คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9309/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 3644 เป็นกรรมสิทธิ์ของ ว.กับอ.เมื่อ ว.กับอ.ถึงแก่ความตายป.บุตรของว.กับ อ. และ จ. ภริยาของ ป. ได้ครอบครองที่ดินตามโฉนดที่ดินดังกล่าวเฉพาะส่วนด้านทิศตะวันออกที่พิพาทกันต่อมา ป. และ จ. ถึงแก่ความตายที่พิพาทซึ่งเป็นมรดกของป. และ จ. ก็ตกได้แก่จ่าสิบตำรวจส. โดยเป็นสินส่วนตัวของจ่าสิบตำรวจ ส.ครั้นจ่าสิบตำรวจส. ถึงแก่ความตายที่พิพาทจึงเป็นมรดกที่ตกได้แก่ทายาทของจ่าสิบตำรวจส.ผู้ร้องซึ่งเป็นภริยามีสิทธิได้รับส่วนแบ่งในที่พิพาทโดยผลแห่งกฎหมายด้วย การที่ผู้ร้องเข้าครอบครองที่พิพาททั้งแปลงนั้นเฉพาะส่วนที่เป็นมรดกและตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องนั้น มิใช่ทรัพย์สินของผู้อื่นที่ผู้ร้องจะเข้าครอบครองโดยปรปักษ์ได้สำหรับที่พิพาทในส่วนที่เป็นมรดกตกได้แก่ทายาทคนอื่นของจ่าสิบตำรวจ ส. นั้น เมื่อเวลาที่ผู้ร้องครอบครองมานับแต่จ่าสิบตำรวจ ส. ถึงแก่ความตายจนถึงเวลาที่ผู้ร้องยื่นคำร้องยังไม่ถึง 10 ปี จึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ด้วยการครอบครอง

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 3644 เนื้อที่ 2 ไร่2 งาน มีชื่อนายวง นางโอ นายสุด สวัสดินามและนายสุบิน เสระฐิน เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม โดยแบ่งแยกการครอบครองเป็นส่วนสัด นายวงและนางโอครอบครองที่ดินร่วมกันด้านทิศตะวันออก เนื้อที่ 1 ไร่ ส่วนนายสสุดและนายสุบินครอบครองที่ดินร่วมกันด้านทิศตะวันตอก เนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน เมื่อประมาณ 50 ปี มาแล้ว นายวงและนางโอยกที่ดินส่วนของตนให้แก่บุตรคือนายปอง สวัสดินาม โดยมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ต่อมานายปองยกที่ดินให้แก่บุตรชื่อจ่าสิบตำรวจสมนึก สวัสดินาม การยกให้มิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียน เพียงแต่มอบโฉนดที่ดินและที่ดินให้จ่าสิบตำรวจสมนึกครอบครองทำประโยชน์ตลอดมา จนเมื่อประมาณ 20 ปี มาแล้วจ่าสิบตำรวจสมนึกยกที่ดินให้แก่ผู้ร้องซึ่งเป็นภริยาด้วยการมอบโฉนดที่ดินและให้ผู้ร้องครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวเป็นเวลา 20 ปี ด้วยความสงบ เปิดเผยและเจตนาเป็นเจ้าของ โดยไม่มีผู้ใดโต้แย้ง ขอให้มีคำสั่งว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 3644 เฉพาะส่วนด้านทิศตะวันออก เนื้อที่ 1 ไร่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องโดยการครอบครอง
ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำคัดค้านว่าจ่าสิบตำรวจสมนึก สวัสดินาม มิได้ยกที่ดินเฉพาะส่วนให้แก่ผู้ร้อง เพียงแต่มอบหมายให้ผู้ร้องซึ่งเป็นภริยาดูแลบ้านและที่ดินแทน เมื่อจ่าสิบตำรวจสมนึกถึงแก่ความตาย ที่ดินดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์มรดกตกทอดแก่ทายาท ผู้คัดค้านทั้งสองเป็นบุตรจึงมีสิทธิในที่ดินดังกล่าว ขอให้ยกคำร้องขอ
