีอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืนไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และพาอาวุธปืนดังกล่าวติดตัวไปในเมืองหมู่บ้านทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันสมควร กับรับว่าเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 8139/2531 ของศาลชั้นต้นแต่ให้การปฏิเสธข้อหาชิงทรัพย์
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานพยายามกรรโชกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 วรรคสอง, 80 ลงโทษจำคุก 4 ปีฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7 ประกอบมาตรา 72 วรรคแรกลงโทษจำคุก 2 ปี ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง ทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคแรกประกอบมาตรา 72 ทวิ วรรคสอง และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนซึ่งเป็นบทหนักจำคุก 1 ปี สำหรับข้อหามีและพาอาวุธปืนไปในเมืองโดยไม่รับอนุญาต จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณานับเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 ฐานมีอาวุธปืน และเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง ทางสาธารณะ จำคุก 6 เดือนสำหรับข้อหาพยายามกรรโชกคำให้การชั้นจับกุมและสอบสวนมีประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 2 ปี 8 เดือนรวมลงโทษจำคุกจำเลย 4 ปี 2 เดือน ริบอาวุธปืนลูกซองพกสั้นและซองพกใน นับโทษจำเลยต่อจากคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 8139/2531ของศาลอาญา
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานพยายามกรรโชกโดยมีอาวุธปืน หากเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339 วรรคสอง ให้จำคุกจำเลย 10 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหามาสู่ศาลฎีกาว่าศาลอุทธรณ์มิได้ระวางโทษหนักขึ้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ตรี นั้นคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนนี้จึงไม่ชอบ เห็นว่า คดีมีฎีกาแต่เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติจากคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ได้ความว่าเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2533 เวลาประมาณ 22 นาฬิกานายสมหมาย เจนใจ ผู้เสียหายได้พบจำเลยกับพวกอีกหนึ่งคนที่บริเวณปากซอยอินทามระ 23 จำเลยขอเงินผู้เสียหาย 1,000 บาทผู้เสียหายว่าไม่มี จำเลยจึงชี้ไปที่สร้อยคอของผู้เสียหายพร้อมกับเปิดชายเสื้อให้ดูอาวุธปืนสั้นที่เหน็บอยู่ที่เอวจำเลยจากนั้นจำเลยก็กระชากสร้อยคอผู้เสียหายหลุดติดมือไป ผู้เสียหายแย่งคืนได้จำเลยกับพวกหนีไป ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสอง พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำผิดนั้นปรากฏว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์มิได้กล่าวไว้เลย แต่อย่างไรก็ตามปรากฏข้อเท็จจริงว่าขณะจำเลยกระทำความผิดมิได้ใช้ยานพาหนะเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยได้ภายหลังความผิดสำเร็จแล้วขณะจำเลยใช้รถจักรยานยนต์ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนนี้จึงชอบแล้วส่วนการที่จำเลยกระทำผิดฐานชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339 วรรคสอง โดยมีอาวุธปืน กรณีจึงต้องระวางโทษหนักขึ้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ตรี ที่ศาลอุทธรณ์วางโทษจำเลยในข้อหาตามฎีกาโจทก์จึงไม่ถูกต้อง ฎีกาโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 340 ตรี วางโทษจำคุก15 ปี แต่คำให้การจำเลยชั้นสอบสวนและชั้นจับกุมมีประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง เห็นสมควรลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยข้อหานี้ 10 ปี รวมทุกกระทงเป็นจำคุก 11 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์