แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดมาตรการต่างๆ ให้สามารถดำเนินการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้มีคณะกรรมการธุรกรรมคณะหนึ่งเพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัติ โดยมาตรา 34 (1) และ (3) บัญญัติให้คณะกรรมการธุรกรรมมีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบธุรกรรมหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด และดำเนินการตามมาตรา 48 ซึ่งได้แก่ อำนาจในการยึดหรืออายัดทรัพย์สินไว้ชั่วคราวในกรณีที่ตรวจสอบรายงานและข้อมูลเกี่ยวกับการทำธุรกรรมแล้ว มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าอาจมีการโอน จำหน่าย หรือซ่อนเร้นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด โดยไม่มีบทบัญญัติใดจำกัดช่องทางการรับทราบรายงานและข้อมูลการทำธุรกรรมดังกล่าวแต่อย่างใด ส่วนที่มาตรา 13, 15 และ 16 บัญญัติให้สถาบันการเงิน สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สำนักงานที่ดินจังหวัด สำนักงานที่ดินสาขาหรือสำนักงานที่ดินอำเภอ รวมถึงผู้มีอาชีพเกี่ยวกับการดำเนินการหรือให้คำแนะนำในการทำธุรกรรมที่เกี่ยวกับการลงทุนหรือเคลื่อนย้ายเงินทุน มีหน้าที่ต้องรายงานการทำธุรกรรมต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ก็เป็นการกำหนดหน้าที่แก่หน่วยงานหรือบุคคลดังกล่าวไว้โดยเฉพาะ เนื่องด้วยเล็งเห็นว่าเป็นหน่วยงานและบุคคลที่รับทราบข้อมูลการทำธุรกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินในเบื้องต้นมาตามอำนาจหน้าที่ของตน เพื่อที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินจะได้ดำเนินการไปตามอำนาจหน้าที่ต่อไป อันเป็นมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินให้สัมฤทธิ์ผลตามเจตนารมณ์ของกฎหมายนั่นเอง หาใช่เป็นบทบัญญัติบังคับให้คณะกรรมการธุรกรรมต้องรับรายงานและข้อมูลเกี่ยวกับการทำธุรกรรมเฉพาะที่มาจากหน่วยงานหรือบุคคลดังกล่าวแต่อย่างใดไม่ การที่พนักงานสอบสวนดำเนินคดีอันเป็นความผิดมูลฐานเป็นผู้เสนอรายงานและข้อมูลการทำธุรกรรมให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินแล้วคณะกรรมการธุรกรรมได้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ต่อมาจึงชอบแล้ว
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินจำนวน 20 รายการ มูลค่า 3,895,328.67 ดังกล่าวพร้อมดอกผลอันเกิดขึ้นตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปรามปราบการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 49 และมาตรา 51
ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนและประกาศตามกฎหมายแล้ว
ผู้คัดค้านทั้งหกยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รถยนต์จำนวน 6 คัน รถจักรยานยนต์จำนวน 2 คัน ที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ 1 หลัง เงินสด เงินฝากในบัญชีธนาคาร สร้อยคอทองคำ จำนวน 1 เส้น แหวนทองคำประดับเพชรและทับทิมจำนวน 1 วง แหวนทองคำประดับเพชรจำนวน 1 วง สร้อยคอทองคำจำนวน 2 เส้น สร้อยข้อมือทองคำประดับเพชรจำนวน 1 เส้น สร้อยข้อมือทองเคประดับเพชรลงยาจำนวน 1 เส้นและโทรทัศน์สียี่ห้อฟิลลิปส์ขนาด 50 นิ้ว จำนวน 1 เครื่อง รวมทรัพย์สิน 20 รายการตามบัญชีทรัพย์สิน พร้อมดอกผลตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรา 51 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 6 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 และที่ 6 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันฟังเป็นยุติในชั้นนี้ว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 