คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9274/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์โดยยกข้อเท็จจริงตามคำเบิกความโจทก์มาอุทธรณ์เพื่อให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 มอบหมายงานให้โจทก์ทำนอกประเทศไทยโดยมิได้เสียภาษีเงินได้ในประเทศไทย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลแรงงานกลางโดยต้องไปฟ้องต่อศาลในประเทศสหรัฐอเมริกานั้น เป็นการอุทธรณ์โดยยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ในชั้นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมาย จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
การพิจารณาว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 หรือไม่ หาใช่พิจารณาแต่เพียงว่านายจ้างมีสิทธิเลิกสัญญาจ้างตามข้อตกลงในสัญญาจ้างประการเดียวเท่านั้นไม่ แต่จะต้องพิจารณาด้วยว่ากรณีการเลิกจ้างมีเหตุแห่งการเลิกจ้างและเป็นเหตุอันสมควรที่นายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างหรือไม่ จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นนายจ้างเลิกจ้างโจทก์เพราะเสียดายที่ต้องจ่ายค่าจ้างจำนวนมากแก่โจทก์และเพื่อต้องการลดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ อันเป็นการเลิกจ้างที่ให้ประโยชน์แก่นายจ้างฝ่ายเดียว จึงไม่มีเหตุอันจำเป็นและสมควรเพียงพอที่จะเลิกจ้างโจทก์ ถือเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเป็นเงินไทย ศาลแรงงานกลางจึงชอบที่จะพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเป็นเงินไทยแก่โจทก์ได้ ส่วนหนี้ค่าชดเชยโจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองตกลงจ่ายค่าจ้างอัตราสุดท้ายเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐแก่โจทก์ โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐจำนวนหนึ่งโดยคิดอัตราแลกเปลี่ยนเงินในวันที่ 8 กรกฎาคม 2553 ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งสองตกลงจ่ายค่าจ้างอัตราสุดท้ายเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐแก่โจทก์ โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชย 40,249.98 ดอลลาร์สหรัฐ จำเลยทั้งสองจ่ายค่าชดเชยบางส่วนเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ คงค้างโจทก์อยู่อีก 4,750 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งหนี้ค่าชดเชยเป็นหนี้เงินที่กำหนดไว้เป็นเงินตราต่างประเทศ หากจำเลยทั้งสองจะชำระเป็นเงินไทยก็ทำได้โดยคิดอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ สถานที่และในเวลาที่ใช้เงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 196 วรรคสอง ซึ่งเป็นสิทธิของลูกหนี้ในการเลือกปฏิบัติการชำระหนี้ ศาลไม่มีอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลงสิทธิของจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นลูกหนี้ได้โดยลำพัง ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองจ่ายค่าชดเชยส่วนที่ขาดเป็นเงินไทยโดยคิดอัตราแลกเปลี่ยนเงินในวันที่มีการชำระค่าชดเชยบางส่วนไปแล้วนั้น จึงไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 196 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามรับผิดร่วมกันหรือแทนกันจ่ายเงินโบนัส 441,798 บาท สิทธิประโยชน์ค่าที่พัก 720,000 บาท ค่าเบี้ยเลี้ยงและค่าสาธารณูปโภค 108,000 บาท ค่าตั๋วเครื่องบินเดินทางกลับจากประเทศไทยไปประเทศอังกฤษ 576,980 บาท ค่าเล่าเรียนบุตร 330,310.15 บาท กองทุนเงินบำนาญ 209,869.29 บาท ค่าใช้จ่ายในการย้ายถิ่นฐาน 378,740.80 บาท ค่าประกันสุขภาพ 260,707.20 บาท ค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพื่อการทำงาน 4,114.28 บาท ค่าใช้จ่ายในการเดินทางจากประเทศไทยไปประเทศสิงคโปร์ 44,100 บาท ค่าใช้จ่ายในการขนย้ายสัตว์เลี้ยงของโจทก์จากประเทศไทยไปประเทศสิงคโปร์ 132,361.35 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 9,619,248.38 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 295,283.49 บาท ค่าชดเชย 1,311,715.68 บาท และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 90 วัน เป็นเงิน 1,311,715.68 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ขาดนัด
