คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9278/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยอาศัยที่วัดเป็นสถานที่เพื่อให้คนมาฝากรถ จึงเป็นเรื่องชัดแจ้งว่าจำเลยทำธุรกิจรับฝากทรัพย์ โดยจำเลยรับค่าบริการจากฝ่ายโจทก์ แล้วมอบบัตรให้มีข้อความว่า “รับฝากรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ ขอบคุณที่ใช้บริการ(กรุณาอย่าทำบัตรหาย)” โดยมีหมายเลขกำกับ อันแสดงว่าฝ่ายโจทก์จะรับรถคืนได้ต่อเมื่อคืนบัตรให้แก่ฝ่ายจำเลย ดังนี้มีผลเท่ากับฝ่ายโจทก์ได้ส่งมอบทรัพย์สินไว้ในอารักขาของฝ่ายจำเลยแล้ว การที่ไม่ได้มอบลูกกุญแจให้ไว้ด้วย หาใช่สาระสำคัญไม่ การปฏิบัติระหว่างฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยเป็นการฝากทรัพย์ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 657 แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียนอุบลราชธานี ฝ-9606 โดยโจทก์เช่าซื้อจากห้างหุ้นส่วนจำกัดไทยยนต์ ในราคา64,000 บาท จำเลยเป็นผู้มีอาชีพรับฝากทรัพย์ประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์โดยเรียกค่าตอบแทนโจทก์นำรถโจทก์คันดังกล่าวฝากแก่จำเลย โดยชำระค่าตอบแทนให้จำเลยเรียบร้อยแล้วแต่ด้วยความประมาทเลินเล่อของจำเลยไม่ระมัดระวังดูแลรักษารถของโจทก์อย่างวิญญูชนจะพึงสงวนรักษาทรัพย์สินของตนและสมควรต้องใช้ฝีมือพิเศษในการระมัดระวังทรัพย์ที่รับฝากเนื่องจากเป็นอาชีพของตน เป็นเหตุให้รถของโจทก์ที่เช่าซื้อสูญหายไป ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 70,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์รถจักรยานยนต์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายและไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยไม่ใช่ผู้รับฝากทรัพย์ จำเลยเพียงแต่จัดที่จอดรถเท่านั้น ค่าเสียหายไม่น่าจะเกิน 5,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 50,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 7 มกราคม 2538 จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีนี้ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง เนื่องจากทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกิน 200,000 บาท คงมีปัญหาวินิจฉัยเฉพาะในข้อกฎหมายตามที่จำเลยฎีกาขึ้นมาว่า การที่เด็กชายณัฐวุฒิสุดตลอด นำรถจักรยานยนต์เข้าไปจอดเองแล้วเอากุญแจรถไปด้วย โดยไม่ได้มอบกุญแจรถไว้แก่ผู้ดูแลที่จอดรถ จะใช่สัญญาฝากทรัพย์หรือไม่ ซึ่งจำเลยฎีกาโต้แย้งว่า พฤติการณ์เช่นนี้ไม่มีการส่งมอบการครอบครองรถแก่ผู้ดูแลสถานที่จึงไม่ใช่การฝากทรัพย์ ปัญหานี้ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า จำเลยรับว่าอาศัยที่วัดเป็นสถานที่ให้คนมาฝากรถ จึงเป็นเรื่องชัดแจ้งว่าจำเลยทำธุรกิจฝากทรัพย์ ประกอบกับข้อเท็จจริงที่รับฟังได้เป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ว่า ฝ่ายจำเลยรับค่าบริการจากฝ่ายโจทก์ แล้วมอบบัตรให้มีข้อความว่า “ธนูไฟบริการ รับฝากรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ ขอบคุณที่ใช้บริการ(กรุณาอย่าทำบัตรหาย)” โดยมีหมายเลขกำกับ อันแสดงว่าฝ่ายโจทก์จะรับรถคืนได้ต่อเมื่อคืนบัตรให้แก่ฝ่ายจำเลย ดังนี้ มีผลเท่ากับว่า ฝ่ายโจทก์ได้ส่งมอบทรัพย์สินไว้ในอารักขาของฝ่ายจำเลยแล้ว การที่ไม่ได้มอบลูกกุญแจให้ไว้ด้วย หาใช่สาระสำคัญไม่การปฏิบัติระหว่างฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลย เป็นการฝากทรัพย์ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 657 ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาชอบแล้วฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค1 ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 7 มกราคม 2538 นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเป็นการเกินคำขอ เห็นควรแก้ไขให้ถูกต้อง”
พิพากษายืน แต่ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2538)

Share