และนายอดิศักดิ์หรือเฮา เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ผู้คัดค้านที่ 3 เป็นภริยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสของผู้คัดค้านที่ 2 ส่วนผู้คัดค้านที่ 6 เป็นอดีตภริยาของนายบุญเลี้ยงหรือปักนั้ง เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2547 ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลจักรวรรดิ์รายงานให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 กรณีผู้คัดค้านที่ 1 กับพวกมีพฤติการณ์กระทำความผิดข้อหาร่วมกันกรรโชก หรือรีดเอาทรัพย์ที่กระทำโดยอ้างอำนาจอั้งยี่หรือซ่องโจร ด้วยการนำพื้นที่สาธารณะที่ประชาชนมีสิทธิใช้ร่วมกันออกให้ผู้ค้าตลาดมืดหรือตลาดเช้าสำเพ็งเช่าและเรียกเก็บค่าเช่าพื้นที่เป็นรายเดือน ในการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 2/2548 เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2548 คณะกรรมการธุรกรรมได้พิจารณาข้อมูลแล้ว มีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้คัดค้านที่ 1 กับพวกมีพฤติการณ์ในการกระทำความผิดข้อหาร่วมกันกรรโชก หรือรีดเอาทรัพย์ที่กระทำโดยอ้างอำนาจอั้งยี่หรือซ่องโจร และได้ไปซึ่งทรัพย์สินเกี่ยวกับการกระทำความผิด จึงมีมติมอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบธุรกรรมและทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 1 กับพวก วันที่ 27 เมษายน 2548 สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินร่วมกับเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลจักรวรรดิ์และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องตรวจยึดทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 1 กับพวก รวม 30 รายการ พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่าทรัพย์สิน 24 รายการ เป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานสนับสนุนหรือช่วยเหลือเจ้าพนักงานในการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรมตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น กับร่วมกันกรรโชกโดยอ้างอำนาจอั้งยี่หรือซ่องโจร อันเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 (5) (6) จึงเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการธุรกรรมและในการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 15/2548 เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2548 คณะกรรมการธุรกรรมมีมติให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินดังกล่าวรวม 24 รายการ ไว้ชั่วคราว ผู้คัดค้านที่ 1 กับพวกได้ยื่นหนังสือโต้แย้งการยึดหรืออายัดทรัพย์สิน และพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบทรัพย์สินและการทำธุรกรรมของผู้คัดค้านที่ 1 กับพวกแล้ว ต่อมาในการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 21/2548 เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2548 คณะกรรมการธุรกรรมมีมติให้เพิกถอนการยึดหรืออายัดทรัพย์รวม 4 รายการ กับมีมติให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินส่งเรื่องให้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สิน 20 รายการ ตามบัญชีทรัพย์สิน ตกเป็นของแผ่นดิน คดีสำหรับผู้คัดค้านที่ 4 และที่ 5 ยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และคดีสำหรับผู้คัดค้านที่ 1 ยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ 6 ว่า ผู้ร้องมีอำนาจยื่นคำร้องคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดมาตรการต่าง