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันจ่ายค่าชดเชยที่ยังขาดอยู่อีก 155,423.77 บาท และค่าเสียหาย 1,300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2554) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยกและยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า บริษัทวิลเบอร์เอลลิส จำกัด จำเลยที่ 1 และที่ 2 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดตามกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกา จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นบริษัทลูกของบริษัทวิลเบอร์เอลลิส จำกัด และจำเลยที่ 2 เป็นสาขาของจำเลยที่ 1 ในประเทศไทย จำเลยที่ 3 ทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ตำแหน่งรองประธานกรรมการ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2550 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 3 ทำสัญญาจ้างโจทก์เข้าทำงานตกลงจ้างมีกำหนด 1 ปี ค่าจ้างปีละ 150,000 ดอลลาร์สหรัฐ โดยแบ่งจ่าย 50 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือนให้แก่โจทก์ในประเทศไทย ส่วนที่เหลือจ่ายเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์ในต่างประเทศ หลังจากทำสัญญาจ้างแล้ว ต่อมาวันที่ 4 กรกฎาคม 2550 โจทก์เริ่มทำงานในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายการตลาดระดับภูมิภาค มีหน้าที่ดูแลจัดการเรื่องการพัฒนาและการเติบโตในธุรกิจกระดาษเคมีภัณฑ์ของนายจ้างในประเทศไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินเดีย และเวียดนาม ซึ่งเป็นงานที่โจทก์ทำให้แก่จำเลยที่ 1 ตามที่มีหน้าที่รับผิดชอบและเป็นงานที่โจทก์ทำให้แก่จำเลยที่ 2 ในหน้าที่ผู้จัดการฝ่ายการตลาดระดับภูมิภาคในประเทศไทยด้วย จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่างแบ่งกันจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ตลอดมาตั้งแต่เริ่มจ้าง ปี 2551 โจทก์ได้รับค่าจ้าง 153,000 ดอลลาร์สหรัฐ ปี 2552 โจทก์ได้รับค่าจ้างเพิ่มเป็น 157,000 ดอลลาร์สหรัฐ และปี 2553 โจทก์ได้รับค่าจ้างเพิ่มเป็น 161,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือเดือนละ 13,416.66 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งปี 2553 จำเลยที่ 1 และที่ 2 แบ่งจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์เป็นรายเดือน โดยจำเลยที่ 1 จ่ายให้โจทก์เดือนละ 7,500 ดอลลาร์สหรัฐ และจำเลยที่ 2 จ่ายให้โจทก์เดือนละ 5,916.66 ดอลลาร์สหรัฐ รวม 13,416.66 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อมาวันที่ 14 มิถุนายน 2553 โจทก์ได้รับหนังสือบอกเลิกจ้างให้มีผลทันทีอ้างว่าผลการปฏิบัติงานและการพัฒนาธุรกิจภายใต้บังคับบัญชาของโจทก์ไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง หนังสือเลิกจ้างใช้ชื่อและตราสัญลักษณ์ของจำเลยที่ 2 และมีจำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อ วันที่ 6 กรกฎาคม 2553 จำเลยที่ 1 และที่ 2 จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์เท่ากับค่าจ้าง 1 เดือน และจำเลยที่ 2 จ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ 35,499.98 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทย 1,161,587.75 บาท แล้วศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า เมื่อโจทก์ทำงานให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามสัญญาจ้าง จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ตลอดมา แสดงว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นนายจ้างของโจทก์ และร่วมกันเลิกจ้างโจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงต้องร่วมกันรับผิดตามสัญญาจ้างและการเลิกจ้างต่อโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดด้วยเพราะเป็นลูกจ้างที่กระทำการแทนจำเลยที่ 1 หนังสือเลิกจ้างไม่ได้ระบุว่า โจทก์กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 โจทก์ทำงานให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน โดยค่าจ้างอัตราสุดท้ายที่โจทก์ได้รับปีละ 161,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือเดือนละ 13,416.66 ดอลลาร์สหรัฐ เป็นค่าชดเชย 40,249.98 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคิดเป็นเงินไทยเท่ากับ 1,317,011.52 บาท โดยใช้อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 6 กรกฎาคม 2553 อันเป็นวันที่จำเลยที่ 2 ชำระค่าชดเชยบางส่วนแก่โจทก์ คือ 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 32.7208 บาท จำเลยที่ 2 จ่ายค่าชดเชยบางส่วนแก่โจทก์ 35,499.98 