คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 93/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางคืน ผู้เสียหายและ พ. นั่งอยู่ที่ร้านก๋วยเตี๋ยวริมถนน โดยผู้เสียหายนั่งหันหน้าไปทางถนนส่วน พ.นั่งหันหลังให้ถนน คนร้ายเดินเข้ามาทางด้านหน้าของผู้เสียหายและเดินมาด้านหลังของ พ. ขณะนั้นผู้เสียหายคิดว่าเป็นคนมากินก๋วยเตี๋ยว เพิ่งมาสนใจต่อเมื่อมีคนร้ายคนหนึ่งใช้ปืนจี้ที่ศีรษะและถูกคนร้ายอีกคนหนึ่งซึ่งไปยืนทางด้านซ้ายของผู้เสียหายแกะ สร้อยคอ ประกอบกับระยะเวลาที่คนร้ายกระทำผิดเป็นระยะเวลาสั้นมากถึงแม้จะมีแสงไฟฟ้าก็ไม่มีช่วงใดที่ผู้เสียหายและ พ. จะมีโอกาสมองดูหน้าคนร้ายได้ชัดเจน อีกทั้งผู้เสียหายและ พ.ต่างก็ไม่เคยเห็นหน้าคนร้ายมาก่อน คนร้ายไม่มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากคนทั่วไปและจับคนร้ายได้หลังเกิดเหตุแล้วถึง 3 เดือนเศษกรณียังเป็นที่สงสัย จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลย.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2530 เวลากลางคืนก่อนเที่ยงจำเลยกับพวกที่หลบหนีอีก 1 คน ซึ่งมีอาวุธปืนสั้นจำนวน1 กระบอกติดตัว ได้ร่วมกันชิงเอาสร้อยคอทองคำ 1 เส้น และพระเลี่ยมทองคำ 1 องค์ รวมราคาทรัพย์ 12,000 บาท ของนายธนาธิป ไชยเศรษฐ ผู้เสียหายไปโดยทุจริต ในการชิงทรัพย์จำเลยกับพวกได้ใช้อาวุธปืนจี้ขู่เข็ญผู้เสียหายไม่ให้ขัดขืนมิฉะนั้น ในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายฆ่าผู้เสียหายให้ถึงแก่ความตายทั้งนี้เพื่อให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์และพาทรัพย์นั้นไป ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น เพื่อยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้ และเพื่อให้พ้นการจับกุม เหตุเกิดที่แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิกรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสอง,340 ตรี, 83 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2525 มาตรา 13 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 15 ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 12,000 บาท แก่ผู้เสียหาย จำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2957/2531 ของศาลชั้นต้น ศาลพิพากษาจำคุก 12 ปี ขอให้นับโทษต่อด้วย
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339 วรรคสอง ประกอบด้วย มาตรา 340 ตรี จำคุก 18 ปีโดยให้นับโทษต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2957/2531 ของศาลชั้นต้น ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 12,000 บาทแก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่ามีคนร้ายชิงสร้อยคอทองคำและพระเลี่ยมทองคำของนายธนาธิปผู้เสียหายไป ข้อต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า จำเลยเป็นคนร้ายรายนี้หรือไม่ เห็นว่า พยานที่รู้เห็นขณะเกิดเหตุมี 2 คนคือผู้เสียหายกับนายพิริยะศักดิ์ พยานทั้งสองต่างเบิกความว่าขณะนั่งอยู่ที่ร้านก๋วยเตี๋ยวริมถนนรามคำแหงผู้เสียหายนั่งหันหน้าไปทางถนน ส่วนนายพิริยะศักดิ์นั่งหันหลังให้ถนน ได้มีคนร้าย 2 คนเดินมาที่ผู้เสียหาย คนหนึ่งเอาปืนจี้ที่ศีรษะผู้เสียหายและอีกคนหนึ่งคือจำเลยได้แกะสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายแล้ววิ่งหนีไปคนร้ายทำการจี้อยู่ประมาณ 10-15 วินาที พยานทั้งสองไม่เคยรู้จักคนร้ายมาก่อน ฉะนั้นปัญหาสำคัญจึงอยู่ที่ว่าพยานทั้งสองจำคนร้ายที่ว่าเป็นจำเลยได้แม่นยำหรือไม่ พยานทั้งสองเบิกความว่า เห็นหน้าจำเลยได้ชัดเจนโดยมีแสงไฟฟ้าจากหลอดไฟฟ้าที่เกาะกลางถนนและแสงไฟฟ้าจากร้านค้าซึ่งตามแผนที่เกิดเหตุอยู่ทางด้านขวาและค่อนไปทางด้านหลังของผู้เสียหาย แสดงให้เห็นว่าในที่เกิดเหตุมีแสงสว่างมองเห็นกันได้ แต่เมื่อพิเคราะห์ในรายละเอียดตามคำเบิกความของพยานทั้งสองแล้วจะเห็นได้ว่า คนร้ายเดินมาทางด้านหน้าของผู้เสียหายก็แสดงว่าเดินมาทางด้านถนนรามคำแหงและเดินมาทางด้านหลังของนายพิริยะศักดิ์ ลักษณะเช่นนี้นายพิริยะศักดิ์จะเห็นคนร้ายได้ต่อเมื่อคนร้ายได้เดินมาถึงตัวผู้เสียหายแล้วส่วนผู้เสียหายถึงแม้จะเห็นคนร้ายเดินเข้ามา แต่สถานที่เกิดเหตุเป็นร้านก๋วยเตี๋ยว ผู้เสียหายอาจคิดว่าเป็นคนมากินก๋วยเตี๋ยวคงจะไม่ได้สนใจเพราะไม่มีเหตุการณ์พิเศษอะไรจะให้สนใจคนที่เดินเข้ามา คงจะเพิ่งมาสนใจเมื่อถูกคนร้ายคนหนึ่งใช้ปืนจี้ที่ศีรษะ และถูกคนร้ายอีกคนหนึ่งซึ่งไปยืนทางด้านซ้ายของผู้เสียหายแกะสร้อยคอ เห็นได้ว่าคนร้ายที่แกะสร้อยคอมิได้ยืนอยู่ตรงหน้าผู้เสียหายเลย เมื่อได้สร้อยคอแล้วคนร้ายนี้ก็วิ่งหนีไปก่อนคนร้ายที่ใช้ปืนจี้ผู้เสียหาย ระยะเวลาที่คนร้ายกระทำผิดเป็นระยะเวลาสั้นมาก ถึงแม้จะมีแสงไฟฟ้าก็ไม่มีช่วงใดที่พยานทั้งสองจะมีโอกาสมองดูหน้าคนร้ายได้ชัดเจน คนร้ายเป็นคนที่พยานทั้งสองไม่เคยเห็นหน้ากันมาก่อน ทั้งไม่มีลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากคนทั่วไปนับว่าเป็นการยากที่พยานทั้งสองจะจำคนร้ายได้โดยไม่ผิดพลาดทั้งพฤติการณ์อื่นก็ไม่มีที่จะสนับสนุนว่าจำเลยเป็นคนร้าย ในการได้ตัวจำเลยมาก็ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับจำเลยในข้อหาเป็นซ่องโจร และสงสัยว่าจำเลยกระทำผิดในคดีนี้จึงให้ผู้เสียหายชี้ตัว ซึ่งเป็นเวลา 3 เดือนเศษ หลังเกิดเหตุคดีนี้ จึงไม่อาจจะเชื่อโดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยเป็นผู้กระทำผิดรายนี้ เมื่อพยานหลักฐานโจทก์ยังเป็นที่สงสัยว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share