ๆ ให้สามารถดำเนินการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้มีคณะกรรมการธุรกรรมคณะหนึ่งเพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัติ โดยมาตรา 34 (1) และ (3) บัญญัติให้คณะกรรมการธุรกรรมมีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบธุรกรรมหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด และดำเนินการตามมาตรา 48 ซึ่งได้แก่ อำนาจในการยึดหรืออายัดทรัพย์สินไว้ชั่วคราวในกรณีที่ตรวจสอบรายงานและข้อมูลเกี่ยวกับการทำธุรกรรมแล้ว มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าอาจมีการโอน จำหน่าย หรือซ่อนเร้นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด โดยไม่มีบทบัญญัติใดจำกัดช่องทาง การรับทราบรายงานและข้อมูลการทำธุรกรรมดังกล่าวแต่อย่างใด ส่วนที่มาตรา 13, 15 และ 16 บัญญัติให้สถาบันการเงิน สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สำนักงานที่ดินจังหวัด สำนักงานที่ดินสาขาหรือสำนักงานที่ดินอำเภอ รวมถึงผู้มีอาชีพเกี่ยวกับการดำเนินการหรือให้คำแนะนำในการทำธุรกรรมที่เกี่ยวกับการลงทุนหรือเคลื่อนย้ายเงินทุน มีหน้าที่ต้องรายงานการทำธุรกรรมต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ก็เป็นการกำหนดหน้าที่แก่หน่วยงานหรือบุคคลดังกล่าวไว้โดยเฉพาะ เนื่องด้วยเล็งเห็นว่าเป็นหน่วยงานและบุคคลที่รับทราบข้อมูลการทำธุรกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินในเบื้องต้นมาตามอำนาจหน้าที่ของตน เพื่อที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินจะได้ดำเนินการไปตามอำนาจหน้าที่ต่อไป อันเป็นมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินให้สัมฤทธิ์ผลตามเจตนารมณ์ของกฎหมายนั่นเอง หาใช่เป็นบทบัญญัติบังคับให้คณะกรรมการธุรกรรมต้องรับรายงานและข้อมูลเกี่ยวกับการทำธุรกรรมเฉพาะที่มาจากหน่วยงานหรือบุคคลดังกล่าวแต่อย่างใดไม่ การที่พนักงานสอบสวนดำเนินคดีอันเป็นความผิดมูลฐานเป็นผู้เสนอรายงานและข้อมูลการทำธุรกรรมให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินแล้วคณะกรรมการธุรกรรมได้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ต่อมาจึงชอบแล้ว ผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคำร้องคดีนี้ ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 6 ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 และที่ 6 ว่า ทรัพย์สิน 9 รายการตามบัญชีทรัพย์สิน เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดหรือไม่ เห็นว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นที่สาธารณะสำหรับประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ย่อมเป็นการยากที่ลำพังผู้ค้าแต่ละคนจะเข้าไปครอบครองใช้เป็นพื้นที่ค้าขายได้ หากแต่ต้องมีการจัดการโดยกลุ่มบุคคลอันมีลักษณะเป็นขบวนการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ดังกล่าวอยู่ใจกลางกรุงเทพมหานคร แต่กลับถูกปล่อยปละละเลยให้ใช้เป็นพื้นที่ค้าขายโดยเปิดเผยต่อเนื่องกันมาเป็นเวลานาน จึงเชื่อว่าการบริหารจัดการดังกล่าวมานี้อยู่ในความรู้เห็นของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องด้วย ทั้งการจัดการพื้นที่อันเต็มไปด้วยผลประโยชน์นี้ กลุ่มบุคคลที่เข้าไปจัดการย่อมต้องมีการเรียกรับผลประโยชน์ตอบแทนจากผู้ค้าและอยู่ในวิสัยที่อาจมีการกระทบกระทั่งกันด้วยเรื่องผลประโยชน์ ซึ่งในข้อนี้ก็ได้ความจากคำเบิกความของพยานผู้ร้อง โดยเฉพาะนายสมศักดิ์ นางยุพา นางสุพรรณี และนางสาวศรีวรรณ โดยสรุปว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 