ผู้คัดค้านที่ 3 ยื่นคำคัดค้านว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนายวงและนางโอ ซึ่งตกได้แก่ทายาทฝ่ายผู้ร้องและฝ่ายผู้คัดค้าน มิใช่ตกแก่ฝ่ายผู้ร้องเพียงฝ่ายเดียว ผู้ร้องครอบครองที่ดินแทนทายาทอื่น ขอให้ยกคำร้องขอ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอของผู้ร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 3644ตำบลคุ้งกระถิน อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรีเฉพาะส่วนด้านทิศตะวันออกตามแผนที่เอกสารหมาย ร.2เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องโดยการครอบครอง
ผู้คัดค้านที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เดิมที่ดินตามโฉนดเลขที่ 3644 ตำบลคุ้งกระถินอำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี เป็นกรรมสิทธิ์ของนายวงกับนางโอ มีเนื้อที่ 2 ไร่ 2 งาน ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ร.1 ต่อมานายวงกับนางโอถึงแก่ความตายนายปอง สวัสดินาม บุตรของนายวงกับนางโอและนางจรัสภริยาของนายปองได้ครอบครองที่ดินตามโฉนดที่ดินดังกล่าวเฉพาะส่วนด้านทิศตะวันออกที่พิพาทกัน มีเนื้อที่ 1 ไร่ ตามกรอบเส้นสีแดงในแผนที่พิพาทเอกสารหมาย ร.2 เมื่อนายปองและนางจรัสถึงแก่ความตายแล้ว จ่าสิบตำรวจสมนึก สวัสดินามซึ่งเป็นบุตรของนายปองกับนางจรัสได้ครอบครองที่พิพาทโดยปลูกบ้านอยู่อาศัย ต่อมาจ่าสิบตำรวจสมนึกถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2535 ตามเอกสารหมาย ค.3 ผู้ร้องซึ่งเป็นภริยาของจ่าสิบตำรวจสมนึกจึงเป็นผู้ครอบครองที่พิพาทตลอดมาถึงปัจจุบัน คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ 3ว่า ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทด้วยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 หรือไม่ ผู้ร้องเบิกความว่า นายวงและนางโอยกที่พิพาทให้แก่นายปองโดยไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เมื่อนายวงและนางโอถึงแก่ความตายแล้วนายปองได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่พิพาทต่อมา และก่อนนายปองถึงแก่ความตายนายปองได้ยกที่พิพาทให้แก่จ่าสิบตำรวจสมนึกซึ่งเป็นบุตรโดยไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เช่นกันจ่าสิบตำรวจสมนึกครอบครองที่พิพาทโดยปลูกบ้านอยู่อาศัยต่อมาจ่าสิบตำรวจสมนึกย้ายไปรับราชการที่จังหวัดสมุทรสาครแล้วมีภริยาน้อย ครั้นผู้ร้องทราบเรื่องจึงเกิดโต้เถียงกันจ่าสิบตำรวจสมนึกจึงยกที่พิพาทให้แก่ผู้ร้องโดยมอบโฉนดที่ดินที่พิพาทให้ แต่ไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้ร้องได้ครอบครองที่พิพาทโดยความสงบ เปิดเผยและเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลา 20 ปี ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน เห็นว่า ผู้ร้องเบิกความตอบทนายผู้คัดค้านที่ 1และที่ 2 ถามค้านว่า นายวงและนางโอจะมอบที่ดินให้แก่นายปองประมาณกี่ปีมาแล้วไม่ทราบ และนายปองจะยกที่ดินให้จ่าสิบตำรวจสมนึกกี่ปีมาแล้วไม่ทราบเนื่องจากผู้ร้องเข้ามาอยู่ภายหลัง แสดงว่าที่ผู้ร้องเบิกความดังกล่าวเป็นแต่เพียงพยานบอกเล่าเท่านั้น ส่วนกรณีที่ผู้ร้องอ้างว่าจ่าสิบตำรวจสมนึกยกที่พิพาทพร้อมทั้งมอบโฉนดที่ดินที่พิพาทให้แก่ผู้ร้อง