คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1844/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยกับพวกมีปากกาติดตัวเป็นอาวุธได้ร่วมกันข่มขืนใจผู้เสียหาย โดยการทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจนผู้เสียหายให้เงินแก่จำเลยกับพวกจำนวน 20 บาท เป็นการข่มขืนใจผู้อื่นให้ยอมให้หรือยอมจะให้จำเลยได้รับประโยชน์เป็นทรัพย์สินโดยใช้กำลังประทุษร้ายจนผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้น จึงเป็นความผิดฐานกรรโชกทรัพย์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกอีก 1 คน มีปากกาติดตัวเป็นอาวุธได้ร่วมกันบีบบังคับและข่มขืนใจนายพีระสัณห์ วีโนทัย ผู้เสียหายให้ยินยอมให้ทรัพย์สินแก่ตนโดยการร่วมกันชกต่อยร่างกาย ใบหน้ากกหู และใช้ปากกาเป็นอาวุธกรีดแขนของผู้เสียหายจนได้รับอันตรายแก่กาย จนผู้เสียหายยอมให้เงินแก่จำเลยกับพวกไป 20 บาท ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 337
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 337 วรรคสอง (2), 83 จำเลยอายุ 18 ปี รู้ผิดชอบชั่วดีแล้วยังไม่เห็นสมควรลดมาตราส่วนโทษให้ ให้ลงโทษจำคุก 2 ปี แม้ว่าจำเลยจะยังเป็นนักศึกษาและทรัพย์ที่ได้ไปจำนวนเล็กน้อย แต่พฤติการณ์ของจำเลยเป็นการกระทำที่อุกอาจและเป็นภัยร้ายแรงในสถานการศึกษาซึ่งเป็นสถานที่ที่ควรมีความปลอดภัยสูงกว่าสถานที่อื่นทั่วไปจึงไม่สมควรรอการลงโทษจำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องพิจารณาตามฎีกาของจำเลยว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์หรือกรรโชกทรัพย์และหากเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยได้หรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าเมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยกับพวกได้เป็นคนร้ายมีปากกาติดตัวเป็นอาวุธได้ร่วมกันข่มขืนใจนายพีระสัณห์ วีโนทัย ผู้เสียหายโดยการทำร้ายร่างกายผู้เสียหายยอมให้เงินแก่จำเลยกับพวกจำนวน20 บาท การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการข่มขืนใจผู้อื่นให้ยอมให้หรือยอมจะให้จำเลยได้รับประโยชน์เป็นทรัพย์สินโดยใช้กำลังประทุษร้ายจนผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้น จึงเป็นความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 เมื่อฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำผิดฐานชิงทรัพย์แล้วคดีไม่จำต้องพิจารณาว่า ศาลจะลงโทษจำเลยตามความผิดฐานชิงทรัพย์แล้วคดีไม่จำต้องพิจารณาว่าศาลจะลงโทษจำเลยตามความผิดฐานชิงทรัพย์ได้หรือไม่ ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้วฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share