นายอดิศักดิ์และนายบุญเลี้ยงกับพวกล้วนมีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องในการจัดการและเรียกรับผลประโยชน์โดยมิชอบต่อเนื่องกันมา โดยมีนายวสันต์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่เทศกิจให้ความร่วมมือในการจับกุมผู้ค้าที่ขัดขืนหรือมีปัญหาในการจ่ายเงินตามที่เรียกร้อง ทั้งมีการข่มขู่และใช้กำลังประทุษร้ายผู้ค้าด้วย พยานผู้ร้องเหล่านี้ล้วนใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ค้าขาย หาเลี้ยงชีพ หากไม่มีปัญหารุนแรงกระทบถึงตนแล้วก็คงไม่ว่ากล่าวเอาความแก่ผู้ที่จัดการให้ตนได้มีพื้นที่ค้าขาย ดังจะเห็นได้จากคำเบิกความของนายสมศักดิ์ที่ว่า พยานกระทบกระทั่งกับผู้คัดค้านที่ 1 ในเรื่องที่ผู้คัดค้านที่ 1 เรียกเงินจากพยานเพิ่มเติมแต่พยานไม่ยอม และผู้คัดค้านที่ 1 ใช้อาวุธปืนข่มขู่ พยานจึงไปแจ้งความเพื่อให้ดำเนินคดีแก่ผู้คัดค้านที่ 1 โดยผู้ร้องมีนายพุทธิพงศ์ เจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวน สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เป็นพยานเบิกความด้วยว่า ในเวลาต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจได้ดำเนินคดีแก่ผู้คัดค้านที่ 1 ในมูลเหตุเกี่ยวเนื่องกันนี้รวม 2 คดี และศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำพิพากษาลงโทษผู้คัดค้านที่ 1 ฐานกรรโชกทั้ง 2 คดี ตามสำเนาคำพิพากษา ที่ผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 และที่ 6 อ้างว่า เงินที่เรียกเก็บจากผู้ค้าแต่ละรายเป็นค่าใช้ไฟฟ้าที่ต่อจากบ้านผู้คัดค้านที่ 2 และนายบุญเลี้ยงนั้น ได้ความว่ามีการเรียกเก็บเงินจากผู้ค้าแต่ละรายในแต่ละเดือนเป็นจำนวนคงที่ โดยไม่ได้คำนึงว่าผู้ค้าแต่ละรายจะใช้ไฟฟ้ามากน้อยต่างกันอย่างไร ทั้งนายบุญเลี้ยงก็เบิกความรับว่าได้แบ่งเงินที่เรียกเก็บในแต่ละเดือนให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 ด้วย อันมีลักษณะเป็นค่าบริหารจัดการอยู่ในตัว พยานหลักฐานที่ผู้ร้องนำสืบมามีน้ำหนักดีกว่า พฤติการณ์ที่ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 นายอดิศักดิ์และนายบุญเลี้ยงกับพวกร่วมกันนำพื้นที่สาธารณะมาจัดทำเป็นสถานที่ค้าขายออกให้ผู้ค้าเช่า แล้วแบ่งเขตรับผิดชอบในการเรียกเก็บผลประโยชน์เป็นค่าเช่าและค่าเซ้ง หากผู้ค้ารายใดขัดขืนหรือไม่จ่ายเงินตามจำนวนที่กำหนดก็จะถูกข่มขู่ ใช้กำลังประทุษร้าย และยังร่วมกับเจ้าหน้าที่เทศกิจแสวงหาประโยชน์จากการนี้ด้วยการกลั่นแกล้งจับกุมกับยึดอุปกรณ์ค้าขายไป จึงเป็นการกรรโชก หรือรีดเอาทรัพย์ โดยอ้างอำนาจอั้งยี่หรือซ่องโจร กับสนับสนุนหรือช่วยเหลือการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ อันเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 (6) และ (5) ตามลำดับ ที่ผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 และที่ 6 ฎีกาว่า การจะมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน พยานหลักฐานของผู้ร้องต้องรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าผู้คัดค้านกระทำความผิดอาญาอันเป็นความผิดมูลฐาน แต่พยานผู้ร้องหลายปากเบิกความว่าไม่มีการข่มขู่เรียกเก็บเงิน โดยไม่มีการกระทำความผิดดังที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง ทั้งคดีที่ผู้คัดค้านถูกฟ้องว่าร่วมกระทำความผิดกับผู้คัดค้านที่ 1 ศาลก็มีคำพิพากษายกฟ้องแล้วนั้น เห็นว่า การสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เป็นมาตรการทางแพ่งเพื่อบังคับเอาแก่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด และมาตรา 59 