ทั้งผู้ร้องได้ครอบครองที่พิพาทมา 20 ปีแล้วนั้น ปรากฏว่าผู้ร้องเบิกความไว้เมื่อปี 2536 ดังนั้น ผู้ร้องจึงต้องเข้าครอบครองที่พิพาทพร้อมทั้งยึดถือโฉนดที่ดินที่พิพาทไว้เมื่อปี 2516 แต่ผู้ร้องมีตัวผู้ร้องมาเบิกความเป็นพยานลอย ๆเพียงปากเดียว นอกจากนี้ผู้ร้องยังเบิกความตอบทนายผู้คัดค้านที่ 1และที่ 2 ถามค้านว่า นายปองถึงแก่ความตายก่อนนางจรัสหลังจากนายปองถึงแก่ความตายนางจรัสก็อาศัยอยู่กับจ่าสิบตำรวจสมนึกและบุตรเรื่อยมา และผู้ร้องเบิกความตอบทนายผู้คัดค้านที่ 2 ถามค้านว่า เมื่อนายปองถึงแก่ความตายโฉนดที่ดินแปลงพิพาทอยู่กับนางจรัส ตอนที่นายสุบินและนายสุดยื่นคำร้องขอครอบครองปรปักษ์ที่ดินทางด้านทิศตะวันตกของที่พิพาท นายสุบินและนายสุดเคยมาขอยืมโฉนดที่ดินที่พิพาทจากนางจรัส แต่นางจรัสไม่ให้ และนางจรัสถึงแก่ความตายมานาน 4 ถึง 5 ปี ซึ่งคำนวณได้ว่าเป็นปี 2531 ถึง 2532 แสดงว่าก่อนปี 2531 ถึง 2532 นั้นผู้ร้องมิได้เป็นผู้ยึดถือโฉนดที่ดินของที่พิพาทไว้ มีเหตุผลให้เชื่อว่าก่อนนางจรัสถึงแก่ความตาย ผู้ร้องมิได้ยึดถือโฉนดที่ดินที่พิพาทและครอบครองที่พิพาทอย่างเป็นเจ้าของและผู้ร้องเบิกความตอบทนายผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 3 ถามค้านว่าจ่าสิบตำรวจสมนึกกลับมาดูแลผู้ร้องทุกเดือนและให้ค่าเลี้ยงดูด้วย จ่าสิบตำรวจสมนึกถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์2535 แสดงว่าหลังจากนายปองและนางจรัสถึงแก่ความตายแล้วที่พิพาทซึ่งเป็นมรดกของนายปองและนางจรัสก็ตกได้แก่จ่าสิบตำรวจสมนึกและตกเป็นสินส่วนตัวของจ่าสิบตำรวจสมนึกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1471(3) โดยจ่าสิบตำรวจสมนึกกลับมาครอบครองดูแลที่พิพาทอยู่เป็นประจำทุกเดือน ครั้นจ่าสิบตำรวจสมนึกถึงแก่ความตายเมื่อวันที่20 กุมภาพันธ์ 2535 ที่พิพาทจึงเป็นมรดกของจ่าสิบตำรวจสมนึกที่ตกได้แก่ทายาทของจ่าสิบตำรวจสมนึก ซึ่งผู้ร้องมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งในที่พิพาทโดยผลแห่งกฎหมายในฐานะภริยาซึ่งเป็นทายาทของจ่าสิบตำรวจสมนึกด้วย การที่ผู้ร้องเข้าครอบครองที่พิพาททั้งแปลงนั้น เฉพาะส่วนที่เป็นมรดกและตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องนั้นมิใช่ทรัพย์สินของผู้อื่นที่ผู้ร้องจะเข้าครอบครองโดยปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ได้สำหรับที่พิพาทในส่วนที่เป็นมรดกตกได้แก่ทายาทคนอื่นของจ่าสิบตำรวจสมนึกนอกจากผู้ร้องนั้น ผู้ร้องครอบครองมานับแต่จ่าสิบตำรวจสมนึกถึงแก่ความตายจนถึงเวลาที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอคดีนี้เป็นเวลายังไม่ถึง 10 ปี ผู้ร้องจึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทในส่วนที่เป็นมรดกตกได้แก่ทายาทอื่นของจ่าสิบตำรวจสมนึกด้วยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้ที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องโดยการครอบครองไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาผู้คัดค้านที่ 3 ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องขอของผู้ร้อง

Share