ดอลลาร์สหรัฐ โดยคิดเป็นเงินไทยเท่ากับ 1,161,587.75 บาท จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องร่วมกันชำระค่าชดเชยส่วนที่ขาด 155,423.77 บาท ซึ่งคิดเป็นเงินไทยโดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนในวันเดียวกันข้างต้น จำเลยที่ 1 และที่ 2 จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ครบแล้ว แม้หนังสือเลิกจ้างระบุว่าการปฏิบัติงานและการพัฒนาธุรกิจภายใต้บังคับบัญชาของโจทก์ไม่เป็นไปตามที่บริษัทคาดหวัง แต่ก่อนเลิกจ้าง 5 เดือน จำเลยที่ 1 และที่ 2 ปรับเพิ่มค่าจ้างให้โจทก์อีกปีละ 4,000 ดอลลาร์สหรัฐ แล้วต่อมาจำเลยที่ 1 และที่ 2 เสียดายที่ต้องจ่ายค่าจ้างจำนวนมากให้แก่โจทก์ จึงเลิกจ้างโจทก์เพื่อลดค่าใช้จ่ายอันเป็นการกระทำที่เป็นประโยชน์แก่นายจ้างฝ่ายเดียว การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เลิกจ้างโจทก์โดยอ้างเหตุเช่นนี้จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม เห็นสมควรกำหนดให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 1,300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จำเลยที่ 1 และที่ 2 จ่ายค่าขนย้ายและค่าเดินทางเพื่อการทำงานกับค่าตั๋วเครื่องบินเดินทางกลับประเทศสิงคโปร์ เงินกองทุนบำนาญและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่โจทก์ครบแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าขนย้ายสัตว์เลี้ยงเพราะไม่ได้กำหนดไว้ในสัญญาจ้าง เมื่อโจทก์พ้นสภาพจากการเป็นลูกจ้างจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าตั๋วเครื่องบินเดินทางกลับประเทศอังกฤษ ค่าเล่าเรียนบุตร ค่าประกันสุขภาพ ค่าที่พักและค่าสาธารณูปโภค รวมทั้งไม่มีสิทธิได้รับเงินโบนัสเพราะไม่ได้เป็นลูกจ้างขณะจ่ายเงินโบนัสตามเงื่อนไขการจ่ายเงินโบนัส
มีปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ข้อแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลแรงงานกลางหรือไม่ หรือต้องไปฟ้องต่อศาลในประเทศสหรัฐอเมริกาโดยต้องส่งหมายนัดและสำเนาคำฟ้องแก่จำเลยที่ 1 ในประเทศสหรัฐอเมริกานั้น อุทธรณ์ข้อนี้จำเลยที่ 2 ไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้ เมื่อจำเลยที่ 2 ยกข้อเท็จจริงตามคำเบิกความโจทก์มาอุทธรณ์ เพื่อให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 มอบหมายงานให้โจทก์ทำนอกประเทศไทยโดยมิได้เสียภาษีเงินได้ในประเทศไทยเพื่อนำไปสู่ปัญหาอำนาจฟ้อง จึงเป็นการอุทธรณ์โดยยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ในชั้นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมาย จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อนี้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ข้อต่อไปว่า การเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่อสัญญาจ้างและปรับเพิ่มค่าจ้างให้แก่โจทก์ตลอดมาตั้งแต่ปี 2551 ถึงปี 2553 ระบุเหตุผลการปรับเพิ่มค่าจ้างของปี 2551 ว่าพึงพอใจอย่างมากกับการพัฒนาที่โจทก์ทำไว้ตั้งแต่เข้าร่วมงาน จึงเพิ่มค่าจ้างให้อีกปีละ 3,000 ดอลลาร์สหรัฐ ระบุเหตุผลการปรับเพิ่มค่าจ้างของปี 2552 ว่ามีความท้าทายในการทำธุรกิจช่วงเศรษฐกิจกำลังตกต่ำอย่างต่อเนื่องซึ่งกระทบต่ออุตสาหกรรมกระดาษ จึงปรับเพิ่มค่าจ้างให้อีกปีละ 4,000 ดอลลาร์สหรัฐ และระบุเหตุผลการปรับเพิ่มค่าจ้างของปี 2553 ว่าเป็นปีแห่งการทำงานที่ท้าทายและมีการปรับเพิ่มค่าจ้างให้อีกปีละ 4,000 ดอลลาร์สหรัฐ การปรับเพิ่มค่าจ้างในแต่ละปีให้แก่โจทก์จึงไม่ใช่ด้วยเหตุผลเพื่อให้เหมาะสมกับค่าครองชีพและอัตราเงินเฟ้อดังที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ ส่วนเหตุผลในการเลิกจ้างนั้น ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า แม้หนังสือเลิกจ้างระบุว่าการปฏิบัติงานและการพัฒนาธุรกิจภายใต้บังคับบัญชาของโจทก์ไม่เป็นไปตามที่บริษัทคาดหวัง แต่ก่อนเลิกจ้าง 5 เดือน จำเลยที่ 1 และที่ 2 ปรับเพิ่มค่าจ้างให้โจทก์อีกปีละ 4,000 ดอลลาร์สหรัฐ แล้วต่อมาจำเลยที่ 1 และที่ 2 เสียดายที่ต้องจ่ายค่าจ้างจำนวนมากให้แก่โจทก์ จึงเลิกจ้างโจทก์เพื่อลดค่าใช้จ่ายอันเป็นการกระทำที่เป็นประโยชน์แก่นายจ้างฝ่ายเดียว ไม่ใช่ด้วยเหตุว่าผลประกอบการในส่วนที่โจทก์รับผิดชอบขาดทุนมาโดยตลอดซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้โอกาสปรับปรุงแก้ไขการทำงานแต่โจทก์ไม่สามารถเพิ่มรายได้และผลกำไรดังที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์มา