บัญญัติให้การดำเนินการทางศาลต้องนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับ ซึ่งเมื่อพนักงานอัยการยื่นคำร้อง และศาลทำการไต่สวนแล้ว หากเชื่อว่าทรัพย์สินตามคำร้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐาน ศาลก็มีอำนาจสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดินได้ตามมาตรา 49 วรรคหนึ่ง และมาตรา 51 วรรคหนึ่ง โดยมิพักต้องพิจารณาว่าบุคคลผู้เป็นเจ้าของหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินดังกล่าวต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำความผิดมูลฐานหรือไม่ หาใช่พยานหลักฐานต้องรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยดังเช่นประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 แต่อย่างใดไม่ ส่วนข้อตำหนิของคำเบิกความของพยานผู้ร้องนั้น สำหรับร้อยตำรวจเอกสุเมธ และพันตำรวจตรีกล้าหาญ ต่างเป็นเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลจักรวรรดิ์ในช่วงเวลาดังกล่าว ทั้งยังได้ความจากนางยุพาว่ามีนางติ๋ว ซึ่งอ้างว่าเป็นภริยาของเจ้าพนักงานตำรวจเข้ามาเกี่ยวข้องในการเรียกรับผลประโยชน์จากการนี้อยู่ด้วย จึงเป็นธรรมดาที่พยานจะต้องเบิกความบ่ายเบี่ยงว่าไม่มีการกระทำความผิดในท้องที่ความรับผิดชอบของตน เพราะข้อเท็จจริงอาจย้อนแสดงถึงความหย่อนยานในการปฏิบัติหน้าที่อันเป็นผลร้ายแก่ตนได้ ส่วนพยานอื่นที่เป็นผู้ค้าบางปากเบิกความในทำนองว่าสมัครใจจ่ายเงิน โดยไม่ได้ถูกข่มขู่นั้น เห็นว่า การเรียกรับผลประโยชน์ในลักษณะนี้ ผู้กระทำการดังกล่าวไม่จำต้องข่มขู่เพื่อเรียกผลประโยชน์จากผู้ค้าทุกราย เพียงแต่แสดงให้รับรู้ทั่วกันว่าผู้ค้าทุกรายต้องจ่ายเงินเพื่อที่จะค้าขายต่อไปได้โดยไม่มีปัญหาดังเช่นที่นายสมศักดิ์กับพวกดังกล่าวประสบมา การที่พยานผู้ค้าบางปากยินยอมจ่ายเงินอาจเป็นเพราะทราบถึงข้อปฏิบัติในการเข้าไปค้าขายในพื้นที่ดังกล่าวดีอยู่แล้วนั่นเอง คำเบิกความของพยานเหล่านี้ไม่ทำให้น้ำหนักพยานหลักฐานของผู้ร้องเสียน้ำหนักในการรับฟังแต่อย่างใด ส่วนปัญหาว่าทรัพย์ตามฎีกาของผู้คัดค้าน ที่ 2 ที่ 3 และที่ 6 เป็นทรัพย์ที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดหรือไม่นั้น เห็นว่า เมื่อพยานหลักฐานที่ผู้ร้องนำสืบฟังได้ว่าพฤติการณ์ที่ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 นายอดิศักดิ์และนายบุญเลี้ยงกับพวกมีพฤติการณ์ร่วมกันการกรรโชก หรือรีดเอาทรัพย์ โดยอ้างอำนาจอั้งยี่หรือซ่องโจร กับสนับสนุนหรือช่วยเหลือการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ อันเป็นความผิดมูลฐานดังที่วินิจฉัยมาแล้ว ผู้คัดค้านที่ 2 และผู้คัดค้านที่ 3 ซึ่งเป็นผู้เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้คัดค้านที่ 2 และผู้คัดค้านที่ 6 ซึ่งเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับนายบุญเลี้ยงมาก่อน ย่อมมีภาระพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าตนเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่แท้จริง และทรัพย์สินนั้นไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด หรือตนเป็นผู้รับโอนโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน หรือได้มาโดยสุจริตและตามสมควรในทางศีลธรรมอันดี ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 50 วรรคหนึ่ง และมาตรา 51 วรรคสอง ซึ่งในปัญหานี้ศาลล่างทั้งสองได้วินิจฉัยโดยให้เหตุผลแห่งคำวินิจฉัยไว้โดยละเอียดและชอบด้วยเหตุผลแล้ว ศาลฎีกาไม่จำต้องวินิจฉัยซ้ำอีก ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 และที่ 6 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