จึงเป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่า เป็นการเลิกจ้างตามสัญญาจ้างที่กำหนดให้นายจ้างเลิกสัญญาจ้างได้หากบอกกล่าวล่วงหน้า 30 วัน เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้เท่ากับค่าจ้าง 30 วัน จึงเลิกจ้างได้ ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม นั้น เห็นว่า การที่จะพิจารณาว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม อันเป็นเหตุให้นายจ้างต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ลูกจ้างตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 หรือไม่นั้น หาใช่พิจารณาแต่เพียงว่านายจ้างมีสิทธิเลิกสัญญาจ้างตามข้อตกลงในสัญญาจ้างประการเดียวเท่านั้นไม่ แต่จะต้องพิจารณาด้วยว่ากรณีการเลิกจ้างมีเหตุแห่งการเลิกจ้างและเป็นเหตุอันสมควรที่นายจ้างจะเลิกจ้างหรือไม่ จำเลยที่ 1 และที่ 2 เลิกจ้างโจทก์โดยอาศัยเหตุว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 เสียดายที่ต้องจ่ายค่าจ้างจำนวนมากให้แก่โจทก์ เพื่อลดค่าใช้จ่ายจึงเลิกจ้างโจทก์ซึ่งเป็นการกระทำที่ให้ประโยชน์แก่นายจ้างฝ่ายเดียว ถือไม่ได้ว่ามีเหตุอันจำเป็นและสมควรเพียงพอที่จะเลิกจ้างโจทก์ เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ส่วนนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ข้อสุดท้ายว่า ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จ่ายค่าชดเชยและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเป็นเงินไทยและให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนคำนวณค่าชดเชยในวันที่จำเลยที่ 2 ชำระค่าชดเชยบางส่วนแก่โจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ในส่วนค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมนั้น โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จ่ายค่าเสียหายเป็นเงินไทย ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า เป็นการเลิกจ้างเพื่อประโยชน์ของนายจ้างฝ่ายเดียวที่ต้องการลดค่าใช้จ่ายถือเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จึงพิพากษาให้จ่ายค่าเสียหายเป็นเงินบาทนั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ส่วนนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนค่าชดเชยนั้น โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ซึ่งได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเป็นเงินไทยโดยคิดอัตราแลกเปลี่ยนเงินในวันที่ 8 กรกฎาคม 2553 ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตกลงจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 13,416.66 ดอลลาร์สหรัฐ โจทก์ทำงานกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน เป็นเงิน 40,249.98 ดอลลาร์สหรัฐ จำเลยที่ 1 และที่ 2 จ่ายค่าชดเชยบางส่วน 35,499.98 ดอลลาร์สหรัฐ จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงต้องจ่ายค่าชดเชยส่วนที่ขาดแก่โจทก์ 4,750 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นหนี้เงินที่กำหนดไว้เป็นเงินตราต่างประเทศ หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะชำระเป็นเงินไทยก็ทำได้โดยคิดอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ สถานที่และในเวลาที่ใช้เงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 196 วรรคสอง ซึ่งเป็นสิทธิของลูกหนี้ในการเลือกปฏิบัติการชำระหนี้ ศาลแรงงานกลางไม่มีอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลงสิทธิของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้โดยลำพัง ที่ศาลแรงงานกลางใช้อำนาจพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จ่ายค่าชดเชยส่วนที่ขาดเป็นเงินไทยโดยให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนเงินในวันที่ 6 กรกฎาคม 2553 อันเป็นวันที่มีการชำระค่าชดเชยบางส่วนไปแล้วนั้น จึงไม่ชอบ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ส่วนนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันจ่ายค่าชดเชยส่วนที่ขาด 4,750 ดอลลาร์สหรัฐ หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะชำระเป็นเงินไทยให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ สถานที่และในเวลาที่ใช้เงิน แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินอัตรา 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 32.5884 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share